Social Psychology คืออะไร
2834 views | 16/12/2021
Copy link to clipboard
Hathaichanok Yimchan
Content Creator

      หนึ่งในคำจำกัดความของคำว่า Social Psychology คือ จิตวิทยาสังคมที่มีอิทธิพลต่อคนเราในการแสดงพฤติกรรมต่าง ๆ ในกลุ่มชน และสังคมที่อาศัยอยู่ ตลอดจนความคิด ความรู้สึกที่มีให้กันและกัน ทั้งทางตรงและทางอ้อม เพราะชีวิตของคนเรานั้นมีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับบุคคลอื่น ตลอดจนต้องสร้าง สัมพันธภาพระหว่างบุคคล อยู่เสมอ ซึ่งพฤติกรรมเช่นนี้มีอิทธิพลอย่างมากต่อความรู้สึก ค่านิยม ความคิด และอุดมคติของคนเรา เนื่องจากสิ่งแวดล้อมทางสังคมสามารถทำให้เกิดการโน้มน้าว ชักชวน การร่วมมือหรือการแข่งขันระหว่างบุคคลได้เป็นอย่างดี


      หากกล่าวตามทฤษฎีเกี่ยวกับจิตวิทยาแล้ว การแสดงพฤติกรรม ความรู้สึก และความคิดของคนเราที่เกิดขึ้นทั้งจากความตั้งใจและไม่ตั้งใจ ล้วนเป็นผลจากจิตวิทยาแขนงหนึ่งที่เราแสดงออกต่อกันและกันตั้งแต่ตอนตื่นนอนจนถึงเข้านอน ด้วยเหตุนี้พฤติกรรมทางสังคมจึงมีอิทธิพลอย่างมากต่อการเปลี่ยนแปลงของคนเราไปในทางใดทางหนึ่ง ซึ่งจะแปรผันตามรูปแบบสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราอาศัยอยู่เสมอ ยกตัวอย่างเช่น หากเราอยู่ในสังคมที่ชื่นชอบการทานขนมเค้ก ในระยะเวลา 1 - 2 เดือน แม้แรกเริ่มเราจะไม่ชื่นชอบขนมเค้ก สังคมก็สามารถเปลี่ยนให้เรากลายเป็นหนึ่งในคนที่ชื่นชอบการทานขนมเค้กได้ หรือ การแต่งกายของเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามลักษณะ สิ่งแวดล้อมและบุคคลหรือกลุ่มสังคมที่เราคลุกคลีอยู่ด้วย

     ด้วยเหตุนี้จิตวิทยาทางสังคม จึงเปรียบเสมือนภาพสะท้อนระหว่างบุคลิก ท่าทาง การกระทำ รวมถึงการแสดงออกของคนรอบตัวเราที่ตอบสนองต่อกันและกันในสังคม ตลอดจนการกระทำของเราที่จะส่งผลกระทบต่อคนรอบข้างด้วย แม้จะดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่นี่คือสิ่งที่ทำให้คนเราเกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นตัวเราเองหรือคนรอบข้าง 

     นักจิตวิทยาสังคมจึงได้เริ่มศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องของความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับตัวเรา ว่าส่งผลเชื่อมโยงกับคนรอบข้างได้อย่างไร, เกิดการโน้มน้าวขึ้นได้อย่างไร, อำนาจในการตัดสินใจเกี่ยวข้องกับผู้อื่นถึงเรื่องของความชอบ / ไม่ชอบ ในสิ่งต่าง ๆ ได้อย่างไร, ตลอดจนการตัดสินใจช่วยเหลือซึ่งกันและกันเพื่อทำบางสิ่งบางอย่าง และเหตุผลของพฤติกรรมก้าวร้าว อันก่อให้เกิดความขัดแย้งในกลุ่มชนทั้งเรื่องเล็กไปจนถึงเรื่องใหญ่นั้นเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องได้อย่างไร ซึ่งทฤษฎีจิตวิทยา สามารถแบ่งประเภทของพฤติกรรมทางสังคมที่เกิดขึ้นได้ดังนี้


