10 ทักษะดิจิทัลที่ทำให้นักเรียนมีงานทำทันทีในปี 2022
1921 views | 30/03/2022
Copy link to clipboard
Apple W.
Content Creator

ทักษะด้านดิจิทัล (Digital Skills) คืออะไร มีความสําคัญและจําเป็นต่อศตวรรษที่ 21 อย่างไร เมื่อทักษะดิจิทัลไม่เพียงแต่เป็น skill ที่ต้องมีใน resume เท่านั้น แต่ยังเป็นสิ่งจำเป็นที่น้อง ๆ วัยเรียนต้องรู้จักและเข้าใจก่อนจบการศึกษา แต่ปัญหาก็คือคนไทยเรายังมีทักษะดิจิทัลไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยอยู่อันดับที่ 38 จากสมาชิกทั้งหมด 63 ประเทศทั่วโลก  



ทักษะดิจิทัล คืออะไร 

องค์การ Unesco ได้ให้ความหมายเกี่ยวกับทักษะดิจิทัลไว้ว่า ความสามารถในการใช้งานเทคโนโลยีดิจิทัลที่มีอยู่ในปัจจุบันได้อย่างหลากหลาย เช่น คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ แท็บเล็ต โปรแกรมคอมพิวเตอร์ และอินเทอร์เน็ต รวมทั้งยังใช้งานแอปพลิเคชันการสื่อสารและสื่อสังคมออนไลน์ให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการสื่อสารและการทำงานร่วมกัน ให้ได้ทั้งความบันเทิงและได้ประโยชน์ทั้งต่อตัวเองและสังคม ดังนี้


  • การใช้ (Use) คือ ทักษะและความสามารถในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ เช่น โปรแกรมประมวลผลคำ (Word processor) เว็บเบราว์เซอร์ (Web Browser) อีเมล (e-mail) และเครื่องมือสื่อสารขั้นสูงขึ้น เช่น โปรแกรมที่ช่วยในการสืบค้นข้อมูล หรือเสิร์ชเอนจิน (Search Engine) และฐานข้อมูลออนไลน์ รวมถึงเทคโนโลยีที่เกิดใหม่ เช่น Cloud Computing และ Internet of Things (IoT)


  • การเข้าใจ (Understand) คือ ทักษะที่ทำให้เราเข้าใจและประเมินสื่อดิจิทัล เพื่อให้สามารถตัดสินใจเกี่ยวกับกิจกรรมที่ทำและพบบนโลกออนไลน์ ทำให้เข้าใจและตระหนักว่าเทคโนโลยีเครือข่ายมีผลกระทบต่อพฤติกรรม ความเชื่อและความรู้สึกเกี่ยวกับโลกรอบตัวของเราอย่างไร เราควรพัฒนาสื่อต่าง ๆ อย่างไรเพื่อให้มีประสิทธิภาพและแก้ไขปัญหาได้ เช่น การใช้ Big data analytics 


  • การสร้าง (Create) คือ ทักษะในการผลิตเนื้อหาและการสื่อสารอย่างมีประสิทธิภาพผ่านทางสื่อดิจิทัลประเภทต่าง ๆ การสร้างเนื้อหาด้วยการใช้ Rich Media เช่น ภาพ วิดีโอ และเสียง ตลอดจนความสามารถในการมีส่วนร่วมกับ Web 2.0 อย่างมีประสิทธิภาพและมีความรับผิดชอบ เช่น การเขียน Blog การแชร์ภาพหรือวิดีโอ รวมถึงการใช้ Social Media รูปแบบต่าง ๆ เช่น TikTok, Instagram, YouTube เป็นต้น 



ในอดีตที่ผ่านมาเมื่อพูดถึงทักษะที่สำคัญ เราจะเน้นเรื่องความฉลาดหรือ IQ ความฉลาดทางเชาว์ปัญญา และ EQ ความฉลาดทางอารมณ์ แต่ในยุคนี้ที่เราเป็นพลเมืองดิจิทัลเต็มรูปแบบ นอกจากจะต้องมีทั้ง IQ และ EQ แล้ว ก็ควรต้องมี DQ หรือความฉลาดที่จะใช้และอยู่กับเทคโนโลยีให้ได้ด้วย แต่ปัญหาก็คือคนไทยเรายังอ่อนเรื่องทักษะดิจิทัลแม้จะเข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้ค่อนข้างมากถึง 75% ของประชากรทั้งหมด


