8 เทคนิคจำบทพูดงานนำเสนอให้แม่น พรีเซนต์งานได้อย่างมืออาชีพ
6817 views | 06/07/2022
Copy link to clipboard
Koii Nopnok
Content Creator

การท่องจำบทพูดของงานนำเสนออาจดูเหมือนเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็นต้องทำก็ได้ แต่ถ้าคุณจำสิ่งที่จะพูดได้ทั้งหมด มันก็จะช่วยให้คุณพูดได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผล ซึ่งผลงานวิจัยโดย Clinical Psychological Science‘s ก็ยิ่งชี้ให้เห็นว่าการพูดในที่สาธารณะไม่ใช่เรื่องง่ายเลยสำหรับคนส่วนใหญ่ เพราะมีคนกว่า 75% ที่กลัวการพูดในที่สาธารณะ และถ้าอยากจะเอาชนะความกลัวนี้ไปให้ได้ การท่องจำประเด็นหรือบทพูดที่จะนำเสนอก็จะช่วยให้คุณพูดได้คล่องขึ้น แถมมันยังช่วยลดอาการประหม่า และทำให้รู้สึกมั่นใจในตัวเองมากขึ้นด้วย มาดูเทคนิคดี ๆ ที่จะช่วยให้จำบทพูดนำเสนองานได้แม่นยำมากขึ้นกันเลย



สร้างแผนที่ความคิด (Mind Map)

การสร้างแผนที่ความคิดเป็นวิธีที่ดีในการช่วยให้จำแม่นขึ้น แผนที่ความคิดจะช่วยให้คุณจัดวางประเด็นหลักของการนำเสนอได้ดีขึ้น คุณสามารถใช้สี รูปภาพ รูปร่าง เส้น ลูกศร และองค์ประกอบอื่น ๆ เพื่อช่วยในการจดจำได้ แผนที่ความคิดจะช่วยให้คุณเข้าใจการเชื่อมต่อและการเปลี่ยนผ่านระหว่างจุดต่าง ๆ ได้ดีขึ้น เนื่องจากสมองของคนเราสามารถสร้างความเชื่อมโยงระหว่างความคิดกับองค์ประกอบภาพของแผนที่ความคิดได้ดีมาก วิธีนี้จึงช่วยให้คุณจดจำได้ง่ายกว่าการจดบันทึกนั่นเอง 


นอกจากนี้คุณยังสามารถใช้การแบ่งข้อมูลเข้ามาช่วยจัดระเบียบได้ด้วย คำแนะนำคือไม่จำเป็นต้องอัดข้อมูลทุกอย่างลงไป แต่ควรเน้นไปที่หัวข้อของส่วนต่าง ๆ ที่จะพูดถึง แล้วจัดลำดับความสำคัญของประเด็น วิธีนี้จะช่วยให้คุณจดจ่อกับการท่องจำข้อมูลสำคัญได้ดี เช่น แบ่งข้อมูลการนำเสนอออกเป็นส่วน ๆ คือ มีบทนำ ส่วนที่ท้าทาย และบทสรุป เป็นต้น



ฝึกพูดออกมาดัง ๆ

การอ่านออกเสียงจะช่วยให้จดจำได้ดีขึ้น ไม่ว่าจะพูดออกเสียงคนเดียว หรือจะฝึกพูดออกเสียงต่อหน้าเพื่อน ๆ ก็ได้ นอกจากจะช่วยให้จำข้อมูลได้ดีแล้ว เวลาฝึกพูดต่อหน้าคนอื่นมันยังเหมือนเป็นซ้อมพรีเซนต์ไปในตัว และอาจจะได้รับคำแนะนำจากเพื่อน ๆ อีกด้วย วิธีนี้เป็นเทคนิคที่ Nancy Duarte นักเขียนและนักพูดชื่อดังมักใช้ เธอบอกว่าการฝึกพูดต่อหน้าเพื่อนมีประโยชน์มาก เช่น

  • พวกเขาสามารถให้คำแนะนำในการปรับปรุงเนื้อหาและการออกแบบงานนำเสนอได้
  • พวกเขาสามารถตั้งคำถามหรือข้อกังวลที่คุณอาจไม่เคยคิดมาก่อน ซึ่งจะช่วยให้คุณเตรียมพร้อมสำหรับการถาม & ตอบ ในการนำเสนอจริง
  • การนำเสนอต่อหน้าผู้ฟัง (ถึงจะเป็นการซ้อม) จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้กับคุณได้ดีมาก



เขียนสรุปออกมาด้วยตัวเอง

การเขียนสรุปลงบนกระดาษจะช่วยให้คุณจดจำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากอยากจดจำให้ได้เร็วขึ้น วิธีนี้ถือว่าเวิร์คมาก เพราะการจดบันทึกลงบนแผ่นกระดาษ พร้อมขีดเส้นใต้หัวข้อที่สำคัญ จะช่วยให้คุณสามารถสร้างแผนผังลำดับงานคร่าว ๆ ในหัวได้ และการเขียนด้วยมือก็จะช่วยให้คุณจดจำรายละเอียดต่าง ๆ ได้ดีขึ้น 



