รับฟังอย่างไม่ตัดสิน บทเรียนแรกเริ่มเมื่อลูกวัยรุ่น
1673 views | 16/12/2021
Copy link to clipboard
Hathaichanok Yimchan
Content Creator


วัยรุ่น เป็นวัยที่กำลังพัฒนาตัวเองจากวัยเด็กสู่วัยผู้ใหญ่ ซึ่งอยู่ในช่วงอายุ 11 – 21 ปี เป็นวัยที่กำลังเปลี่ยนแปลงจากความเป็นเด็กที่ต้องพึ่งพาอาศัยพ่อแม่ไปเป็นผู้ใหญ่ที่ต้องเริ่มรับผิดชอบตัวเอง เป็นวัยที่กำลังสร้างเอกลักษณ์ของตนตามทัศนคติ และค่านิยมแห่งชีวิตของตน ซึ่งการสร้างเอกลักษณ์ตัวตนของตนนี้ คือ การมองเห็นตนเอง การเรียนรู้และยอมรับในความสามารถของตน พร้อมต้องการการสนับสนุนยอมรับจากสังคม ถ้าพ่อแม่เพื่อนฝูงยอมรับพวกเขาอย่างที่เขาเป็น เด็กก็จะเกิดความมั่นใจในตัวเอง แต่ถ้าหากพวกเขาถูกปฏิเสธหรือเข้าร่วมกลุ่มไม่ได้ ก็จะทำให้เกิดความสงสัยไม่มั่นใจในตนเอง และมีความเชื่อว่าตนเองจะไม่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่นอีกต่อไป


ความต้องการขั้นพื้นฐานของลูกวัยนี้

วัยนี้จะเป็นช่วงเวลาที่เด็กเริ่มออกห่างจากพ่อแม่ ให้ความสำคัญกับมิตรภาพเพื่อนฝูงเป็นที่สุด พวกเขาต้องการได้รับการยอมรับ อยากมีทุกอย่างเหมือนกับเพื่อนกลุ่มเดียวกัน ต้องการเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่ม ต้องการให้เพื่อนรู้สึกประทับใจในพฤติกรรมของตน ถ้าหากผู้ใหญ่ไม่เข้าใจ ไม่ยอมรับในสิ่งที่เขาเป็น ปฏิเสธในพฤติกรรมของเขา บอกกล่าวชี้แนะ ตำหนิ ห้ามปราม พวกเขาจะรู้สึกหงุดหงิด เกิดความคับข้องใจ มีความสงสัยขัดแย้งในตนเอง เกิดอารมณ์ไม่มั่นคง จนอยากแยกตัวออกจากบ้านหรือเก็บตัวอยู่แต่ในห้อง ดังนั้น บทเรียนข้อที่1 ในการเลี้ยงดูลูกวัยนี้ของพ่อแม่ คือ การให้การยอมรับลูกอย่างไม่มีเงื่อนไขผ่าน “การฟังรับอย่างไม่ตัดสิน”


การรับฟังอย่างไม่ตัดสิน คืออะไร

เป็นการฟังสิ่งที่เกิดขึ้นในปัจจุบันตรงหน้าและใส่ใจในผู้พูดอย่างแท้จริง เป็นการฟังโดยปราศจากการตัดสินถูกผิด ฟังให้ลึกกว่าคำพูดที่ได้ยิน ได้ยินในสิ่งที่ผู้พูดไม่ได้พูดออกมา ฟังสัญญาณที่ผู้พูดต้องการสื่อผ่านทางภาษากาย ความรู้สึก น้ำเสียง และสีตาแววตา



การฟังอย่างไม่ตัดสิน มีประโยชน์กับลูกอย่างไร

ใน การ สื่อสาร กับลูกวัยรุ่น พ่อแม่ควรเปลี่ยนบทบาทจากผู้พูด ผู้อบรมสั่งสอนมาเป็นผู้ฟังที่ดี เพราะอย่างที่กล่าวมา เด็กในวัยนี้เป็นวัยที่กำลังสร้างเอกลักษณ์เฉพาะตน โดยต้องการการสนับสนุนและยอมรับจากพ่อแม่ เพื่อนฝูง และบุคคลในสังคม ดังนั้น การรับฟังอย่างไม่ตัดสินของพ่อแม่ เป็นการแสดงให้ลูกเห็นถึงการยอมรับ การไม่ปฏิเสธและเคารพในความเป็นตัวตนของเขา และยังมีประโยชน์ทั้งแก่ลูกและพ่อแม่ในอีกหลายด้าน ดังนี้