คนไทยใช้อินเทอร์เน็ตเฉลี่ย 4 ชม. 57 นาที แต่กลับมีทักษะดิจิทัลอยู่ที่อันดับ 38 จาก 63 ประเทศ


จากการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันทางดิจิทัล (World Digital Competitiveness Ranking 2021) โดยสถาบัน International Institute for Management Development (IMD) พบว่าคนไทยมีความพร้อมด้านดิจิทัลไม่สูงนักเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยอยู่อันดับที่ 38 จากสมาชิกทั้งหมด 63 ประเทศทั่วโลก สะท้อนถึงปัญหาในการเตรียมกำลังแรงงานไทยเพื่อรองรับการทำงานในอนาคต เพราะประเทศที่มีความสามารถในการแข่งขันด้านดิจิทัลสูง รายได้โดยเฉลี่ยต่อหัวประชากรจะสูงตามเช่นกัน 



10 ทักษะดิจิทัลที่ทำให้นักเรียนมีงานทำทันทีในปี 2022  


1. Social Media

ปัจจุบันมีผู้ใช้งานโซเชียลมีเดียอยู่ที่ 4.2 พันล้านคนทั่วโลก ในจำนวนนี้มี 4.15 พันล้านคนใช้งานบนมือถือ ตัวเลขเหล่านี้แสดงให้เห็นว่าจำนวนผู้ใช้โซเชียลทั่วโลกเพิ่มขึ้น 13.2% ในเวลาเพียงปีเดียวและไม่มีวี่แววว่าจะลดลง ทำให้ความสามารถในการเข้าใจและใช้โซเชียลมีเดียเป็นทักษะดิจิทัลที่สำคัญมาก 


หลายคนต้องเข้าใจวิธีการใช้งานโซเชียลมีเดีย แอปต่าง ๆ รวมทั้งวิธีการทำการตลาดบนโซเชียลมีเดียได้ โดยต้องเข้าใจจุดเด่นของแพลตฟอร์มต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด เช่น YouTube ไปจนถึง TikTok ที่กำลังมาแรง ว่าทำงานยังไง วัยไหนบ้างที่ใช้แอปเหล่านี้ และแต่ละแอปมีฟีเจอร์อะไรที่เด่น ๆ เป็นต้น

  


2. Search Engine Marketing (SEM)

นอกเหนือจากโซเชียลมีเดียแล้ว Search Engine Marketing (SEM) เป็นหนึ่งในทักษะดิจิทััลที่จำเป็นมากในการทำงานยุคดิจิทัล เพราะเป็นเครื่องมือที่ต้องพึ่งพาในการทำธุรกิจ เราต้องรู้ว่าผู้ใช้อินเทอร์เน็ต 81% ค้นหาผลิตภัณฑ์หรือบริการเพื่อซื้อทางออนไลน์ โดย Google คิดเป็น 70% ของการเข้าชมนั้น เป็นต้น เพื่อที่จะหาช่องทางที่ดีที่สุดในการโปรโมทสินค้าหรือบริการ 


นักเรียนที่มีประสบการณ์และเข้าใจการทำงานของ SEM จะได้เปรียบในการทำงานยุคดิจิทัล หากใครสามารถทำการตลาดผ่านเครื่องมือค้นหาบนอินเทอร์เน็ตเพื่อเพิ่มอันดับ Ranking บนระบบ Search Engine ที่นิยมได้ เช่น Google, Bing, Yahoo โดยใช้ Keyword เป็นตัวกำหนดขอบเขตก็จะสามารถเอาชนะคู่แข่งและเพิ่มเงินเดือนให้สูงขึ้นได้ง่าย ๆ 



