รวมขั้นตอนขอคืนภาษี หากได้เงินคืนภาษีล่าช้า ได้เงินไม่ครบ ต้องทำอย่างไร !
4962 views | 31/03/2022
Copy link to clipboard
Content Creator

การขอเงินคืนภาษี เป็นสิทธิที่ผู้เสียภาษีสามารถทำได้หากถูกหักภาษี ณ ที่จ่ายระหว่างปีมากกว่าค่าภาษีที่ตัวเองมีหน้าที่ต้องจ่ายจริง

เมื่อคำนวณภาษีเรียบร้อยแล้ว พบว่าถูกหักภาษี ฯ ที่จ่ายระหว่างปี “มากกว่า” ภาษีที่ต้องจ่าย ผู้เสียภาษีสามารถยื่นเรื่องเพื่อขอคืนภาษีได้ โดยต้องทำตามขั้นตอนที่กรมสรรพากรระบุไว้อย่างถูกต้อง


โดยวิธีการขอเงินคืนภาษี ทำได้โดยเริ่มจากคำนวณภาษีแล้วพบว่า ตนเองมีสิทธิได้เงินคืนภาษี จากนั้นผู้เสียภาษีต้องทำการ “ยื่นภาษี” เพื่อ “ขอเงินคืนภาษี” ตามขั้นตอนของกรมสรรพากร



ช่วงเวลาการขอคืนภาษี

สำหรับช่วงเวลาในการ "ขอคืนภาษี" จาก "กรมสรรพากร" แบ่งเป็น 2 กรณี คือ

  1. การขอคืนภาษีขณะที่ยังไม่หมดเวลายื่นภาษี กรมสรรพากรมีหน้าที่ต้องคืนเงินภาษีภายใน 3 เดือน นับจากวันที่ยื่นแบบฯ หรือวันที่ยื่นเอกสารประกอบการขอเงินคืนภาษีเพิ่มเติม
  2. การขอคืนภาษีหลังหมดเวลายื่นภาษี ในกรณีที่จ่ายภาษีไว้เกินกว่าที่ตัวเองมีหน้าที่ แล้วมานึกได้ที่หลังก็ยังสามารถขอเงินภาษีที่จ่ายเกินนั้นได้โดยการยื่นภาษี (หรือยื่นภาษีเพิ่มเติมย้อนหลัง) แต่ต้องรีบขอคืนภายใน 3 ปี นับจากวันสุดท้ายที่ครบกำหนดยื่นภาษี


โดยปกติแล้วหากไม่มีข้อสงสัยใด ๆ กรมสรรพากรจะอนุมัติเงินคืนภาษีให้ทันที แต่หากมีเหตุสงสัยบางประการ เจ้าหน้าที่อาจขอให้ส่งหลักฐานประกอบด้วย เช่น หลักฐานการบริจาคเงิน ใบ 50 ทวิ หรือเอกสารอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง



ขั้นตอนการตรวจสอบการขอคืนภาษี

  • เข้าไปที่เว็บไซต์ กรมสรรพากร
  • กดเลือกเมนู "สอบถามการคืนภาษี"



สามารถเข้าสู่ระบบเว็บไซต์กรมสรรพากรเพื่อติดตามสถานะคืนเงินภาษีได้ด้วยตัวเอง ได้ 3 ช่องทาง ดังนี้

1. เว็บไซต์กรมสรรพากร

http://www.rd.go.th => E-FILING => สอบถามการขอคืนภาษี => ติดต่อสอบถามข้อมูลการขอคืนภาษี ภ.ง.ด.90, 91 หรือ http://www.rd.go.th => CONTACT US => สอบถามปัญหา / แนะนำ/ร้องเรียน (Contact Us)

2. ศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร (RD Call Center) : 1161

3. สำนักงานสรรพากรพื้นที่ตามภูมิลำเนาที่ปรากฏตามการยื่นแบบฯ


เมื่อกดยื่นแบบแล้วกรมสรรพากรก็จะดำเนินการตามคำร้องขอคืนภาษี แต่ในกรณีที่ผ่านมา 7-14 วันแล้วยังไม่ได้เงินคืน ทางสรรพากรอาจเรียกขอเอกสารเพิ่มเติมได้ โดยคุณสามารถยื่นเอกสารได้ 2 ช่องทาง คือ สแกนเป็นไฟล์ pdf แล้วอัปโหลดขึ้นเว็บไซต์ หรือส่งทางไปรษณีย์



