ที่มาที่ไปของคำไทยไม่แท้
8183 views | 04/01/2022
Copy link to clipboard
Arrietty .
Content Creator

ภาษา เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อใช้สื่อสารระหว่างกัน ภาษาทุกภาษาจะต้องมีองค์ประกอบสำคัญ 4 อย่าง ได้แก่ 1) เสียง 2) พยางค์และคำ 3) ประโยค 4) ความหมาย โดยคำในภาษาไทย จะปรากฏอยู่ 2 ลักษณะ คือ คำที่เป็นคำไทยแท้ และ คำไทยไม่แท้ หรือเรียกว่าเป็น คำยืม จากภาษาต่างประเทศที่เข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทย


1.คำไทยแท้ คือ คำในภาษาไทยที่ใช้กันมาตั้งแต่ดั้งเดิม


จะมีลักษณะที่สังเกตได้ เช่น

  - เป็นภาษาคำโดดหรือคำพยางค์เดียว เช่น พ่อ แม่ พี่ น้อง ปู่ ย่า ตาย ยาย กุ้ง หอย ปู ปลา เป็นต้น

  - คำที่มีหลายพยางค์ เช่น ประชิด กระทำ กระดุม กระโจน ประเดี๋ยว มะม่วง มะพร้าว ตะไคร้ นกกระจอก ลูกกระเดือก ตะวัน สะดือ สะเอว ฯลฯ คำไทยแท้เหล่านี้เกิดจากการเติมคำหน้า กร่อนคำ กลายเสียง

  - มีตัวสะกดตรงมาตรา เช่น กัด สั้น เจ็บ ตัก สาว ขาย 

  - ไม่มีตัวการันต์ เช่น แจ้ง นา มด แมว ต้น ไม้

  - มีรูปและเสียงวรรณยุกต์ เต้น น้ำ เดี๋ยว ฉวย ตก

  - ไม่มีตัวอักษร ฆ ฌ ญ ฎ ฏ ฐ ฑ ฒ ณ ธ ภ ศ ษ ฬ ยกเว้นคำไทยแท้บางคำ เช่น เธอ เฆี่ยน ฆ่า หญิง ฆ้อง ระฆัง ศึก ใหญ่ ณ ศอก อำเภอ ธ



  - ภาษาไทยมีหางเสียง แสดงความสุภาพ เช่น คะ ค่ะ ครับ หลายคนสะกด คําไทย เขียนผิด กันอย่างน่าเป็นห่วง เช่น นะคะ เขียนผิดเป็น นะค่ะ ออกเสียง ค่ะ เขียนเป็น คะ ออกเสียง คะ เขียนเป็น ค่ะ 

  - คะ ใช้ในประโยคคำถาม เช่น อยู่ไหนคะ ของคุณเหรอคะ 

  - ค่ะ ใช้ในประโยคบอกเล่าหรือตอบรับ เช่น ค่ะ อยู่ที่บ้านค่ะ ของฉันค่ะ ไม่ใช่ค่ะ 

  - นะคะ ใช้พูดเวลาบอกเล่า หรือคำสั่ง เช่น อยู่เฉย ๆ นะคะ ของฉันนะคะ 

  - น่ะค่ะ ใช้พูดเวลากล่าวซ้ำ ย้ำ หรือทวนคำ เช่น “อ๋อ!หนังสือเล่มนั้นน่ะค่ะ มันหายไป”


2. คำไทยไม่แท้ หรือเรียกอีกอย่างว่า คำยืม หรือคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ


  2.1 ที่มาของคำยืม

ธรรมชาติของมนุษย์ย่อมมีการติดต่อสัมพันธ์กันไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง ทำให้มีการแลกเปลี่ยนผสมผสานกันของภาษาและวัฒนธรรม สำหรับคำภาษาต่างประเทศในภาษาไทยหรือที่เรียกว่าคำยืมนั้น มีสาเหตุหลายประการดังนี้