3. Data Analytics

การวิเคราะห์ข้อมูลเป็นทักษะดิจิทัลที่สำคัญไม่เป็นรองใคร เพราะในการทำงานแต่ละครั้งไม่สามารถวางแผนได้จากสัญชาตญาณที่ไร้ความน่าเชื่อถือของคนใดคนหนึ่ง การวิเคราะห์ข้อมูลจึงเป็นศาสตร์ที่สำคัญเพื่อช่วยในด้านธุรกิจหรือตามวัตถุประสงค์อื่น ๆ ที่ต้องการ ซึ่งเริ่มต้นจากความสามารถของเราในการนำข้อมูลเหล่านั้นมาให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมจะประมวลผลได้โดยเทคโนโลยีหรือชุดคำสั่งและแบบจำลองที่สร้างขึ้น เพื่อนำข้อมูลที่ได้ผ่านการวิเคราะห์แล้วมาใช้วางแผนต่อไป


แอปพลิเคชัน Uber ใช้ Data analytics ช่วยในการตัดสินใจแบบอัตโนมัติเพื่อการปรับราคาค่าโดยสาร หากมีความต้องการสูงค่าโดยสารก็จะสูงตามไปด้วย เช่น ตอนเกิดเหตุการณ์จับตัวประกันกลางกรุงซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย เมื่อปลายปี 2014 อัตราค่าโดยสารของ Uber ในย่านดังกล่าวพุ่งสูงขึ้น 4 เท่าเมื่อเทียบกับอัตราปกติเพราะทุกคนอยากจะเดินทางกลับบ้านโดยเร็ว 



4. Content Marketing 

เราอาจจะคุ้นเคยกับการทำคอนเทนต์ไปแล้ว แต่ต้องรู้ว่าคอนเทนต์มีหลายรูปแบบด้วยกัน เช่น บล็อกโพสต์ วิดีโอ พอดแคสต์ อินโฟกราฟิก หรือแม้แต่การอัปเดตสถานะบนโซเชียลมีเดีย ซึ่งหลัก ๆ ก็คือการทำเนื้อหาให้มีคุณภาพที่สุด สมบูรณ์แบบที่สุด เพื่อให้ลูกค้าเข้าใจประโยชน์ของผลิตภัณฑ์หรือบริการ  


เนื้อหามีความสำคัญในการสร้างแบรนด์และสร้างผู้มีอิทธิพลทางความคิด หรือที่เรารู้จักกันดีว่า Influencers แต่การทำเนื้อหาให้ดีอย่างเดียวอาจไม่ประสบความสำเร็จแล้วในยุคดิจิทัล เพราะการทำ Content (เนื้อหา) + Marketing (การตลาด) จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพให้เนื้อหาโดดเด่นได้มากกว่า เช่น ต้องใส่คำค้นหาหลักเท่าไหร่ ใส่ตรงไหนเพื่อให้ลูกค้าหาเราเจอ เป็นต้น 



5. Email Marketing

อีเมลเป็นหนึ่งในวิธีที่ดีที่สุดในการต้อนรับลูกค้าและรักษาลูกค้า แม้อีเมลจะเป็นวิธีการทำการตลาดที่เก่าแก่ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่จะลดความสำคัญได้ เพราะคนเราอาจเปลี่ยนบัญชีโซเชียลมีเดียหรือที่อยู่บ้าน แต่คนเรามักจะไม่เปลี่ยนที่อยู่อีเมล นั่นเป็นเหตุผลที่ Email Marketing เป็นหนึ่งในทักษะดิจิทัลที่ต้องรู้ว่าทำอย่างไร มีความสำคัญอย่างไรต่อการทำงาน 


ไม่ว่าจะเป็นการสร้างยอดขาย การโปรโมทสินค้าใหม่ การจัดกิจกรรมโปรโมชั่น การให้ส่วนลด การส่งข่าวประชาสัมพันธ์ หรือการสร้าง Traffic ให้กับเว็บไซต์ล้วนแล้วแต่จะสำเร็จได้ง่าย ๆ ด้วยการทำ Email Marketing การส่งเมลง่าย ๆ อาจไม่ใช่เรื่องง่ายเมื่อต้องบวกการทำการตลาดลงไปด้วย และหากเราทำได้ เราก็จะโดดเด่นกว่าผู้เข้าแข่งคนอื่น ๆ 