กรณีไม่ได้รับเช็คคืนเงินภาษี

หากส่งเอกสารเรียบร้อยแล้ว และตรวจสอบสถานะพบว่า “คืนเงินภาษี” แต่ไม่ได้รับเช็ค เนื่องจากเปลี่ยนแปลงที่อยู่ หรือเหตุผลอื่น ๆ สามารถขอรับเช็คใหม่ได้ โดยติดต่อยื่นเรื่องกับสำนักงานสรรพากรพื้นที่ ใช้เอกสาร 2 อย่าง

  1. บัตรประชาชนตัวจริง พร้อมสำเนา
  2. หนังสือมอบอำนาจ และบัตรประชาชนพร้อมสำเนาของผู้รับมอบอำนาจ (ในกรณีที่ให้คนอื่นดำเนินการแทน)


ได้เงินคืนภาษีน้อยกว่าหรือมากกว่าที่ปรากฏบนเว็บไซต์กรมสรรพากร

กรณีที่ผู้ขอคืนเงินภาษี ยื่นแบบมากกว่า 1 ฉบับ ทำให้การขอคืนภาษีลดลงหรือเพิ่มขึ้น ดำเนินการติดต่อกรมสรรพากรท้องที่เพื่อคืนเช็ค และแก้ไขเช็คให้ถูกต้อง


ขึ้นเช็คไม่ได้ เช็คหาย หรือ ธนาคารปฏิเสธการจ่าย

กรณีขอคืนภาษีเป็นเช็คแล้วเช็คสูญหาย หรือชื่อสกุลไม่ตรง หรือเช็คมีอายุเกิน 6 เดือน ก็ให้ไปติดต่อสรรพากรพื้นที่ นำเอกสารไปประกอบคำร้อง ดังนี้

  1. บัตรประจำตัวประชาชนพร้อมสำเนา
  2. กรณีเช็คสูญหายต้องใช้หนังสือแจ้งความ
  3. หนังสือเปลี่ยนชื่อสกุล
  4. หนังสือมอบอำนาจ และบัตรประชาชนตัวจริงพร้อมสำเนาของผู้รับมอบอำนาจ (ในกรณีให้ผู้อื่นดำเนินเรื่องแทน)



ไม่เห็นด้วยกับยอดเงินคืนภาษีที่ได้รับ

กรณีขอคืนภาษีแล้วได้รับยอดคืนภาษีไม่ตรงกับที่ยื่นเรื่อง ต้องการอุทธรณ์ ให้จัดทำหนังสืออุทธรณ์ชี้แจงข้อเท็จจริงพร้อมแนบเอกสารประกอบ ภายในระยะเวลา 15 วันหลังได้รับหนังสือ ค.30


ช่องทางการรับเงินคืนภาษี

สามารถเลือกช่องทางรับเงินคืนภาษีได้ 3 ช่องทาง ได้แก่

      1.รับเงินคืนผ่านพร้อมเพย์ ที่ผูกกับบัญชีธนาคารออนไลน์

      2.รับเงินคืนภาษีเข้าบัญชีธนาคารกรุงไทย หรือ ธ.ก.ส.

      3. รับเงินคืนภาษีเข้าบัตร e-Money หรือ e-Wallet (แอพฯ เป๋าตัง) เฉพาะธนาคารกรุงไทย


หากผู้ยื่นภาษีได้ทำตามขั้นตอนของกรมสรรพากรเรียบร้อยแล้ว แต่เจอกรณี "กรมสรรพากร" คืนภาษีให้ล่าช้า เรามีสิทธิได้รับเงินคืนภาษีพร้อมดอกเบี้ยในอัตรา 1% ต่อเดือน จนถึงวันที่ลงในหนังสือแจ้งคำสั่งคืนเงิน โดยเริ่มคำนวณดอกเบี้ยตั้งแต่เดือนที่ 4 เป็นต้นไป

หมายเหตุ : กรมสรรพากรได้ "ยกเลิก" การส่งเช็คคืนเงินภาษีทางไปรษณีย์แล้ว มีผลตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2562 ที่ผ่านมา โดยจะคืนเงินภาษีในช่องทางอื่น ๆ แทน เนื่องจากปัจจุบันประชาชนหันมาใช้บริการพร้อมเพย์ในการคืนเงินภาษีมากกว่า 70% 


ช่องทางและเงื่อนไขในการขอคืนเงินภาษีมีหลากหลาย ผู้ขอคืนภาษีจึงควรศึกษาและทำความเข้าใจแต่ละเงื่อนไขให้ถูกต้องชัดเจน เพื่อให้การขอคืนเงินภาษีเป็นไปด้วยความสะดวกรวดเร็ว หากมีข้อสงสัยหรือติดขัดขั้นตอนใด สามารถโทรไปปรึกษาได้ที่สายด่วนศูนย์บริการข้อมูลสรรพากร 1161





ที่มาข้อมูล

  • การขอคืนเงินภาษีอากร:https://www.rd.go.th/56243.html