สอนตัดต่อวิดีโอ หลักการ Jump Cut และเทคนิคการตัดภาพให้วิดีโอสมูทขึ้น
25176 views | 02/06/2022
Copy link to clipboard
Apple W.
Content Creator

ไหนใครเคยมีปัญหาเมื่อจะตัดต่อวิดีโอแล้วไม่รู้ว่าจะตัดอะไรไว้ตรงไหนไหมคะ ? เช่น จะใส่ฟุตเทจที่ถ่ายมาไว้ตรงไหนดี จะเอาคลิปไหนไว้ก่อนหลัง และจะเชื่อมคลิปหนึ่งไปยังอีกคลิปหนึ่งอย่างไรให้มันสมูทและน่าดู ไม่โดดไปโดดมาให้คนดูเขางง ศาสตร์การตัดต่อนี้เขาเรียกว่า หลักการลำดับและตัดภาพนั่นเองค่ะ ไปดูกันว่าเราจะลำดับภาพ ตัดภาพในการตัดต่อครั้งต่อไปอย่างไรให้เทพมากขึ้น 



ว่ากันว่าการจะตัดต่อวิดีโอให้ดีได้ ไม่ใช่แค่รู้ว่าใช้โปรแกรมไหนก็จบ มีเหล่าครีเอเตอร์หลายคนที่ใช้โปรแกรมตัดต่อฮิต ๆ อย่าง Adobe Premiere Pro, Final Cut Pro หรือแม้แต่แอปตัดต่อในมือถืออย่าง KineMaster ได้คล่องแคล่ว แต่หลายคนก็ยังไม่สามารถคลอดวิดีโอดี ๆ ที่มีสไตล์ชัดเจน มีมุมกล้องเจ๋ง ๆ ออกมาได้ 



เพราะการตัดต่อวิดีโอที่ดีต้องมีสิ่งที่เรียกว่า ‘จังหวะ’ แห่งการตัดต่อใส่ลงไปด้วย จังหวะที่จะเชื่อมซีนหนึ่งไปยังอีกซีนหนึ่งให้ไม่สะดุด แต่สมูทจนคนดูต้องติดตามจนจบ แถมยังบิ้วอารมณ์คนดูให้คล้อยตามไปกับเรื่องที่เราอยากจะสื่อได้ ทั้งนี้อย่าลืมว่า การตัดต่อคือการเปลี่ยนภาพและเสียงจากหนึ่งช็อต (Shot) ไปยังช็อตต่อไปโดยให้มีความต่อเนื่องและเรียงลำดับเรื่องราว ไม่มีการกระโดดหรือซ้อนกัน และสามารถรักษาคุณภาพของภาพและเสียงให้กลมกลืนกันได้โดยตลอด  



ดังนั้นใครที่สามารถเข้าใจจังหวะแห่งการตัดต่อ ไปจนถึงเทคนิคการลำดับภาพได้ ก็ยิ่งจะเพิ่มความน่าสนใจให้กับวิดีโอให้เพิ่มมากขึ้น โดยหลักการลำดับภาพมี 2 ข้อสำคัญ ดังนี้


1. ความยาวของภาพหรือช็อต การเปลี่ยนภาพแต่ละครั้งจะทำให้ผู้ชมถูกกระตุ้นความรู้สึกขึ้นอีกครั้งหนึ่ง แล้วความรู้สึกนั้นจะค่อย ๆ ลดลงจนกระทั่งมีการตัดภาพอีกครั้งหนึ่ง ถ้าความยาวของช็อตพอเหมาะกับอารมณ์ของผู้ชม ผู้ชมก็จะถูกกระตุ้นตามจังหวะ ถ้าช็อตยาวเกินไป ถ้าคนดูไม่ได้ชอบสไตล์นี้อยู่แล้วเขาก็อาจเบื่อได้ 


2. ความถี่ของการเปลี่ยนภาพ หรือถ้าจะเรียกง่าย ๆ ว่าการตัดภาพนั้น ตามธรรมดารายการที่มีความยาว 30 นาที จะมีความถี่ในการตัดภาพประมาณ 20 ครั้ง แต่ความถี่นี้อาจเปลี่ยนแปลงได้ตามเนื้อเรื่องของเรื่องที่แสดง ถ้าเป็นเรื่องที่แสดงถึงการเคลื่อนไหวที่รวดเร็ว เช่น การวิ่ง การกระโดด อาจตัดภาพที่มีความถี่สูง ความจริงแล้วความยาวช็อต และความถี่ของการเปลี่ยนภาพนี้มีความสัมพันธ์กันอยู่แล้ว



7 เทคนิคการตัดต่อและการลำดับภาพ (Editing)


