TCAS รอบไหน...ใช่เรา
1636 views | 18/04/2022
Copy link to clipboard
พี่นัท นัททยา
Content Creator

ระบบ TCAS ได้รับการออกแบบมาให้สามารถใช้ได้กับน้อง ๆ ทุกคน ทุกระบบการศึกษา แต่ไม่ใช่หมายความว่า คนหนึ่งคนจะเหมาะกับทุกรอบ ดังนั้นการเลือกรอบที่ใช่ ที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความรู้ ความสามารถ และศักยภาพของเรา จึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นมาก แล้วรอบไหนล่ะที่ใช่เรา เลือกแล้วมงลง ไม่งง ไม่นก ไปลองดูกันเลย


 

รอบที่ 1 Portfolio

ที่ผ่านมาถือว่ารอบ Portfolio มีผลการตอบรับที่ดีมาก ทั้งจากน้อง ๆ ชาว TCAS และมหาวิทยาลัย เพราะได้เด็กที่มีความตั้งใจจะเข้าสาขานั้นจริง ๆ และเป็นเด็กที่มีศักยภาพสูงและผลงานโดดเด่น รอบนี้น้อง ๆ จึงต้องงัดทั้งงัด ทั้งงัด ทั้งงัดเอาของเด็ด ของดี ของเด่นของตนออกมาโชว์ เพื่อสร้างความน่าสนใจ เพิ่มมูลค่า สร้างความพึงพอใจ และนำมาสู่การตัดสินใจเลือกเราเข้าไปเป็นสมาชิกของสถาบันนั้น 

 

Portfolio เหมาะกับใคร

รอบนี้เหมาะสำหรับคนที่ “มีของ ปล่อยของ และขายของ”

“มีของ” หมายถึง มีความโดดเด่น มีความสามารถพิเศษ มีความเป็นเลิศ มีความถนัด มีความสนใจชัดเจน มีความสามารถพิเศษ มีประสบการณ์ สอดคล้องกับสาขา คณะที่อยากเข้า

“ปล่อยของ” หมายถึง มีพื้นที่แสดงความสามารถให้ประจักษ์ มีผลงานการันตีความสามารถ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่หน่วยงานต่าง ๆ จัดการแข่งขัน การประกวด จัดให้แสดงความสามารถ หรือจะเป็นการสร้างพื้นที่ปล่อยของด้วยตัวเองก็ตาม

“ขายของ” หมายถึง มีทักษะการนำเสนอผลงานที่ดี สื่อสารความรู้ความสามารถความสนใจของตนได้อย่างชัดเจน สอดคล้องตรงกันระหว่างตัวตน ความฝัน และคณะหรือสถาบันที่สนใจ ที่สำคัญคือทำให้คณะกรรมเชื่อได้ว่า คุณคือของจริง และเหมาะสมที่จะเป็นตัวจริงผ่านเข้าไปศึกษาต่อ ณ สถาบันนั้น

 

รอบที่ 2 Quota

รอบนี้เป็นรอบที่สู้กันด้วยคุณสมบัติเฉพาะตรงตามกฎเกณฑ์ เงื่อนไข ของแต่ละโครงการ / สถาบัน และมีการใช้ข้อสอบกลาง / สอบภาคปฏิบัติ / วิชาเฉพาะในบางโครงการ รวมทั้งอาจมีการใช้ GPAX หรือ Portfolio ร่วมด้วย

 

Quota เหมาะกับใคร

เหมาะกับคนเฉพาะกลุ่ม เฉพาะพื้นที่ เฉพาะคนที่มีคุณสมบัติตรงตามที่สาขา / คณะ กำหนดเท่านั้น โดยสามารถแบ่งกลุ่มคุณสมบัติได้ดังนี้

-      คุณสมบัติด้านการเรียน เหมาะกับน้อง ๆ ที่เรียนเก่ง ได้เกรดสวย แต่พ่วงด้วยคุณสมบัติอื่นเพิ่มเติม เช่น เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ เรียนดีในเขตชนบท เรียนดีในเขตเมือง หลาย ๆ โครงการในโควตากลุ่มนี้ มักจะมีทุนการศึกษาให้ ไม่ว่าจะเป็นทุนให้เปล่า ทุนแบบที่ต้องใช้ทุนคืน ทุนให้ค่าเล่าเรียนอย่างเดียว หรือให้ค่าใช้จ่ายระหว่างเรียนด้วย

-      คุณสมบัติด้านความสามารถพิเศษ เช่น โครงการความสามารถพิเศษด้านวิชาการ /โอลิมปิกวิชาการ / ความสามารถทางกีฬา / ดนตรี / ศิลปะ เหมาะกับคนที่มีความสามารถพิเศษด้านที่ตรงกับมหาวิทยาลัยกำหนด และอาจมีการใช้ข้อสอบวิชาเฉพาะหรือสอบภาคปฏิบัติเพิ่มเติม เช่น ทฤษฎีทางดนตรี เป็นต้น

-      คุณสมบัติตามภูมิลำเนา / เขตพิเศษของประเทศ โครงการเหล่านี้เน้นการกระจายโอกาสตามเขตพื้นที่ต่างจังหวัด หรือพื้นที่พิเศษ  เช่น โควตาโรงเรียนมัธยมในเขตพัฒนาภาคเหนือ, โครงการชาวไทยภูเขา, โครงการ 14 จังหวัดภาคใต้, โครงการรับตรงภาคตะวันออก 12 จังหวัด, โควตาพื้นที่เขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, พื้นที่จังหวัดชายแดนใต้

