Tip คูลๆ หมั่นดูแลสุขภาพช่วง Work from home
1025 views | 16/11/2021
Copy link to clipboard
Hathaichanok Yimchan
Content Creator


     การทำงานจากที่บ้านหรือ Work from home กลายเป็นวิถีการทำงานของคนยุคใหม่ที่ให้ความยืดหยุ่นคล่องตัวมากขึ้นภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 และมาตรการลดต้นทุนของผู้ประกอบการที่สนับสนุนให้ลูกจ้างทำงานที่บ้านมากขึ้น การทำงานจากระยะไกลเป็นประโยชน์หลายด้าน แต่หลายคนทำงานที่บ้านจนลืมเวลา รักษาสมดุลระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวไม่ได้ทำให้สุขภาพพังไม่รู้ตัว

     เนื่องจากทำงานจากที่บ้านเส้นแบ่งระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวไม่ชัดเจน ส่งผลให้หลายคนเสพติดงาน ทำให้ดวงตา สมองและร่างกายเกิดความอ่อนล้า เนื่องจากทำงานตลอดเวลาส่งผลให้เกิดความเครียดสะสม และขาดการพักผ่อนอย่างเพียงพอ ทำให้ผลงานออกมาไม่ดี ดังนั้นเพื่อให้งานและสุขภาพเกิดความบาลานซ์ ถึงเวลาต้อง ดูแลสุขภาพ ตนเองมากขึ้นแล้ว วันนี้เรามีเคล็ดลับการรักษาสุขภาพที่ดีและงานมีประสิทธิผลมาแนะนำผู้ที่ทำงานจากที่บ้าน


1.ลงทุนสร้างสิ่งแวดล้อมในการทำงาน

     เพราะการทำงานจากที่บ้านไม่ใช่เรื่องง่ายเสมอไป เราต้องปรับตัวกับการทำงานรูปแบบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม จึงขอแนะนำให้เริ่มจากการสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมโดยจัดพื้นที่ทำงานแยกออกเป็นส่วนตัว เช่น เลือกมุมใดมุมหนึ่งของบ้านก็ได้ที่มีแสงสว่างอย่างเพียงพอ ตั้งโต๊ะทำงานใกล้หน้าต่างรับแสงสว่างจากธรรมชาติเพื่อให้สบายตาที่สุด กรณีที่พื้นที่จำกัด จำเป็นต้องตั้งโต๊ะทำงานในมุมอับไม่มีแสงธรรมชาติ ควรติดหลอดไฟเป็นตัวช่วยเพิ่มความสว่างเพื่อกระตุ้นให้เกิดความกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น เนื่องจากต้องนั่งทำงานวันละหลายชั่วโมง ลงทุนซื้อเฟอร์นิเจอร์สำนักงานดี ๆ ที่ปรับท่าทางในการนั่งให้เหมาะกับสรีระได้ เก้าอี้นั่งสบายรองรับเอวและหลังแนบกับพนักเก้าอี้ สามารถนั่งตัวตรงและเท้าราบกับพื้นอย่างสะดวกสบายไม่ปวดเมื่อยเวลานั่งทำงานนาน ๆ



2. กำหนดเวลาพักเพื่อให้ร่างกายได้เคลื่อนไหว

     ข้อดีข้อเสีย Work from home มีทั้งสองด้าน เพราะแม้การทำงานที่บ้านมีเวลาเป็นอิสระแต่อาการออฟฟิศซินโดรมอาจหนักขึ้นเพราะการนั่งเป็นเวลานานหรือท่านั่งไม่เหมาะสมทำให้เกิดความเมื่อยล้า ทั้งปัญหาจากการนั่งทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมงโดยไม่เปลี่ยนท่าทาง ทำให้เกิดอาการปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า ต้นคอ ไหล่และหลัง หากละเลยไม่เอาใจใส่อาจกลายเป็นอาการบาดเจ็บทางระบบกระดูกและกล้ามเนื้อในระยะยาว แนะนำให้จัดตารางเวลาหยุดพักเป็นระยะเพื่อลดอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อพร้อมกับผ่อนคลายกล้ามเนื้อดวงตา ช่วยให้มีประสิทธิภาพการทำงานมากขึ้น ซึ่งการลุกเปลี่ยนอิริยาบถหรือเคลื่อนไหวร่างกายบ่อย ๆ ช่วยได้ดี เช่น ลุกขึ้นและยืดกล้ามเนื้อทุกชั่วโมง หยุดพักไปเดิน 15 นาทีวันละ 1-2 ครั้ง ช่วยลดอาการขาบวมและช่วยให้การไหลเวียนเลือดดีขึ้น 


