หลังจาก มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากกับ Facebook และต้องการที่จะเปลี่ยน Facebook ให้เป็นมากกว่าสื่อโซเชียลธรรมดา จึงได้จัดตั้งทีม Facebook Reality Lab ประกาศพัฒนาผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับ The Metaverse ขึ้นอย่างจริงจัง ซึ่งสอดคล้องกับบริษัทจำหน่ายเกมออนไลน์ยักษ์ใหญ่อย่าง Epic Games ได้ประกาศถึงการลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านดอลลาร์ ในการสร้างเกมเกี่ยวกับ โลกเสมือนจริง ขึ้นมา จนกระทั่งต้นเดือนตุลาคม 2564 Alibaba ยักษ์ใหญ่จากประเทศจีนได้ยื่นเอกสารเพื่อขอเครื่องหมายการค้าเกี่ยวกับเทคโนโลยี Metaverse โดยก่อนหน้านี้ Tencent บริษัทเทคโนโลยียักษ์ใหญ่จากจีนก็ได้เริ่มเดินหน้าหาโอกาสใหม่ ๆ ในโลกเสมือนจริงนี้ไปก่อนแล้วด้วยการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้ามากกว่า 100 รายการ และในกลางดึกของคืนวันที่ 28 ตุลาคม 2564 มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก CEO ของ Facebook ประกาศเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Meta ในทันควัน เพื่อมุ่งหน้าและพัฒนาโลก Metaverse อย่างเต็มกำลัง
คำว่า Metaverse เกิดจากคำสองคำมารวมกัน นั่นคือ Meta และ Universe หากแปลตามความคิดของ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก Meta อาจมีความหมายเหมือน Beyond คือ การเหนือกว่า หรือการหลุดพ้น เมื่อนำมารวมกับ Universe ที่แปลว่าจักรวาล อาจหมายความถึง เหนือกว่าจักรวาล หรือหลุดพ้นจากจักรวาลเดิมที่เป็นอยู่ โดย Metaverse จะสามารถทำงานได้นั้นจะต้องประกอบไปด้วยอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงระดับ 5G, ระบบ VR หรือ Virtual Reality กับ AR หรือ Augment Reality จึงจะสามารถทำให้เกิด โลกเสมือนจริง ขึ้นมาได้ ซึ่งก่อนหน้านี้มีบริษัทผลิตเกมหลายรายต่างออกแบบเกมที่ให้ผู้เล่นได้มีส่วนร่วมไปกับเกมเหมือนเข้าไปอยู่ในเกมจริง ๆ ไม่ใช่แค่นั่งควบคุมจอยบังคับหน้าจอทีวีเฉย ๆ เหมือนก่อนหน้า โดยผู้เล่นสามารถทำกิจกรรมในเกมได้หลากหลาย เช่น การวิ่ง, ชกมวย, ฟันดาบ เป็นต้น หรือการซื้อสินค้าภายในเกม การสร้างรายได้จากเกมที่เล่นเพื่อนำมาแปรเปลี่ยนเป็นเงินจริงได้
หลายคนยังมองว่า Metaverse เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของความบันเทิง เช่น เกม หนัง แต่หลายคนลืมนึกไปว่าด้วยจินตนาการจากหนังและเกมที่ผ่านมาในอดีตนั้นต่างล้วนได้รับแรงผลักดันจนสามารถเกิดขึ้นจริงในยุคนี้ได้ เช่น แว่น VR ที่เห็นครั้งแรกในหนังเรื่อง Back to The Future Part II ที่ฉายในปี 1989 ก่อนที่ Google จะพัฒนามาเป็น Google Glass ในปี 2015 ล่าสุดเกม Fortnite จากค่าย Epic Games ที่ได้รับการพัฒนาได้เหมือนโลกเสมือนจริง ด้วยการจับมือกับแบรนด์ดังหลายเจ้าออกแบบและจัดจำหน่ายไอเทมในเกมที่ผู้เล่นสามารถซื้อเพื่อแต่งตัวหรือใช้งานได้ พร้อมกับพัฒนาฟีเจอร์ของเกมที่สามารถให้ผู้เล่นได้มาสังสรรค์ภายในเกมผ่านตัวละครสามมิติได้ ส่งผลให้ Fortnite กลายเป็นเกมที่มีจำนวน User ใช้งานมากถึง 350 ล้านบัญชีในปี 2020 และทำรายได้มากถึง 5,500 ล้านดอลลาร์ ในปี 2018 ทำรายได้ 3,700 ล้านดอลลาร์ ในปี 2019 และ ประมาณ 2,800 ล้านดอลลาร์ ในปี 2020 ทั้งที่บริษัทเปิดตัวเกมมาได้เพียง 4 ปีเท่านั้น แต่ด้วยเทคโนโลยี Blockchain ในโลกของคริปโตได้มีการพัฒนาโลกเสมือนจริงขึ้นมาแล้ว ภายใต้ชื่อ Decentraland ที่ผู้ใช้งานสามารถที่จะซื้อ-ขาย สินค้า ที่ดิน งานศิลปะต่าง ๆ ได้ ซึ่งสินทรัพย์ทั้งหมดจะเป็น NFTs คือ ทรัพย์สินดิจิทัลที่มีการตรวจสอบความเป็นเจ้าของได้ ลอกเลียนแบบไม่ได้ และมีเหรียญ MANA เป็นสกุลเงินที่ใช้ซื้อสินทรัพย์ภายในแพลตฟอร์มนั้น หรือการที่ User แต่ละแพลทฟอร์มสามารถเชื่อมต่อถึงกันได้ เช่น หากมีระบบ wallet ในคริปโต ก็จะสามารถ login เข้าใช้งานระบบการเงินได้ทุกเว็บ โดยที่ไม่ต้องสนใจว่าเจ้าของเว็บการเงินหรือแพลตฟอร์มการเงินนั้นเป็นใคร