1.ทฤษฎีความคิดเกี่ยวกับผู้อื่น



     ภายใต้สังคมที่กว้างใหญ่รายล้อมไปด้วยผู้คนมากมาย มักเกิดการตัดสินผู้อื่นจากการพบเจอเพียงแรกเห็น หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ความประทับใจแรกพบ อันนำมาซึ่งความคิด ความรู้สึก และข้อสรุปของอุปนิสัยต่าง ๆ ณ วินาทีแรกนั้น ด้วยเหตุนี้คนเราจึงสามารถสร้างความลำเอียงในการตัดสินคนหนึ่งคนได้หลากหลายรูปแบบ อีกทั้งในแง่ดียังเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่ช่วยประเมินบุคคลในสถานการณ์ต่าง ๆ ได้เช่นกัน เรื่องที่น่าสนใจก็คือ ภาพลักษณ์ที่ไม่ดีของคนคนหนึ่งนั้นมีอำนาจต่อความรู้สึกของอีกฝ่ายได้มากกว่าคนที่แสดงภาพลักษณ์ที่ดี ด้วยเหตุนี้เหตุการณ์ที่ทำให้คนเรานั้น ดีใจ เสียใจ สมหวัง ผิดหวัง ตัดสินว่าอะไรดี ไม่ดี สิ่งใดสมควร ไม่สมควร สิ่งใดน่าซื้อ หรือไม่น่าซื้อได้ที่สุด ก็คือความคิดจากการพบเจอตั้งแต่แรกเห็นที่สร้างให้เกิดอารมณ์ทั้งหลายเหล่านี้ขึ้น จนส่งผลถึงสภาพจิตใจของเราได้โดยง่าย ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นกับคนรอบตัว รวมถึงพฤติกรรมของเราที่แสดงออกไป ล้วนแล้วแต่ได้รับอิทธิพลจากความคิดและการแสดงออกของผู้คนที่เราได้พบเจอทั้งนั้น


2.ทฤษฎีการเปลี่ยนความเชื่อผู้อื่น 



     ดังที่กล่าวข้างต้นว่า Social Psychology คือ จิตวิทยาสังคม ซึ่งเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่สามารถเปลี่ยนใจ เปลี่ยนพฤติกรรม เปลี่ยนความเชื่อ ตลอดจนโน้มน้าวและขอร้องผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งทฤษฎีนี้จะใช้ได้ดีทั้งในทางบวกและทางลบ ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของบุคคลที่จะเลือกใช้ อีกทั้งสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจะเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางใดทิศทางหนึ่งตามแต่สภาพจิตใจและอารมณ์ของผู้คนที่อยู่รอบตัวด้วย ถ้าหากเรามีท่าทีแสดงความรู้สึกหรือเจตนาในเชิงบวก ผลลัพธ์ที่ปรากฏก็จะออกมาในเชิงบวก แต่หากมีท่าทีและแสดงความรู้สึกในเชิงลบ ผลที่เกิดขึ้นก็จะอยู่ในเชิงลบเช่นกัน ด้วยเหตุนี้ท่าทีและพฤติกรรมของกลุ่มคนที่เราสนทนาด้วย มักส่งผลต่อความรู้สึก ความเชื่อ และพฤติกรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่งอย่างมาก รวมไปถึงผลกระทบต่อ สัมพันธภาพระหว่างบุคคล ที่สามารถเกิดขึ้นหรือจบไปได้ ณ เวลานั้นเช่นกัน


3.ทฤษฎีเรื่องความสัมพันธ์กับผู้อื่น



     ทฤษฎีจิตวิทยา นี้เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึกของคนคนหนึ่งที่เกิดขึ้นและแสดงออกในรูปแบบของความรู้สึก รัก, เกลียด, อิจฉา, ต้องการความช่วยเหลือ, เห็นอกเห็นใจ ตลอดจนความรู้สึกอยากทำร้าย กล่าวคือความรู้สึกทั้งหลายเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนที่เกิดขึ้นได้ตลอดเวลาที่เราดำเนินชีวิตไปในแต่ละวัน โดยพฤติกรรมของเราสามารถเปลี่ยนแปลงไปได้เสมอทั้งในช่วงสร้างความสัมพันธ์ การทิ้งความสัมพันธ์ หรือการรอให้เกิดความสัมพันธ์ ว่าจะเริ่มต้น จบลง และรอคอยสัมพันธ์นั้นเช่นไร 


4.ทฤษฎีการรู้จักตัวเอง 



     จิตวิทยาสังคม หรือ Social Psychology คือ การวิเคราะห์คนรอบข้างและตัวเราเอง ด้วยเหตุนี้การรู้จักว่าตัวเราเองเป็นคนแบบไหน มีประสบการณ์มากน้อยเพียงใด มีความถนัด มีความสามารถ มีบุคลิกเช่นไร และรู้ว่าตัวเราเองในตอนนี้อยู่ในอารมณ์ไหน ก็จะเป็นประโยชน์อย่างมากในการเลือกสิ่งแวดล้อมและสังคมที่เราจะเข้าไปอยู่ เพื่อให้เราสามารถแสดงออกทางด้านอารมณ์และพฤติกรรมต่อคนรอบข้างได้อย่างชัดเจน ไม่เอนเอียงไปทางใดทางหนึ่ง เช่น การตัดสินใจเลือกเรียน หรือการตัดสินใจเลือกสถานที่ทำงานเพื่อสร้างอนาคต ก็ล้วนแต่เป็นทางเลือกของคนที่รู้จักตัวเองในเบื้องต้นแล้วทั้งนั้น อีกทั้งนี่ยังเป็นหนึ่งในตัวแปรสำคัญที่จะทำให้คนเราเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นหรือแย่ลงได้อีกด้วย กล่าวคือสังคมหรือสิ่งแวดล้อมที่เราเลือกคือตัวแปรสำคัญในการกำหนดเส้นทาง ทักษะ และความสำเร็จในอนาคตของเราได้เป็นอย่างดี 