  • เป็นการสนับสนุนให้ลูกรู้จักตนเอง การฟังอย่างไม่ตัดสิน และวางใจเป็นกลางตามความจริง ปราศจากอคติและความลำเอียง เปรียบเหมือนกระจกเงาสะท้อนให้ลูกได้เห็นตนเองในแง่มุมต่าง ๆ ทั้งจุดอ่อน จุดแข็ง ข้อดี ข้อด้อย ช่วยให้ลูกเข้าใจในตนเองมากขึ้น (Self-awareness) ได้มองเห็นภาพของตัวเองรอบด้าน

 

  • เปิดโอกาสและให้อิสระแก่ลูก การเปิดโอกาสให้ลูกได้เล่าความคิด ความรู้สึก และสิ่งที่พบเจอในแต่ละวันอย่างอิสระ แล้วคอยให้การสนับสนุนในทุกสิ่งที่ลูกเลือก จะช่วยให้ลูกรู้สึกมีความสุข เป็นอิสระและเกิดความมั่นใจในตนเอง นอกจากนี้ การได้ฟังลูกเล่าสิ่งต่าง ๆ ทุกวัน จะช่วยให้พ่อแม่ได้รู้พฤติกรรมของลูกในการแต่ละวัน ได้รู้จักเพื่อนและสังคมของลูก ได้เฝ้าสังเกตการณ์ และพร้อมให้การช่วยเหลือลูกทันที หากพบเห็นสัญญาณอันตรายบางอย่าง 


  • เป็นการให้เกียรติและเคารพในตัวลูก การที่พ่อแม่ฟังอย่างไม่ตัดสินผิดถูก ให้ลูกได้เล่าแสดงออกทางความรู้สึกและความคิดอย่างอิสระ เป็นการแสดงออกถึงการยอมรับ การเคารพและให้เกียรติในตัวลูก เป็นการบอกกล่าวให้แก่ลูกรู้ว่า พ่อแม่ลูกสามารถพูดคุยกันได้ทุกเรื่อง ทุกคนได้รับการเคารพเท่าเทียมกันในความเป็นมนุษย์


  • ลูกรับรู้ถึงความเชื่อมั่นและไว้วางใจจากพ่อแม่ การฟังโดยไม่ตัดสิน เป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้เผชิญกับบทเรียนชีวิตและรับผิดชอบในทางเลือกของตน ทำให้ลูกได้รับรู้ถึงความเชื่อมั่นที่พ่อแม่มีต่อพวกเขา ได้รับความรู้สึกปลอดภัยว่าพ่อแม่พร้อมจะอยู่เคียงข้าง สนับสนุนในทุกการตัดสินใจของพวกเขา


  • เป็นช่วงเวลาคุณภาพร่วมกัน การเปิดโอกาสให้ลูกได้พูดโดยมีพ่อแม่เป็นผู้ฟังอย่างใส่ใจ เป็นช่วงเวลาในการสร้างสายใยแห่งรักที่เหนียวแน่นในครอบครัว และเป็นการบอกให้ลูกได้รู้ว่า ครอบครัวคือพื้นที่ที่ปลอดภัยที่เขาสามารถมาพักพิงได้ทุกเมื่อ


  • แสดงออกถึงการยอมรับในตัวตนของลูก ในทุกหนทางที่ลูกเลือก บางครั้งอาจจะขัดใจพ่อแม่บ้าง แต่หากพ่อแม่ยอมรับ วางใจ อยู่เคียงข้างและคอยสนับสนุนในสิ่งที่ลูกเลือก ก็จะช่วยให้ลูกมีความเชื่อมั่นใจตนเอง กล้าตัดสินใจและพร้อมรับผิดชอบในการเลือกของตน



