พันธุกรรม...Cloning ชีวิตที่สร้างได้ !!
1942 views | 16/11/2021
Copy link to clipboard
Hathaichanok Yimchan
Content Creator


สิ่งมีชีวิตแต่ละชนิดจะมีลักษณะทางพันธุกรรม รูปร่าง และลักษณะโครงสร้างแตกต่างกัน ทำให้สิ่งมีชีวิตมีความแตกต่างและหลากหลาย สิ่งที่มีชีวิตที่สามารถปรับตัวเพื่อความอยู่รอดในสภาพแวดล้อม ลักษณะต่าง ๆ ที่ปรับตามสภาพแวดล้อม ลักษณะของสิ่งมีชีวิตที่แตกต่างกันและสามารถถ่ายทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้เรียกว่า "ลักษณะทางพันธุกรรม” ซึ่งการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ทำให้สิ่งมีชีวิตที่เกิดขึ้นใหม่มีลักษณะแตกต่างจากกลุ่มปกติ หากสิ่งมีชีวิตแรกบนโลกไม่มีการเปลี่ยนแปลงทางพันธุกรรม ก็จะไม่เกิดวิวัฒนาการที่ทำให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตมากมายในปัจจุบัน


กระบวนการที่ทำให้ลักษณะทางพันธุกรรมเปลี่ยนแปลง เช่น กระบวนการที่มีความสัมพันธ์กับการอยู่รอดของสิ่งมีชีวิตในสภาวะแวดล้อมต่าง ๆ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมที่ทันสมัยเข้ามาประยุกต์ใช้หนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสิ่งมีชีวิตนั้นก็คือ เทคโนโลยีชีวภาพ ซึ่งเป็นการนำเอาความรู้ทางด้านต่าง ๆ ของวิทยาศาสตร์มาประยุกต์ใช้กับสิ่งมีชีวิต หรือชิ้นส่วนของสิ่งมีชีวิต หรือผลผลิตของสิ่งมีชีวิต ไม่ว่าจะเป็นทางการผลิตหรือทางกระบวนการ เพื่อใช้ประโยชน์เฉพาะอย่างตามที่ต้องการ โดยสามารถใช้ประโยชน์ทางด้านต่าง ๆ เช่น ด้านการเกษตร ด้านอาหาร ด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะด้านทางการแพทย์


และถ้าหากพูดถึงการนำเทคโนโลยีชีวภาพที่นำมาใช้กับทางการแพทย์ หรือกับมนุษย์ ก็คงเกิดคำถามว่า “เราเคยมีความรู้สึก อยากจะมี "เรา" ขึ้นมาอีกคนบนโลกใบนี้ไหม ? ” คนที่มีรูปร่าง หน้าตา เหมือนกับเรา ถ้าไม่ใช่แฝด ก็ดูเป็นเรื่องที่ไม่น่าเกิดขึ้นได้เลย แม้จะมีหนทางอย่างการ "โคลนนิ่ง" (Cloning) แต่ยังคงเป็นข้อถกเถียงกันในวงการวิทยาศาสตร์ และมีข้อกล่าวอ้างถึงประโยชน์จากการปลูกถ่ายทดแทนอวัยวะของมนุษย์ก็ตาม การโคลนนิ่งก็เกิดขึ้นมานานแล้วแต่เป็นการโคลนนิ่งกับพืช เพื่อเพิ่มจำนวนของพืชที่มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกับพืชต้นแบบทุกประการ และต่อมาก็เริ่มมีการโคลนนิ่งสัตว์ ซึ่งสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่ทำการโคลนนิ่งสำเร็จเป็นตัวแรก ก็คือ แกะ มีชื่อว่าเจ้า "ดอลลี่" เกิดเมื่อ ก.ค. ปี 2539 ซึ่งเป็นกระบวนการสืบพันธุ์โดยไม่อาศัยเพศชนิดหนึ่ง โดยสิ่งมีชีวิตที่ถูกโคลนออกมาจะมีลักษณะทางพันธุกรรม โดยรวมถึงมีลักษณะทางกายภาพเหมือนกับสิ่งมีชีวิตต้นแบบ หรือสิ่งมีชีวิตที่มีอยู่ก่อนแล้ว



ทั้งนี้การโคลนนิ่งเป็นประโยชน์ต่อการเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างมาก ในแง่การปรับปรุงพันธุ์สัตว์ช่วยให้ปรับปรุงพันธุ์ได้เร็วขึ้น ในแง่การทดลองทางวิทยาศาสตร์สามารถช่วยลดจำนวนสัตว์ที่ใช้ในการทดลองให้น้อยลง เนื่องจากสัตว์มีลักษณะทางพันธุกรรมเหมือนกันทำให้ประหยัดค่าใช้จ่าย ในการทดลองในทางการแพทย์มีความพยายามที่จะผลิตเนื้อเยื่อมนุษย์ เพื่อใช้ในการรักษาโรคต่าง ๆ  

ที่มาข้อมูล

  • บทเรียนออนไลน์วิชาวิทยาศาสตร์เรื่องการถ่ายทอดลักษณะทางพันธุกรรม|TruePlookpanya