ท่าดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ! รวมท่าพรีเซนต์งานจากนักพูดชื่อดัง
971 views | 17/11/2022
Copy link to clipboard
Apple W.
Content Creator

เชื่อว่าเมื่อเราได้ลงลึกเกี่ยวกับการพรีเซนต์งาน หลาย ๆ คนคงอยากรู้จักท่าทางที่ช่วยให้การพรีเซนต์งานดีมากยิ่งขึ้น ท่าที่ว่านี้เป็นการวางตัว เพื่อช่วยปรับบุคลิกภาพให้เป็นไปในเชิงบวก ใครที่ปกติแล้วเวลาพรีเซนต์งานทีไร บริหารท่าทาง ร่างกาย มือไม้ของตัวเองไม่ค่อยถูก วันนี้เรามีเคล็ดลับดี ๆ มาฝากกันค่ะ     



เท่าที่สังเกตมาคนที่พรีเซนต์งานเก่ง ๆ พวกเขาไม่ได้สนใจแค่การทำสไลด์ให้ดูดี พูดให้คล่องเท่านั้นนะคะ นักพูดเก่ง ๆ หลายต่อหลายคนต่างให้ความสำคัญกับ ‘Non-Verbal communication’ หรือ การสื่อสารด้วยท่าทางที่เกี่ยวข้องกับการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อสื่อความหมาย เช่น การส่ายศีรษะแสดงว่าปฏิเสธ การโบกมือแสดงถึงการทักทายหรือการบอกลา เป็นต้น เพราะพวกเขารู้ว่าการสื่อสารเพียงแค่คำพูดนั้นอาจไม่เพียงพอต่อการพรีเซนต์อะไรสักอย่างให้ผู้คนสนใจได้  


Dr. Albert Mehrabian ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ได้สรุปผลการศึกษาและทฤษฎีของเขา (Mehrabian Communication Theory) ไว้ในหนังสือชื่อ Silent Messages ตั้งแต่ปี 1971 ว่า ความเข้าใจในความหมาย อารมณ์ และความรู้สึกของผู้ฟังนั้น ร้อยละ 7 มาจากคำพูด, ร้อยละ 38 มาจากน้ำเสียง, และร้อยละ 55 มาจากภาษากายของผู้พูด หรือกฏ 7-38-55 ที่เรารู้จักกันดี  



หลายคนอาจคิดว่า มั่วหรือเปล่าเนี่ย ? ที่คนเราจะเข้าใจภาษากายได้ดีกว่าภาษาพูด เรื่องนี้ต้องย้อนกลับไปสมัยที่เรายังอยู่ตามทุ่งหญ้าสะวันนา นอนในถ้ำกับเสือกับหมี มนุษย์สื่อสารกันด้วยอวัจนภาษากันมาตั้งแต่ก่อนจะมีภาษาพูด ดังนั้นสัญชาตญาณในการทำความเข้าใจจากอวัจนภาษาได้ฝังลึกอยู่ในสมองและจิตใต้สำนึกของมนุษย์ แม้ในภายหลังเราจะพัฒนาขึ้นมาจนมีภาษาพูดก็ตาม เรายังวิเคราะห์อวัจนภาษาของมนุษย์ด้วยกันอยู่ตลอดเวลา เช่น หากเราถามเพื่อนร่วมงานที่ฟังเราพูดอยู่ว่า ‘เข้าใจหรือเปล่าครับ’ แม้เพื่อนร่วมงานจะพูดว่า ‘เข้าใจค่ะ’ ด้วยท่าทางกอดอกและยักไหล่ แน่ละว่าเราย่อมไม่เชื่อสิ่งที่เพื่อนร่วมงานพูดอย่างแน่นอน  