งีบหลับสักหน่อย

คุณอาจคิดว่ามันจะเสียเวลาหรือเปล่า แต่การงีบหลับได้รับการพิสูจน์และยืนยันแล้วว่ามันสามารถช่วยปรับปรุงการทำงานของหน่วยความจำได้ดีมาก การงีบหลับที่ดีสามารถนำไปสู่การทำให้ความจำดีขึ้น เพราะสมองที่ได้รับการพักผ่อนอย่างดีจะมีประสิทธิภาพในการจดจำข้อมูลได้ดีกว่าสมองของคนที่อดนอน หากคุณรู้สึกว่าเหนื่อยล้ามาก ๆ การงีบหลับ 10 - 20 นาที จะช่วยเพิ่มพลัง ทำให้ร่างกายตื่นตัว รู้สึกสดชื่น สมองตอบสนองได้ดีขึ้น และดีต่อความจำมากขึ้นด้วย



ใช้กฎ 20-20-20

กฎการซ้อม 20-20-20 เป็นวิธีที่พิสูจน์แล้วในการจดจำว่ามันใช้ได้ดี โดยเริ่มต้นด้วยการทบทวนเนื้อหาการนำเสนอเป็นเวลา 20 นาที แล้วทำซ้ำสองครั้งเป็นเวลา 20 นาที ซึ่งในการทำแต่ละครั้งจะช่วยให้จดจำเนื้อหาได้ดีขึ้น 



อย่าทำงานหลายอย่างพร้อมกัน

คุณอาจคิดว่าการทำงานหลายอย่างพร้อมกันจะทำให้ไม่สูญเสียเวลาไปอย่างไร้ค่า แต่รู้ไหมว่ามันตรงกันข้ามกับที่คุณคิดเลย จากการศึกษาของ Journal of Experimental Psychology พบว่า การทำงานหลายอย่างพร้อมกันจะส่งผลให้การท่องจำแย่ลง เพราะเมื่อคุณฟุ้งซ่านกับงานสำคัญอื่น ๆ ในช่วงเวลาที่สมองกำลังเรียนรู้หรือฝึกฝนบางสิ่งที่ไม่คุ้นเคย มันจะบั่นทอนความจำของคุณมาก ๆ สรุปเลยก็คือสมองของคุณต้องการเวลาเพื่อสลับไปมาระหว่างงานต่าง ๆ ดังนั้นถ้าคุณต้องการจดจำบางสิ่งให้แม่น ๆ คุณไม่ควรทำหลายอย่างในเวลาเดียวกันเด็ดขาด 



ออกกำลังกายก่อนท่องจำ

ผลการศึกษาโดย PubMed กล่าวว่า การออกกำลังกายไม่ได้ช่วยแค่ให้คุณสุขภาพดีขึ้น แต่มันยังช่วยให้สุขภาพจิตและความสามารถในการท่องจำดีขึ้นได้ด้วย การออกกำลังกายจะช่วยเพิ่มการทำงานของหน่วยความจำและการประมวลผลทางปัญญา รวมถึงยังช่วยกำจัดความเครียดด้วยการปล่อยสารเอ็นดอร์ฟินทันทีหลังออกกำลังกาย หากคุณรู้สึกว่าจำอะไรไม่ค่อยดี หลงลืมบ่อย ๆ การออกกำลังกายก็จะช่วยได้ดีเชียว 



ฝึกซ้อมในช่วงบ่าย

หลาย ๆ คนมักคิดว่าการทำสิ่งต่าง ๆ ในตอนเช้านั้นดีที่สุด ซึ่งรวมถึงการท่องจำด้วย แต่จากการศึกษาโดย Brazilian Journal of Medical and Biological Research พบว่า ช่วงเวลาที่ดีที่สุดในการเรียนและท่องจำคือช่วงบ่าย โดยพบว่าผู้ที่เรียนในตอนบ่ายมีความจำและการท่องจำระยะยาวที่ได้ผลมากกว่าคนที่เรียนในตอนเช้าหรือเย็น นอกจากนี้ข้อมูลของ PSB Academy ก็บอกไว้ว่าการเรียนในช่วงบ่ายเป็นวิธีที่ดีที่สุดในการรวมข้อมูลใหม่เข้ากับข้อมูลที่คุณรู้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นถ้าอยากจะฝึกซ้อมการพรีเซนต์ให้แม่นยำมากขึ้น ก็ลองฝึกซ้อมเป็นช่วงบ่ายดูค่ะ 



การจดจำบทที่จะพูดถือเป็นหนึ่งในการสร้างความมั่นใจให้กับตัวเอง เพราะการพูดออกมาได้แบบไม่ตะกุกตะกักจะทำให้เราดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น หากอยากเรียนรู้เทคนิคการพูดนำเสนองานจากผู้เชี่ยวชาญด้านการสื่อสารระดับโลก คลิกที่นี่ ส่วนใครที่อยากจะอัปสกิลการทำพรีเซนเทชั่นให้เก่งมากขึ้น ขอแนะนำคอร์ส Shortcut PowerPoint​ Design คอร์สเรียนที่จะสอนเทคนิคของมืออาชีพในการออกแบบสไลด์ PowerPoint ให้ดูสวย น่าสนใจ อ่านข้อมูลง่าย และสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้กับทุกงาน 

สนใจเรียนคอร์ส Shortcut PowerPoint​ Design คลิกที่นี่



ที่มาข้อมูล

  • https://visme.co/blog/how-to-memorize-a-presentation/