เทคนิค การฟังอย่างไม่ตัดสิน บทเรียนข้อที่1 ที่พ่อแม่จำเป็นต้องฝึกฝน

การฟังอย่างไม่ตัดสิน เป็นทักษะสำคัญที่พ่อแม่ความเรียนรู้และฝึกฝนเพื่อใช้ใน การ สื่อสาร กับลูกวัยรุ่น โดยมีเทคนิค ดังนี้ต่อนี้


  • วางความคิดของตนลง และเปิดใจรับรู้

พ่อแม่ควรวางความคิด ทัศนคติ ข้อคิดเห็นต่าง ๆ ของตนลงก่อน และเปิดใจรับฟังสิ่งใหม่ ๆ จากลูกที่กำลังพูดอยู่ตรงหน้า เปิดประสาทสัมผัสทุกส่วนของร่างกาย ให้ใจได้รับรู้ หูได้ฟัง ตาได้เห็น กายได้ สัมผัส เพื่อรับสัญญาณต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นแม้ลูกจะไม่ได้พูดออกมา


  • ตั้งใจฟัง “สัญญาณ” ที่ไม่ใช่คำพูด

บางครั้งคนเราอาจพูดในสิ่งที่ไม่ตรงกับใจ คิดอย่างไร รู้สึกอย่างไรก็ไม่ได้พูดออกมาตรง ๆ พ่อแม่ควรหันหน้า สบตา ฟังลูกอย่างใส่ใจ เพื่อให้เข้าใจในสิ่งที่ลูกกำลังสื่อแม้จะไม่ได้พูดออกมาก็ตาม พ่อแม่ สามารถรับสัญญาณเหล่านั้นของลูก โดยการสังเกตจาก

  • สายตาและแววตาที่สะท้อนความรู้สึก 
  • ภาษากายต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นขณะที่ลูกกำลังพูด เช่น กัดเล็บ เขย่าขา ก้มหน้า
  • น้ำเสียง ที่สะท้อนถึงอารมณ์ความรู้สึก เช่น พูดด้วยน้ำเสียงประชดประชัน แม้เนื้อหาที่พูดอาจจะเป็นไปในอีกทิศทางหนึ่ง
  • เนื้อหาที่ลูกพูด เกี่ยวข้องกันอะไร ต้องการที่จะสื่ออะไร ลูกพูดเนื้อหาวกวนที่แสดงออกถึงความกังวลอะไรบางอย่างหรือไม่
  • สีหน้าที่แสดงออกมา จากการยิ้ม ขมวดคิ้ว ก้มหน้า ไม่สบตา ซึ่งสะท้อนความรู้สึกบางอย่างของลูกได้


  • ไม่พูดแทรกขัดจังหวะ 

ปล่อยให้ลูกพูดโดยไม่ตั้งคำถามขัดจังหวะ ไม่พูดแทรกหรือพูดต่อท้ายทันทีที่ลูกพูดจบ พ่อแม่สามารถแสดงการตอบรับด้วยการพยักหน้า หรือพูดตอบรับสั้น ๆ ที่แสดงว่ากำลังตั้งใจฟังอยู่ การพูดว่า “อ๋อ อย่างนั้นหรอ” เป็นต้น


  • หยุดแสดงความคิดเห็น 

หลายครั้งในขณะที่เรากำลังฟัง ในหัวของเราก็มักทำงานคิดหาคำโต้ตอบ มีความคิดเห็น หรือคำค้านต่าง ๆ ที่อยากจะพูดแทรกหรือตอบกลับทันทีที่ลูกหยุดพูด ในทางที่ถูกต้องแล้ว พ่อแม่ควรปล่อยให้มีช่วงเวลาของความเงียบบ้าง เมื่อลูกหยุดพูด ให้มองหน้าลูกแล้วยิ้มเพื่อรอให้ลูกพูดต่อ บางครั้งความเงียบเป็นช่วงเวลาที่ให้ลูกได้คิดทบทวน ไตร่ตรอง จัดการกับความรู้สึกของตนเอง ทำความเข้าใจในตนเอง และยังเป็นการเปิดโอกาสให้ลูกได้มีเวลาคิดตั้งคำถามกับพ่อแม่เพื่อขอความคิดเห็น