6. Mobile Marketing

ตามรายงานของ We Are Social และ Hootsuite's Digital ปี 2021 ระบุว่าการเชื่อมต่อด้วยมือถือยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดย 97% ของประชากรโลกใช้โทรศัพท์มือถือ และ 96% ของการเชื่อมต่อที่ใช้งานอยู่ทั้งหมดมาจากสมาร์ทโฟน เนื่องจากปัจจุบันปริมาณการใช้สมาร์ทโฟนเอาชนะการใช้งานเดสก์ท็อป (64%) แม้แต่ Google ยังยกเอามือถือเป็นดัชนีหลักในการรวบรวมข้อมูลหน้าเว็บและจัดลำดับความสำคัญของเนื้อหา 


ทักษะดิจิทัลที่สำคัญนี้อาจเป็นข้อได้เปรียบสำหรับนักเรียนที่กำลังเรียนอยู่ให้ศึกษาความเปลี่ยนแปลงความแตกต่างระหว่างการแสดงหน้าเว็บของมือถือและคอมพิวเตอร์ หรือที่เราเรียกว่า Mobile-friendly web app หรือทักษะ UX/UI Design เพื่อที่จะให้ผู้ใช้มือถือแฮปปี้กับการท่องเว็บที่สุดเท่าที่จะทำได้  



7. Strategy & Planning

ธุรกิจไหนก็ตามที่มีการใช้ Strategy & Planning ในการดำเนินธุรกิจมักจะสามารถวางแผนได้อย่างรอบคอบในระยะยาว แทนที่จะวางแผนแบบสุกเอาเผากินหรือเฉพาะกิจมาก ๆ ก็อาจจะพลาดเพราะไม่สามารถที่จะมองเห็นหรือวิเคราะห์ถึงจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคในการสร้างแบรนด์ให้สำเร็จได้ 


ยกตัวอย่างเช่น การสร้าง KPIs เพื่อนำมาใช้ในการประเมินผลและวัดความสำเร็จให้เป็นตัวเลขหรือปริมาณที่ชัดเจน โดยดัชนีชี้วัดความสำเร็จนี้สามารถแสดงให้เห็นถึงศักยภาพของทีมและสามารถวัดผลงานหรือโปรเจกต์ว่าประสบความสำเร็จตามวัตถุประสงค์แค่ไหน หากไม่ตรงตามที่ต้องการก็จะได้มองเห็นและวางแผนใหม่เพื่อที่จะได้เข้าใกล้เป้าหมายมากขึ้น 

 


8. Social Selling

ปฏิเสธไม่ได้เลยว่ากิจกรรมบนโซเชียลมีเดียส่วนใหญ่เกิดขึ้นเพื่อการขายของ ปัจจุบันการขายของออนไลน์ได้กลายมาเป็นธุรกิจที่เติบโตขึ้นอย่างฉุดไม่อยู่ ผู้คนรักที่จะซื้อของออนไลน์จนธุรกิจต่าง ๆ เริ่มเข้าใจถึงความสำคัญของการขายของออนไลน์ด้วยการลงทุนในเทคโนโลยี Sales Stack เช่น เครื่องมือติดตามอีเมล แอปเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน และซอฟต์แวร์ข่าวกรองการขาย  


แม้เราจะไม่ได้เป็นพ่อค้าแม่ค้าออนไลน์ แต่จะเป็นข้อได้เปรียบหากเรารู้วิธีการขายของออนไลน์ให้ทำยอดขายได้เยอะ ๆ วิธีการนำเสนอสินค้าใหม่ ๆ ตามแพลตฟอร์มต่าง ๆ เทคนิคการปิดการขาย การตอบลูกค้าการให้ข้อมูลกับลูกค้าและการออกโปรโมชั่นในเวลาที่ถูกต้อง เหมาะสม เป็นต้น