1. การตัดภาพแบบ Cut 



ตัวอย่างเทคนิค Cut จากเพลง Daydreaming ของ Radiohead


Cut หรือ Straight cut คือเทคนิคการตัดต่อที่เราจะเห็นมากที่สุด เป็นการนำคลิปวิดีโอสองคลิป หรือเหตุการณ์ การกระทำที่อยู่ในซีนเดียวกันมาต่อกัน ในลักษณะของการตัดไปตรง ๆ เพื่อแสดงถึงความต่อเนื่อง เทคนิค Cut ชน Cut นี้มักจะไม่ต้องการให้ผู้ชมตีความใด ๆ เป็นพิเศษ แค่ต้องการแสดงให้เห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นต่อไปเท่านั้น ซึ่งการทำ YouTube หรือ Music video ส่วนใหญ่ก็มักจะใช้เทคนิคนี้  



2. การตัดแบบ Jump Cut 



ตัวอย่างเทคนิค Jump Cut ในหนังเรื่อง Little Shop of Horrors (1986)


การตัดแบบ Jump Cut ก็คือการตัดจากช็อตหนึ่งไปอีกช็อตหนึ่ง ซึ่งทั้งสองช็อตนั้นมักจะอยู่ในตำแหน่ง มุมกล้อง สถานที่เดียวกันหรือคล้ายกัน ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไรมาก ใช้เมื่อต้องการตัดสิ่งที่ยาวไป ไม่ต้องการออกไป หรือว่ามีช่วงที่ถ่ายวิดีโออยู่ดี ๆ ก็มีเหตุการณ์นอกสคริปต์เกิดขึ้น ซึ่งเราไม่อยากให้มันอยู่ในวิดีโอ แต่หากทำไม่เนียนก็จะทำให้คนดูรู้สึกว่าวิดีโอสะดุด กระตุก โดดไปโดดมา ไม่น่าเชื่อถือ ดังนั้นจึงไม่นิยมให้ Jump Cut บ่อย ๆ ถ้าไม่จำเป็น หรือวิดีโอยาวแค่ 10 นาทีแต่ Jump Cut คำต่อคำไปแล้ว 50 กว่าครั้ง เป็นต้น เทคนิค Jump Cut มักนิยมใช้ในวิดีโอสัมภาษณ์ รีวิว คลิปอธิบายยาว ๆ ยาก ๆ ฯลฯ  



3. การตัดสลับเหตุการณ์ Cross Cutting 


 

 ตัวอย่างการใช้เทคนิค Cross Cutting ในหนังเรื่อง Dunkirk 


เป็นเทคนิคการตัดต่อเมื่อเราต้องการนำเสนอเหตุการณ์ตั้งแต่ 2 เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในเวลาเดียวกัน แต่ต่างสถานที่กัน แต่ดำเนินอยู่ในเส้นเรื่องเดียวกัน เพื่อให้คนดูเข้าใจความแตกต่างหรือเปรียบเทียบให้เห็นชัดขึ้น โดยทั้งสองเหตุการณ์จะมีความหมายทั้งคู่ ไม่ใช่ภาพที่แทรกมาเพื่อเสริมความหมายให้กับภาพหลักเท่านั้น บางครั้งเทคนิค Cross Cutting ก็ทำเพื่อหลอกล่อให้ผู้ชมหลงทาง เดาไม่ถูก เพิ่มความสนุกหรือใช้สะท้อนความย้อนแย้งบางอย่าง มักจะเห็นเทคนิคนี้ในวิดีโอชาเลนจ์ต่าง ๆ เป็นต้น 



4. การตัดแบบ Coverage 



ตัวอย่างการใช้เทคนิค Coverage จากหนัง Stranger Things 


หมายถึงการนำเสนอภาพในฉากจากหลายมุมกล้องของตัวแสดงหลายครั้งเพื่อให้ยังคงความต่อเนื่องเอาไว้ได้ โดยเฉพาะวิดีโอที่ถูกถ่ายในสถานที่เดิม ไม่ได้ย้ายฉากไปไหน โดยเราจะเห็นเทคนิคนี้บ่อย ๆ ในวิดีโอประเภทสอนแต่งตัว การแกะกล่องสินค้า วิธีใช้สินค้าหรือว่ารูมทัวร์ที่จะมีวัตถุเดียวหรืออยู่ในซีนเดียวกัน แต่ต้องการให้คนดูเห็นหลาย ๆ มุม โดยจะต้องมีการถ่ายมุมดังต่อไปนี้        


  • ซูมเข้า : ภายจากมุมไกล ๆ แล้วจึงขยับเข้ามาใกล้วัตถุ 
  • ซูมออก : ภายจากมุมใกล้ แล้วจึงซูมออกให้เห็นภาพกว้าง
  • ถ่าย 3 มุม : ถ่ายวัตถุ คน แล้วก็คนกับวัตถุ 