ดังนั้นเมื่อไหร่ที่คำพูดและอวัจนภาษาท่าทางของผู้พูดไม่สอดคล้องกัน ผู้ฟังมักจะเชื่ออวัจนภาษามากกว่าคำพูด ทำให้การมีท่าทางที่ดีระหว่างพรีเซนต์งานเป็นเรื่องที่สำคัญมาก ในขณะเดียวกัน หากท่าทาง อวัจนภาษาของเรามันผิดพลาด เราก็คงต้องออกมาจากห้องพรีเซนต์งานนั้นพร้อมความรู้สึกที่ว่า โธ่ ฉันยังไม่ได้แสดงตัวตนจริง ๆ ของฉันเลย ซึ่งน่าเสียดายมาก แต่ข่าวดีก็คือท่าท่างอวัจนภาษาเป็นเรื่องที่ฝึกได้ และนี่คือท่าทางที่ใช้ในการพรีเซนต์งานที่เหล่านักพูดชื่อดังต่างก็ใช้กัน ให้เราเลือกไปปรับใช้กับตัวเองได้ตามสะดวก 



สีหน้า (Face) 

Cr.Gatenotes


อวัจนภาษารวมถึงการแสดงออกทางสีหน้าด้วยค่ะ เพราะสีหน้าคือทุกอย่าง เวลาคนฟังเขามองเราพูด เขาก็มองที่หน้าเรา ดังนั้นการแสดงออกผ่านทุกสิ่งที่อยู่บนหน้าจึงส่งผลต่อการพรีเซนต์งานว่าจะราบรื่นหรือไม่ไล่ตั้งแต่คิ้ว ตา จมูก และปากลงไป ต้องควบคุมทุกอย่างให้ ‘Positive’ อยู่เสมอ  


  • คลายคิ้วให้ผ่อนคลาย เป็นธรรมชาติ อย่าขมวดคิ้วตลอดเวลา เดี๋ยวหน้าดุไม่รู้ตัว 
  • Jeff Bezos (ผู้ก่อตั้ง Amazon) ยกคิ้วขึ้นสูงเมื่อเปิดประเด็นสำคัญใหม่ ๆ เป็นสัญญาณให้ผู้ฟังตั้งใจฟังเขา 
  • กวาดสายตามองไปทั่วห้อง ตั้งแต่โซนหน้าไปถึงหลัง แต่อย่าจ้องใครตรง ๆ นาน ๆ  
  • ยิ้มน้อย ๆ เสมอเวลาพูด 
  • Bill Gates (ผู้ก่อตั้ง Microsoft) มักจะยิ้มกว้างเห็นไรฟันเสมอ เพื่อเปลี่ยนบรรยากาศเมื่อต้องพูดเนื้อหาที่ยากและซับซ้อนให้ Soft ลง



ท่ายืน (Posture)

Cr. Sheryl Sandberg facebook


นอกจากสีหน้าแล้ว ท่ายืน การใช้ร่างกายสื่อสารตั้งแต่คอถึงปลายเท้าก็มีส่วนสำคัญในการสื่อสารทาอวัจนภาษา ทำให้เห็นถึงบุคลิค ความพร้อม ความมั่นใจของคน ๆ นั้นได้เมื่ออยู่บนเวที ท่ายืนที่ควรเลี่ยงคือการถ่ายเทน้ำหนักเอนตัวไปทางใดทางหนึ่งมากไป หลังงอ คอตก 


  • Jeff Bezos (ผู้ก่อตั้ง Amazon) และ Sheryl Sandberg (Facebook COO) ใช้วิธีโน้มตัวไปข้างหน้าหาผู้ฟัง หรือหันตัวไปหาผู้ฟังเพื่อแสดงถึงการเปิดใจให้ผู้ฟังกลุ่มนั้น ๆ โดยไม่จำเป็นต้นเดินไปเดินมาตลอดเวลา 
  • ยืนตัวตรง หลังตรง แต่ดูสบาย ๆ ไม่เกร็ง 
  • ไม่หันหลังให้ผู้ฟังขณะพูดพรีเซนต์งานเด็ดขาด  
  • ยืนให้ปลายเท้าเสมอกัน และให้ขาทั้งสองข้างห่างกันเล็กน้อย



ท่าทาง (Gestures)