5.ทฤษฎีการใช้ภาษา



     อิทธิพลในการใช้ภาษาสื่อสารระหว่างกันและกัน ส่งผลอย่างมากต่อคนคนหนึ่ง เช่น พ่อแม่ที่มักใช้คำพูดที่ไพเราะอบรมสั่งสอน หรือใช้ในการสื่อสารถามสารทุกข์กันตามปกติ ลูกของคนเหล่านั้นก็จะเป็นคนที่พูดจาไพเราะมีกิริยามารยาทที่ดีกว่าคนที่มักจะถูกอบรมสั่งสอนด้วยคำหยาบคายหรือใช้ความรุนแรง ด้วยเหตุนี้ การใช้ภาษาในการสื่อสารทั้งกับตัวเองและกับคนรอบข้าง จึงส่งผลกระทบอย่างมากต่อพฤติกรรมที่แสดงออกในสังคม, อารมณ์, ความรู้สึกและทัศนคติที่จะเกิดขึ้นกับเราทั้งสิ้น ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนอีกเรื่องก็คือ คนที่มักจะได้รับคำชม กว่า 90 % จะเป็นคนที่มีประสิทธิภาพและมีแรงกระตุ้นในการทำงาน สร้างผลลัพธ์ในเชิงบวกได้ชัดเจนมากกว่าคนที่มักจะถูกตำหนิ


6.ทฤษฎีสิ่งเร้าจากสังคม



     พฤติกรรมที่คนเราแสดงออกมานั้น มักเกิดจากสิ่งเร้า หรือผลกระทบจากสิ่งแวดล้อมและสังคมรอบตัวเมื่ออยู่รวมกันเป็นกลุ่ม อาทิ คนรอบตัวเรามีความกระตือรือร้น ตัวเราเองก็จะกระตือรือร้น, คนรอบตัวเราเกิดความอยากรู้อยากเห็น ตัวเราเองก็จะรู้สึกอยากรู้อยากเห็น หรือทุกคนที่ไปดูคอนเสิร์ตต่างรู้สึกสนุกสนาน ตัวเราเองที่อยู่ในสถานการณ์เดียวกันนั้นก็จะรู้สึกสนุกสนาน แม้แต่คนที่ได้ฟังคำปลอบใจ คนนั้นก็จะรู้สึกมีกำลังใจ มีแรงสู้กับความเจ็บปวดและความเบื่อหน่ายในชีวิตได้ดีขึ้น พฤติกรรมเช่นนี้ล้วนแล้วแต่เกิดจากสิ่งเร้ารอบข้างหรือสังคมทั้งนั้น คนรอบตัวเราจึงมีอิทธิพลต่อตัวเราตั้งแต่แรกพบ จนถึงการจากลา ด้วยเหตุนี้สิ่งที่ผู้คนรอบข้างแสดงออกมาจึงส่งผลต่อตัวเราและทัศนคติของเราได้โดยตรง


      สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ส่งผลต่อพฤติกรรมทางสังคมของเรานั้น จะขึ้นอยู่กับการปฏิบัติและวิธีการต่าง ๆ ที่เรามีต่อกันและกันในสังคม ด้วยเหตุนี้จิตวิทยาสังคมจึงเป็นหนึ่งในหลักจิตวิทยาที่มีอิทธิพลต่อความคิด ความรู้สึก พฤติกรรมทั้งดีและไม่ดี ซึ่งสามารถเกิดขึ้นได้ทั้งนั้น โดยกระบวนการและพฤติกรรมจะเปลี่ยนแปลงไปตามกลุ่มสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เราอยู่ด้วยมากที่สุด ดังนั้น เราจึงควรคิดวิเคราะห์ถึงผลลัพธ์ที่อาจเกิดขึ้นทั้งในทางที่ดีและร้ายที่สามารถเกิดขึ้นได้กับตัวเราเองและคนรอบข้าง เพื่อไม่ให้เราคาดหวังในการสร้างสัมพันธ์ทางสังคมมากจนเกินไป และเพื่อให้ทุกสิ่งที่เกิดขึ้น คือความประทับใจตั้งแต่ครั้งแรกที่ได้พบเจอ

ที่มาข้อมูล

  • https://smarterlifebypsychology.com/
  • https://www.psy.chula.ac.th/
  • https://online.maryville.edu/
  • https://www.simplypsychology.org/