  1) ความสัมพันธ์กันทางทางภูมิศาสตร์ 

ประเทศหรือชนชาติที่มีอาณาเขตติดต่อกันย่อมมีการปะปนกันของภาษา เนื่องจากความใกล้ชิด ติดต่อค้าขายหรืออาจเกี่ยวดองเป็นญาติไปมาหาสู่กัน


  2) ความสัมพันธ์กันทางด้านประวัติศาสตร์ 

ประเทศที่มีความเกี่ยวข้องทางประวัติศาสตร์ เช่น คู่สงคราม การอพยพย้ายถิ่น หรือการกวาดต้อนชนชาติที่เป็นเชลยเข้ามาตั้งรกรากในประเทศไทย ตลอดจนการล่าอาณานิคมของชาติตะวันตก หรือการรับคนจากต่างประเทศเข้ามาตั้งถิ่นฐานและรับราชการในประเทศไทย ล้วนเป็นสาเหตุให้มีการนำภาษาต่างประเทศเข้ามาใช้ร่วมกันกับภาษาไทยด้วยเช่นกัน 


  3) ความสัมพันธ์กันทางด้านการค้า

จากหลักฐานทางด้านประวัติศาสตร์ ประเทศไทยมีการติดต่อค้าขาย แลกเปลี่ยนสินค้ากับต่างประเทศมาเป็นช้านานจนถึงปัจจุบัน ในอดีตได้แก่ประเทศ จีน โปรตุเกส ฝรั่งเศส อังกฤษ ฮอลันดา และญี่ปุ่น ยิ่งปัจจุบันการค้าระหว่างประเทศมีความสำคัญกับระบบเศรษฐกิจ มีประเทศคู่ค้าเพิ่มเข้ามาอีกหลายประเทศ การใช้ภาษาต่างประเทศในวงการธุรกิจ ทำให้ภาษาไทยมีภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนได้ไม่สิ้นสุด




  4) วรรณกรรม วรรณคดี 

ไทยรับวรรณคดีเรื่อง รามายณะหรือรามเกียรติ์มาจากอินเดียซึ่งใช้ภาษาบาลี สันกฤต และรับวรรณคดีเรื่องดาหลังหรืออิเหนามาจากชวา ภาษาบาลี สันสกฤตและภาษาชวาจึงเข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก


  5) ความสัมพันธ์ทางด้านศาสนา วัฒนธรรมและประเพณี 

ไทยรับศาสนาพุทธและพิธีกรรมของศาสนาพราหมณ์-ฮินดูเข้ามาโดยผ่านขอมหรือเขมร พร้อมกับคติยกย่องกษัตริย์ว่าเป็นสมมติเทพ ทำให้ภาษาบาลี-สันสกฤตและภาษาเขมรมีอิทธิพลต่อคนไทยเป็นอย่างสูง ทั้งรูปคำและวิธีการสร้างคำ โดยนำมาใช้เป็นคำราชาศัพท์ คำสุภาพ คำในบทประพันธ์ ศัพท์วิชาการสาขาต่าง ๆ ตลอดจนถึงการตั้งชื่อบุคคลหรืออาคารสถานที่ต่าง ๆ ล้วนนิยมตั้งชื่อเป็นภาษาบาลี-สันสกฤต


  6) ความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีตลอดจนการศึกษาวิชาการต่าง ๆ จากประเทศที่เจริญแล้ว 

การแลกเปลี่ยนความรู้จากนานาชาติ ทำให้ภาษาไทยมีภาษาต่างประเทศเหล่านี้เข้ามาปะปนมากมาย เช่น ภาษาอังกฤษที่เข้ามาพร้อมกับความเจริญด้านวิทยาการ เครื่องมือเครื่องใช้และวัฒนธรรมตะวันตกที่แพร่หลายไปทั่วโลก 


  7) การศึกษาภาษาต่างประเทศโดยตรง

การศึกษาภาษาต่างประเทศเพื่อใช้ในการสื่อสารก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษาต่างประเทศเข้ามาปะปนในภาษาไทยเป็นจำนวนมาก เช่น ภาษาอังกฤษ ภาษาจีน ภาษาเกาหลี และภาษาอื่น ๆ