-      คุณสมบัติทางเครือญาติ เหมาะกับคนที่เกิดมาในครอบครัวที่ประกอบอาชีพตามที่สาขากำหนด  วัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนอาชีพเหล่านั้นให้มีผู้สืบทอด ไม่ให้เกิดความขาดแคลนในพื้นที่นั้น ๆ เช่น โครงการร้านยาคุณภาพ บุตรเกษตรกร ทายาทธุรกิจยางพารา

-      คุณสมบัติด้านการเป็นเครือข่าย เหมาะกับคนที่เรียนในโรงเรียนที่ได้ทำ MOU กับมหาวิทยาลัย และมีคุณสมบัติเฉพาะตรงตามที่มหาวิทยาลัยกำหนด เช่น โควตาโรงเรียน MOU ของสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง, โรงเรียนเครือข่าย 2 คณะบริหารธุรกิจและอุตสาหกรรมบริการ ของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โครงการเครือข่ายครูแนะแนว ของมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น

 

รอบที่ 3 Admission  

รอบนี้เป็นการฟาดกันด้วยคะแนนล้วน ๆ มหาวิทยาลัยส่งคณะ/สาขาต่าง ๆ เข้าร่วมแข่งขันในสนามนี้พร้อมกัน ในวันและเวลาเดียวกันทุกสถาบัน หัวใจสำคัญคือคะแนนจากข้อสอบกลาง เลือกสาขาได้หลายสาขาตามที่ ทอป.กำหนด เรียงตามความต้องการจากมากไปน้อย และฟีจเจอร์ที่เด็ดสุดของรอบนี้คือ ประมวลผล 2 ครั้ง เพื่อเพิ่มโอกาสการสอบติด และช่วยให้ติดในสาขาที่ตรงใจเพิ่มขึ้น

 

Admission เหมาะกับใคร

รอบนี้เหมาะกับคนที่มีความฟิตและคะแนนพร้อม สอบครบตามโจทย์ของแต่ละรูปแบบและสาขา เหมาะกับนักเรียนทั่วไป และนักเรียนที่สนใจโครงการ กสพท คุณสมบัติของรอบนี้เปิดกว้าง ไม่มีเงื่อนไขพิเศษอะไร เป็นการไฟว์กันด้วยคะแนนจากการสอบข้อสอบกลาง (การสอบสัมภาษณ์ไม่มีผลต่อการคัดเลือก) ใช้เกณฑ์ที่แตกต่างกันตามที่แต่ละมหาวิทยาลัยกำหนด คณะเดียวกันต่างสถาบันกัน อาจใช้เกณฑ์ไม่เหมือนกัน หรือบางทีสาขาและสถาบันเดียวกันด้วยซ้ำ แต่คนละรหัสก็ใช้เกณฑ์ต่างกัน

 

รอบที่ 4 Direct Admission  

รอบนี้เป็นรอบเก็บตก เป็นด่านสุดท้ายเพื่อคัดกรองคนเข้ามหาวิทยาลัย การรับเป็นการผสมความหลากหลาย ทั้งกฎเกณฑ์ และองค์ประกอบ แต่บอกเลยว่ารอบนี้ มีจำนวนรับน้อยที่สุด บางคณะมีแค่หลักหน่วยด้วยซ้ำ !

 

Direct Admission เหมาะกับใคร

รอบนี้เหมาะสำหรับคนที่สอบไม่ติดในรอบที่ผ่านมา ควรเป็นคนที่มีความยืดหยุ่นสูง ปรับตัวปรับใจได้ตามสถานการณ์ พร้อมจะเปลี่ยนความฝันที่ไม่สามารถเป็นจริงได้ ให้มีโอกาสลุ้นต่อในสาขาที่ยังพอหลงเหลืออยู่ และควรเป็นคนที่มีคะแนนครบทุกประเภท เพื่อให้มีทางเลือกในรอบสุดท้ายนี้ ถ้าไม่อยากเดินทางต่อใน TCAS ปีต่อไป (บางสาขาไม่ใช้คะแนนสอบ ใช้แค่ GPAX กับการสอบสัมภาษณ์ก็มี) รอบสุดท้ายนี้มีแค่บางสาขา / คณะที่เปิดรับเท่านั้น ย้ำว่าไม่ใช่ทุกสาขาจะเปิดรับครบทั้ง 4 รอบ

นอกจากนี้ สาขาในรอบนี้มีการขยับเพิ่มลดอยู่ตลอด ขึ้นอยู่กับการสรุปผลจากการรับรอบที่ผ่านมา สาขาไหนที่นั่งยังไม่เต็ม จะนำมาเติมที่นั่งในรอบนี้ หรือถ้าเต็มแล้ว จากที่ประกาศรับก็อาจจะปิดรับก็ได้ ดังนั้นน้อง ๆ ไม่ควรวางแผนมาเล่นรอบนี้เลย เพราะจะเหลือตัวเลือกไม่มาก รอบนี้จึงเป็นแค่แผนสำรองกรณีที่พลาดจากทุกรอบมาแล้ว ที่สำคัญหลายมหาวิทยาลัย หลายสาขาก็ไม่เคยมีที่นั่งเหลือตกหล่นมาให้เก็บตกในรอบนี้เลย !!  

 

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้แล้ว น้อง ๆ พอจะตอบตัวเองได้หรือยังว่า TCAS รอบไหน ใช่เรา? เหนื่อยผิดที่ ผิดทาง เหนื่อยกี่ครั้งก็ไม่ถึงฝั่งแห่งความสำเร็จ แต่ถ้าถูกที่ ถูกทาง ต่อให้เหนื่อยแค่ไหน ความสำเร็จไม่ไกลเกินไปถึง...แน่นอน !  

        

พี่นัท นัททยา