Cr. apple


ท่าท่างหมายถึงการใช้มือ การยกแขน ล้วนสำคัญต่อการพรีเซนต์งาน เรียกว่าเป็นการสื่อสารทางอวัจนภาษาที่จะช่วยให้คนฟังเข้าใจสิ่งที่เราอยากจะสื่อมากที่สุด


  • ไม่ควรเอาแขนแนบลำตัว เอามือล้วงกระเป๋าตลอดการพรีเซนต์งาน  
  • Bill Gates (ผู้ก่อตั้ง Microsoft) มักจะประคองมือทั้งสองข้างเอาไว้เหนือช่วงเอว และเก็บมือไว้ใกล้ลำตัวเมื่อพูดอธิบายสิ่งต่าง ๆ 
  • การหงายฝ่ามือออกเป็นท่าท่างที่ใช้แสดงออกถึงความเชื่อใจ ความไว้ใจ 
  • ผายมือไปยังผู้ฟังที่เราพูดถึงทั้งซ้ายและขวา สลับกันไป  
  • Tim Cook (CEO แห่ง Apple) ชอบทำมือเป็นสามเหลี่ยมหลวม ๆ ที่หน้าอก เมื่อเขาอยากเน้นสิ่งที่สำคัญที่สุด หรือกำลังพูดถึงตัวเลขสำคัญ ๆ 
  • Jeff Bezos (ผู้ก่อตั้ง Amazon) มักจะจับคางในบางช่วงเมื่อพูดถึงความคิด ขั้นตอน นั่นแสดงให้เห็นภาพความเป็น ‘นักคิด Thinker’ ในตัวเขาได้ดี 



ท่าเดิน (Personal Space)

Cr. Tony Robbins


การขยับเดินระหว่างที่พรีเซนต์เป็นการเพิ่มความน่าสนใจให้กับสิ่งที่พูดได้ ทำให้คนฟังไม่รู้สึกเบื่อ Tony Robbins ไลฟ์โค้ชชื่อดังมักจะใช้เทคนิคการเดินบนเวทีเพื่อให้ผู้ฟังสัมผัสได้ถึงความตั้งใจของเขา เขาชอบใช้พื้นที่บนเวที เดินไปมาอย่างมีพลังล้นเหลือเพื่อสื่อสารกับคนฟังว่าเขาตื่นเต้นที่จะช่วยผลักดันผู้คนให้เปลี่ยนแปลงตัวเองไปในทางที่ดีขึ้น


  • ผู้พูดควรขยับเดินระหว่างพรีเซนต์เพื่อให้คนฟังติดตามเสมือนกำลังติดตามเนื้อหา
  • เดินเป็นจังหวะ ช้า ๆ ค่อย ๆ ก้าว เพื่อบอกผู้ฟังว่าเรากำลังโฟกัสและคุมเวทีนี้อยู่
  • ช่วงที่เหมาะที่จะเดินที่สุดคือ ช่วงเปลี่ยนจากหัวข้อหนึ่งไปสู่อีกหัวข้อหนึ่ง หรือกำลังอธิบายเรื่องที่ไม่สำคัญมากนัก ส่วนเรื่องไหนที่สำคัญให้หยุดแล้วพูดจะดีกว่า
  • ระวังการเดินไปมาทางเดิม ๆ ระยะเดิม ๆ อาจทำให้คนฟังเสียสมาธิเพราะมองตามเรามากกว่าที่จะฟังเรา 
  • ผู้พูดควรขยับเดินในระยะ 0.5 เมตร, 0.7 เมตร และ 1.2 เมตร สลับกัน 





ที่มาข้อมูล

  • https://24slides.com/presentbetter/communicate-non-verbally-presentations
  • https://www.cnbc.com/2018/09/19/decoding-body-language-of-top-ted-talks-by-jeff-bezos-tony-robbins.html
  • https://www.vlearn.world/knowledge/view/605/digital-skills--9-Body-Language-Tips-For-Presentations
  • https://drpiyanan.com/2022/05/26/7-38-55-rule-of-communication-mehrabian/