  8) ความสัมพันธ์ส่วนตัวกับคนต่างชาติ

ปัจจุบันมีคนไทยจำนวนไม่น้อยที่คบหาสมาคมหรือสมรสกับคนต่างชาติ ทำให้มีการใช้ภาษาสลับกันไปมาหรือที่เรียกว่าการทับศัพท์ เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ภาษาต่างประเทศเข้ามา ปะปนอยู่ในภาษาไทยเพิ่มมากขึ้น


  9) ความสัมพันธ์ทางการทูต

การเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศต่าง ๆ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทำให้มีการใช้ภาษาต่าง ๆ สื่อสารกันจนเกิดการปะปนกันของภาษาต่าง ๆ เหล่านั้นในภาษาไทยด้วย


2.2 คำยืม ในภาษาไทย หรือ คำไทยไม่แท้ มีหลายภาษาดังต่อไปนี้

 1) ภาษาบาลี-สันสกฤต นับเป็นภาษาต่างประเทศหรือคำยืมที่มีอิทธิพลและเข้ามาปะปนอยู่ในภาษาไทยมากที่สุดและเป็นระยะเวลาอันยาวนานเท่ากับอายุของประเทศไทยเลยทีเดียว มีหลักฐานจากภาษาบาลี-สันสกฤตที่ปรากฏอยู่ในวรรณคดีไทยตั้งแต่ยุคสุโขทัยซึ่งเป็นยุคแรกของประวัติศาสตร์ชาติไทย นอกจากนั้นยังปรากฏอยู่ในคำราชาศัพท์ คำสุภาพ คำนามเฉพาะคำนามทั่วไป และคำอื่น ๆ อีกมาก




การสังเกต คำยืม ภาษาบาลี-สันสกฤต




  2) ภาษาเขมร คำที่ยืมมาจากภาษาเขมรในภาษาไทยจะนำมาใช้เป็นคำราชาศัพท์ คำในวรรณคดี และคำสามัญทั่วไป เช่น เสวย ดำเนิน เสด็จ ถวาย ทูล สรง ขนง เขนย ผกา ขจร ฉงน แผนก สงัด บรรทม ตรัส พนม ขจี ถนน เป็นต้น

  การสังเกตคำที่ยืมจากภาษาเขมร 

  1. มักเป็นคำโดด หรือคำพยางค์เดียว เช่น ขลาด เดิน เกิด เรียบ เพลิง

  2. ตัวสะกด มักใช้ ล ญ ช จ เช่น เมิล(ดู) ผลาญ ลาญ บวช เสร็จ เสด็จ ตำรวจ ตวจระมวล (ตวด-จอ-ระ-มวล =ชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสุรินทร์)

  3. ไม่มีรูปวรรณยุกต์ เช่น ราบ กาจ ดุจ ควร จาร

  4. เป็นคำแผลง (การสร้างคำใหม่ด้วยการเติมหน่วยคำหน้าและหน่วยคำเติมกลาง) เช่น บำราบ บำเพ็ญ สำเร็จ บังอร บันดาล กังวล



  3) ภาษาอังกฤษ ในอดีต ชาติตะวันตกโดยเฉพาะอังกฤษเข้ามาฝั่งเอเชียด้วยเหตุผลการล่าอาณานิคม อังกฤษมีอำนาจเหนือดินแดนแหลมมลายู มะละกาและสิงคโปร์ และเข้ามาเจรจาทางการค้ากับไทยในสมัย ร.3 จากนั้นมาไทยเริ่มเปิดรับวัฒนธรรมตะวันตก ตลอดจนวิทยาการและเทคโนโลยีต่าง ๆ อีกทั้งได้บรรจุวิชาภาษาอังกฤษเข้าไว้ในหลักสูตรการเรียนการสอนของประเทศไทยด้วย