  


5. การตัดแบบ Montage 



ตัวอย่างการใช้เทคนิค Montage ในโฆษณา Colin Kaepernick ของ Nike 


คือการตัดต่อแบบรวบรวมหลายเหตุการณ์ โดยที่แต่ละคลิปไม่จำเป็นต้องต่อเนื่อง หรือเป็นเหตุการณ์เดียวกันเลย เพื่อเล่าเรื่องผ่านธีมหลัก สรุปเรื่องราวโดยใช้เวลาเพียงสั้น ๆ การตัดต่อแบบนี้จะนิยมใช้เพื่อเล่าเรื่องโดยมีธีมเรื่องเป็นหลักอยู่แล้ว บ่อยครั้งก็มีการใช้เพลงเข้ามาประกอบ โดยเพลงนั้นจะมีความหมายหรือทำนองสอดคล้องกับเรื่องราวที่ต้องการสื่อออกไป เทคนิคนี้ใช้บ่อย ๆ ในการถ่าย Vlog, วิดีโอโฆษณาขายของ


  • เป็นการตัดต่อที่เน้นจังหวะของภาพ แต่ไม่เน้นความต่อเนื่องของภาพและการแสดง
  • รวมฉากเหตุการณ์ตัวละครที่อยู่ต่างเวลา ต่างสถานที่กัน ให้มาอยู่ในที่เดียวกัน
  • สร้างความหมายแฝงเร้น (Implicit) จากภาพที่นํามาต่อเรียงกัน และให้ความหมายใหม่ และภาพที่นํามาผสมสานกัน มีความแตกต่างกันทั้งด้านความหมาย มุมกล้อง และแสง



6. การตัดภาพ Match Cut 



ตัวอย่างเทคนิค Match Cut ในหนังเรื่อง Pirates of the Caribbean Curse Of The Black Pearl


Match Cut เป็นการเชื่อมช็อตสองช็อตเข้าด้วยกัน โดยคำนึงถึงความต่อเนื่องลื่นไหลเป็นหลัก ด้วยการตัดต่อวีดีโอจากภาพ ๆ หนึ่งไปเป็นอีกภาพหนึ่ง โดยทั้งสองภาพมักจะมีความคล้ายกันผ่านการจับคู่ ซึ่งเราจะใช้องค์ประกอบจากฉากก่อนหน้าในการตัดต่อวีดีโอเพื่อนำไปยังฉากต่อไปอย่างลื่นไหล เพื่อสร้างความรู้สึกของการเชื่อมต่อระหว่างสองเหตุการณ์ที่แตกต่างกัน โดยแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท


  • Action – Movement เน้นการเชื่อมของทิศทาง การเคลื่อนไหวเดียวกัน  
  • Composition – Graphics เน้นการเชื่อมต่อของสีและแสง ตัดทั้งรูปแบบและรูปร่าง
  • Sound ใช้เสียงเดียวกัน แต่ระดับเสียงแตกต่างกัน เช่น ขณะที่ใส่หูฟังก็จะเป็นเสียงออกจากหูฟัง แต่หากถอดหูฟังก็จะเป็นเสียงที่เปิดจากเครื่อง แต่เป็นเพลงเดียวกัน



7. การตัดแบบ Cutaway 



ตัวอย่างการใช้เทคนิค Cutaway จากหนังเรื่อง Eternal Sunshine of the Spotless Mind 


Cutaway คือการตัดภาพไปยังภาพอื่น ขณะที่ภาพเหตุการณ์นั้นยังดําเนินอยู่ แล้วจึงตัดย้อนกลับมาภาพหลักอีกครั้ง เทคนิคนี้อาจทำให้ขาดความต่อเนื่องไปบ้าง แต่หากแช่ภาพหลักนานเกินไปคนดูอาจหมดความสนใจได้ โดยเทคนิคนี้จะใช้เพื่อข้ามเวลาไปในฉากอื่นที่เกี่ยวข้อง เพื่อเปรียบเทียบหรือสื่อความหมายเชิงสัญลักษณ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมและเสริมความเข้าใจให้กับเหตุการณ์หลัก โดยภาพที่แทรกเข้ามาจะมีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์หลัก  






ที่มาข้อมูล

  • https://www.beartheschool.com/share-1/2019/5/22/the-art-of-editing-2-creative-transition-vdofilm-editing
  • https://www.ubu.ac.th/web/mod/km/files/cf202108250939279472.pdf
  • https://www.photoschoolthailand.com/video-editing-tips/
  • https://atchariya.files.wordpress.com/2012/12/premier-book.pdf
  • http://luck-graphic-design.blogspot.com/2011/07/sequence-of-shot.html
  • https://www.studiobinder.com/blog/cutaway-shot/