  • ตั้งคำถาม ชวนลูกหาคำตอบให้ตนเอง

บางครั้งลูกอาจถามวิธีการแก้ปัญหาจากพ่อแม่ พ่อแม่ไม่ควรแนะวิธีการแก้ปัญหาให้ลูกทันที แต่พ่อแม่ลองชวนลูกหาคำตอบ โดยการตั้งคำถามปลายเปิดในเชิงสร้างสรรค์ เพื่อเปิดโอกาสให้ลูกได้มองเห็นตัวเอง เข้าใจตนเองตามความเป็นจริง และค้นหาคำตอบด้วยตนเอง เช่น “ลูกคิดว่ามีวิธีไหนบ้างที่จะทำให้ลูกรู้สึกดีขึ้น” “ลูกว่าเราจะช่วยแก้ปัญหานี้ด้วยกันได้อย่างไร” “ลูกคิดว่าการทำแบบนี้มีผลดีและผลเสียต่อลูกอย่างไร” เป็นต้น เพราะตามทฤษฎีการให้การปรึกษา เชื่อว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการค้นหาคำตอบและวิธีการแก้ปัญหาที่เหมาะสมที่สุดได้ด้วยตัวเอง มนุษย์ทุกคนสามารถนำทางและชี้แนะหนทางเดินให้แก่ตนเองได้โดยการตั้งคำตอบที่มีคุณภาพและหาคำตอบจากภายในของตนเอง ดังนั้น วิธีการแก้ปัญหาที่พ่อแม่แนะนำแก่ลูกอาจจะเป็นวิธีที่ไม่เหมาะกับตัวลูก แถมยังเป็นการปิดกั้นโอกาสของลูกในการฝึกฝนค้นหาแนวทางการแก้ปัญหาด้วยตนเอง พ่อแม่ควรเป็นผู้ให้การปรึกษา เป็นผู้ร่วมเดินทาง ชวนกันหาหนทางที่เหมาะสมในหลาย ๆ ด้าน โดยให้ลูกเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการเลือกหนทางของตนเอง


ความเคารพในการตัดสินใจของลูกผ่าน “การฟังโดยไม่ตัดสิน” มีประโยชน์หลาย ๆ ด้านทั้งแก่ตัวลูกและพ่อแม่ เนื่องด้วย วัยรุ่น เป็นวัยที่มีการเปลี่ยนแปลงทั้งร่างกายและจิตใจแบบก้าวกระโดด เป็นช่วงรอยต่อระหว่างวัยเด็กกับวัยผู้ใหญ่ ซึ่งอาจสร้างความรู้สึกสับสน ความไม่เข้าใจในตนเอง และอารมณ์ไม่มั่นคงให้แก่ตัวลูก พ่อแม่ควรทำความเข้าใจในการเปลี่ยนแปลงของเด็กวัยนี้ พร้อมเปิดโอกาสและยอมรับให้ลูกได้เป็นตัวของตัวเอง เติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่มีคุณภาพ

ที่มาข้อมูล

  • https://www.smpkhos.go.th/news/P64041990.pdf
  • https://new.camri.go.th/Knowledge/บทความ/สอนลูกวัยรุ่น
  • https://www.starfishlabz.com/blog/287-แค่-ฟ-ง-อย่างเข้าใจ-ก็ช่วยลูกได้ทุกเรื่อง
  • https://aboutmom.co/features/listentounderstandyourchild/7982/
  • https://www.starfishlabz.com/blog/289-สานสัมพันธ์กับลูกด้วยการฟังแบบ-active-listening
  • https://www.thaipbskids.com/contents/5f2a75edcbc355f0363d68ad
  • https://med.mahidol.ac.th/ramamental/generaldoctor/06062014-0847
  • https://happiful.com/how-to-listen-without-judgement/
  • https://teentherapyoc.com/can-you-listen-without-judgment/
  • https://parentandteen.com/keep-teens-talking-learn-to-listen/