  ปัจจุบัน ภาษาอังกฤษหลายคำกลายเป็นคำทับศัพท์ที่คนไทยใช้สื่อสารกัน และมีการนำคำศัพท์ภาษาอังกฤษ ไปใช้ในแวดวงวิชาการสาขาต่าง ๆ แทบทุกสาขา

  การสังเกตคำที่ยืมจากภาษาอังกฤษ

  1. เป็นคำหลายพยางค์ เช่น คอมพิวเตอร์ ไวโอลิน เทคโนโลยี ไมโครเวฟ มอเตอร์ไซค์ ฮีโมโกลบิน 

  2. พยัญชนะบางเสียงไม่มีในระบบเสียงภาษาไทย เช่น เทรนด์ บล็อก เบรก ดราฟต์ ฟรี ฟลอยด์ บางคำมีเสียงพยัญชนะท้ายที่ไม่มีในระบบเสียงภาษาไทย เช่น กอล์ฟ ปรู๊ฟ ฟุตบอล โฟกัส 

  3. ใช้ตัวการันต์กับพยัญชนะที่ไม่ออกเสียง เช่น ปาล์ม รีสอร์ท คอนเสิร์ต มอเตอร์ และเสียงพยัญชนะท้าย (ตัวสะกด) เช่น คอนเทนต์ คัตเตอร์ เทคแคร์ ออนไลน์ ไลก์ เซลล์ เวิลด์ ฯลฯ

 

  4) ภาษาจีน เนื่องจากไทยกับจีนมีความเกี่ยวข้องกันมาเป็นเวลาช้านานทั้งการอพยพของคนจีนเข้ามาในเมืองไทยและการติดต่อค้าขาย คำยืมภาษาจีนจึงมีมากมายโดยเฉพาะคำที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน

  

การสังเกตคำที่ยืมจากภาษาจีน ส่วนใหญ่มีรูปหรือเสียงวรรณยุกต์โท ตรีหรือจัตวา เช่น ก๋วยเตี๋ยว ก๋วยจั๊บ เจ๊ ก๊ก เก๋ง เจ๋ง เจ๊ง ตั๋ว อั๊วะ เปี๊ยะ เกี๊ยะ เก้าอี้ โต๊ะ ม่วย ม้า ป๊า อาตี๋ อาอึ้ม บ๊วย ซ้อ ซีอิ๊ว เต้าทึง ฯลฯ



  4) ภาษาชวา-มลายู ส่วนใหญ่เป็นคำที่มาจากวรรณคดีเรื่อง ดาหลังหรืออิเหนาซึ่งเป็นวรรณคดีของชวา นอกจากนั้นไทยยังมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย เป็นเหตุให้มีการหยิบยืมภาษามาใช้กัน

  การสังเกตคำที่ยืมจากภาษาชวา-มลายู 

  1. เป็นคำสองพยางค์ เช่น กะพง กะปะ โลมา กำยาน กุดัง

  2. ส่วนใหญ่ไม่มีรูปวรรณยุกต์ เช่น ตุนาหงัน บุหงารำไป บูดู กระยาหงัน ยาหยา รองเง็ง ยกเว้น ยี่เก บาบ๋า ปาเต๊ะ

  3. ชื่อพืช-สัตว์ เช่น ปาหนัน กระดังงา สาคู ทุเรียน มังคุด น้อยหน่า อุรังอุตัง 

 

การศึกษาเรียนรู้คำไทยแท้และ คำไทยไม่แท้ คำยืมหรือคำที่มาจากภาษาต่างประเทศ จะทำให้เราสามารถเขียนหรืออ่านคำได้อย่างถูกต้อง โดยเฉพาะ คําไทย เขียนผิด กันมากเพราะคนไทยละเลย ไม่เห็นความสำคัญ ไม่พยายามเรียนรู้จดจำ ทำให้ภาษาไทยผิดเพี้ยน กลายคำ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อบุคลิกและความน่าเชื่อถือของผู้ใช้ภาษา และทำให้ประสิทธิภาพการสื่อสารลดลงได้

ที่มาข้อมูล

  • https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/34948
  • http://oknation.nationtv.tv/blog/Duplex/2009/03/26/entry-2