9. Pay-Per-Click Marketing (PPC)

PPC ก็คือการโฆษณาลงบนแพลตฟอร์มเครื่องมือ Search Engine ต่าง ๆ อย่างเช่น Google, Yahoo เป็นต้น ซึ่งจะอ้างอิงจากการใช้ Keyword ที่คนส่วนมากใช้ในการค้นหา ข้อดีของการทำแบบนี้คือ เราจะเสียเงินแค่จากจำนวนคนที่คลิกเข้าไปดูโฆษณาของเราเท่านั้นเรียกว่า CPC (Cost-per-Click) โดยเจ้าราคาค่า CPC จะขึ้นอยู่กับความนิยมของ Keyword ที่เราใช้ ยิ่งคนค้นหามากราคาก็จะยิ่งสูงไปด้วย 


ความได้เปรียบของทักษะดิจิทัลนี้คือความสามารถในการใช้เครื่องมือเพิ่มความเติบโตทางการตลาดของสินค้าและบริการ ทำให้สินค้าและบริการถูกพบเห็นได้ง่าย เพิ่มโอกาสทางธุรกิจ ไม่เสียเงินโดยเปล่าประโยชน์ และเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้โดยตรง การลงโฆษณาแบบ PPC อาจดูทำง่าย แต่เรื่องง่าย ๆ นี่แหละที่หากไม่เข้าใจก็อาจทำให้เสียโอกาสในการเข้าทำงานได้ง่าย ๆ เช่นกัน



10. Video

วิดีโอมีวิวัฒนาการจากการเป็นเพียงแค่สื่อบันเทิงเพื่อฆ่าเวลา แต่ตอนนี้วิดีโอกลับกลายเป็นเครื่องมือที่สำคัญมากที่สุดในการทำการตลาดปัจจุบัน YouTube เป็นแพลตฟอร์มที่ทรงพลังและมีอิทธิพลมากที่สุดในส่วนของวิดีโอ ในขณะที่ TikTok และ Instagram ก็เริ่มไล่หลังขึ้นมามีอิทธิพลไม่น้อยกว่า YouTube  


ทำไมวิดีโอถึงได้รับความนิยม ? เพราะวิดีโอเป็นเนื้อหาที่ดูง่ายกว่า และครอบคลุมเนื้อหามากกว่ารูปแบบอื่นเช่น Blog นอกจากนี้ยังให้ความบันเทิงและดึงดูดใจคนรุ่นมิลเลนเนียลมากขึ้น ทำให้โฆษณา สินค้า และแบรนด์ต่าง ๆ ต้องการบุคลากรที่เข้าใจการทำวิดีโอ การตัดต่อวิดีโอในมือถือเสริมยอดขายให้ปังมาร่วมสร้างธุรกิจและทำงานไปด้วยกัน 



ใครสนใจเรียนคอร์สตัดต่อวิดีโอด้วยมือถือสมาร์ทโฟน สั่งสมทักษะดิจิทัลที่สอนตั้งแต่การคิดคอนเทนต์ ทำวิดีโอเรื่องไหนดีถึงจะมีคนดู เทคนิคการถ่ายและการตัดต่อวิดีโอด้วยมือถือทั้งแนวตั้งและแนวนอน ผ่านแอปพลิเคชัน KineMaster รวมไปถึงการแต่งรูป และทำปกคลิปด้วยมือถือ ผู้เรียนสามารถสร้างคลิปวิดีโอเพื่อใช้งานหรือลงสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ด้วยมือถือเพียงเครื่องเดียว  

เรียนรู้ทักษะดิจิทัลที่สำคัญต่อโลกอนาคต ใครพร้อมแล้ว คลิกที่นี่





ที่มาข้อมูล

  • https://digitalmarketinginstitute.com/blog/10-digital-skills-that-can-make-students-instantly-employable
  • http://lib3.dss.go.th/fulltext/dss_J/2561_66_207_P28-29.pdf
  • https://www.bot.or.th/Thai/Statistics/Articles/Doc_Lib_StatinFocus/DigitalSkillMismatch.pdf