ใครจะไปคาดคิดว่าการแพร่ระบาดของไวรัส Covid-19 จะเปลี่ยนแปลงทุกอย่างบนโลกใบนี้ เริ่มตั้งแต่พฤติกรรมของคน , กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ หรือแม้แต่การนัดเจอผู้คนเพื่อพบปะสังสรรค์ ธุรกิจร้านค้าต่าง ๆ โดยเฉพาะการทำงานและเรียนหนังสือผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งทำให้เห็นแล้วว่าสถานที่ทำงาน โรงเรียน ร้านค้า ร้านอาหารที่ต้องนั่งกินที่ร้านไม่จำเป็นอีกต่อไป เมื่อทุกคนสามารถที่จะทำงานที่บ้าน เรียนที่บ้าน กินอยู่ที่บ้านโดยไม่ต้องออกไปซื้อสินค้าเอง ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ทุกอย่างสามารถตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ได้ ถ้าในอนาคตจะมีห้องเรียนเสมือนจริงในรูปแบบออนไลน์ให้นักเรียนได้เข้าไปเรียนจริงแต่ตัวอยู่ที่บ้าน สามารถแต่งตัวด้วยอวตารแปลก ๆ เหมือนในเกมคงจะสนุกดีไม่น้อย หรือการเข้าออฟฟิศที่อยู่ใต้มหาสมุทรทั้งที่ความเป็นจริงนั่งทำงานจากที่บ้าน การนัดพบ พูดคุย สังสรรค์ กับเพื่อน หรือครอบครัวที่อยู่ห่างไกลภายใต้โต๊ะอาหารและแสงเทียน คงไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปหากระบบ Metaverse มีความเสถียรและสามารถใช้งานได้จริง จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
คำตอบต่อคำถามที่ว่า Metaverse คืออะไร อาจจะยังดูไม่แน่ชัด ดูยังห่างไกลจากโลกยุคปัจจุบันอยู่มาก แต่หากเกิดขึ้นมาจริงคนที่จะต้องปรับตัวก่อนเป็นอันดับแรกเลยคือกลุ่มธุรกิจหรือสื่อประเภทโซเชียลมีเดีย เพราะจากข้อมูลของ Global Digital Report 2021 สถิติผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียทั่วโลกมากถึง 4.48 พันล้านคน เพิ่มขึ้นจากปี 2020 ถึง 500 ล้านคน ในขณะที่ค่าเฉลี่ยผู้ใช้งานอินเทอร์เน็ตมากถึง 6 ชั่วโมง 58 นาทีต่อวัน เป็นโซเชียลมีเดีย 2 ชั่วโมง 27 นาที ต่อวัน นั่นเท่ากับว่าหากโลกเสมือนเกิดขึ้นจริง ผู้คนก็พร้อมที่จะย้ายเข้าไปใช้เวลาในโลกเสมือนจริงมากกว่า ถ้าทุกอย่างสามารถที่จะเชื่อมต่อถึงกันได้เหมือนโลกโซเชียลและสามารถทำอะไรได้มากกว่าที่โซเชียลสามารถทำได้ ซึ่งเหมือนเคยเกิดมาแล้วในแอปพลิเคชันอย่าง Pirch, ICQ, Hi5 หรือแม้แต่เว็บ e-commerce ในยุคแรก ๆ เพราะถ้าหากโลกเสมือนจริงผู้ใช้งานสามารถที่จะครอบครองสินทรัพย์เป็นของตนเองได้ เกิดการซื้อขายที่แปรเปลี่ยนเป็นเงินจริงได้ เคลื่อนย้ายสินทรัพย์ไปไหนมาไหนด้วยเทคโนโลยี blockchain ส่งผลให้เวลาที่คนจะใช้ชีวิตอยู่บนหน้าโซเชียลหายไป เม็ดเงินจากค่าโฆษณา รายได้ต่าง ๆ ก็จะหายไปด้วย ในขณะที่ผู้ประกอบการจากที่เคยขายสินค้าผ่านสื่อออนไลน์อาจจะต้องปรับตัวหันไปขายสินค้าผ่านโลกเสมือนจริงนั่นเอง
คงเป็นเรื่องที่จะคาดเดาได้ว่า Metaverse ที่ Facebook และบริษัทยักษ์ใหญ่หลายแห่งที่กำลังพัฒนาอยู่นั้นจะออกมาในรูปแบบไหน เพราะการที่จะเกิดโลกเสมือนจริงได้นั้นทุกอย่างจะต้องถูกเชื่อมโยงถึงกัน จะต้องไม่มีพรมแดนใด ๆ ขวางกั้นเอาไว้ เช่น การ Login จะต้องมีเพียงหนึ่งเดียวที่สามารถเข้าใช้งานได้ทุกแพลทฟอร์ม หรือการย้ายสินทรัพย์ระหว่างกันได้ หรือเงินภายในเกมหนึ่งสามารถย้ายไปอีกเกมหนึ่งและใช้ซื้อของภายในเกมนั้น ๆ ได้เลย เพราะไม่อย่างนั้นแล้วอาจจะเป็นเพียงแค่การพัฒนาแอปพลิเคชันใหม่ หรือเกม ๆ ใหม่ขึ้นมาให้คนเข้าไปเล่น ซึ่งไม่ใช่โลกเสมือนจริงที่หลายคนคาดหวังไว้
ที่มาข้อมูล