3.เริ่มต้นวันใหม่ด้วยการออกกำลังกาย

     การทำงานที่บ้านรู้สึกเครียดมากกว่าทำงานในสำนักงาน ผิดจากความคาดหมายของหลายคนที่คิดว่าทำงานที่บ้านแล้วจะสบายไม่ต้องเดินทาง กลายเป็นว่าทำงานที่บ้านกลับเหน็ดเหนื่อยและเครียดกว่าเดิม เพราะแบ่งเวลาส่วนตัวกับเวลาทำงานได้ยาก เมื่อต้องมาทำงานที่บ้านการจัดมุมทำงานเป็นเรื่องสำคัญ แต่หลายคนไม่มีความพร้อมในด้านสถานที่และไม่มีเวลาพักที่แน่นอน โดยเฉพาะถ้าปรับตัวหรือจัดการเวลาได้ไม่ดี ทำงานไปเรื่อย ๆ ทั้งวันเกิดความเครียดต่อเนื่องหรือระหว่างทำงานถูกรบกวนสมาธิเป็นพัก ๆ ขาดแรงจูงใจไม่สามารถทำงานให้บรรลุเป้าหมายตามที่ตั้งใจทำให้ยิ่งเครียดมากขึ้น ดังนั้นต้องทำความเข้าใจสถานการณ์แล้วรับมือกับความเครียดที่เกิดขึ้นเพื่อลดความเหนื่อยล้าทางจิตใจ ซึ่งการออกกำลังกาย มีประโยชน์ทั้งทางร่างกายและจิตใจจึงแนะนำให้เริ่มต้นวันใหม่ด้วยการทำสมาธิให้จิตใจสงบ ถ้าการทำสมาธิไม่ใช่แนวของคุณ ลองเดินตอนเช้า เล่นโยคะ ออกกำลังกายให้ร่างกายกระฉับกระเฉงและสมองปลอดโปร่ง ช่วยให้วางแผนใช้เวลาทำงานเต็มรูปแบบ จัดเวลาพักระหว่างทำงานและมีเวลาพักผ่อนจริง ๆ



4.กินอาหารเพื่อสุขภาพ

     Work from home เปลี่ยนการใช้ชีวิตของคนเรา เมื่อต้องเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในการทำงาน ไม่เพียงทำงานจนลืมกินอาหารไม่ตรงเวลา ส่งผลให้ร่างกายเหนื่อยล้า เกิดความเครียด ท้องผูก กินข้าวไม่ตรงเวลาทำให้ระบบเผาผลาญในร่างกายทำงานช้าลง ความอยากอาหารมื้อต่อไปเพิ่มขึ้นทำให้กินมากขึ้นและไม่มีสมาธิในการทำงาน หรือกรณีที่กินจุบจิบตลอดเวลาทำให้น้ำหนักพุ่งเกินพิกัด เสี่ยงเป็นโรคอ้วนและเกิดปัญหาสุขภาพในระยะยาว รู้ปัญหาอย่างนี้แล้วต้องเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินแบ่งอาหารเป็นมื้อย่อยที่มีสารอาหารครบถ้วนหรือมีของว่างรองท้องระหว่างมื้อจำพวกผลไม้ นม โยเกิร์ต อาหารจำพวกโปรตีนและไฟเบอร์ที่ช่วยให้อิ่มท้องนาน ลดอาหารแปรรูป อาหารที่มีน้ำตาลและเกลือสูง สิ่งสำคัญคือดื่มน้ำอย่างเพียงพอเพื่อป้องกันอาการท้องผูกและอารมณ์แปรปรวนกระทบต่อการทำงาน ดื่มน้ำเปล่าดีที่สุด ดื่มกาแฟและชา หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มเครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม และน้ำผลไม้ที่มีน้ำตาลสูง



     เคล็ดลับด้านสุขภาพสำหรับคนทำงานจากที่บ้านคือการปรับตัวให้มากที่สุด กำหนดตารางเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวแยกให้ชัดเจน รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพและการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ยึดมั่นตามกิจวัตรประจำวันรวมถึงตื่นนอนและเข้านอนเวลาเดิมทุกวัน ที่สำคัญคือต้องให้เวลานอนเพียงพออย่างน้อย 7 ชั่วโมง สิ่งเหล่านี้มีความสำคัญในโลกของการทำงาน ช่วยลดความรู้สึกเครียดที่ต้องอยู่บ้านตลอดเวลา


     Work from home ข้อดีข้อเสียของการทำงานจากที่บ้านหลังการระบาดของไวรัสโควิด-19 การทำงานจากที่บ้านกลายเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อลดความเสี่ยงในการติดเชื้อไวรัส คนส่วนใหญ่ใช้เวลาอยู่บ้านมากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ เห็นได้ชัดว่าการทำงานจากที่บ้านมีประโยชน์มากมาย เปิดโอกาสให้คนทำงานบริหารเวลาอย่างยืดหยุ่นและมีประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มขึ้น


ข้อดีของการทำงานที่บ้าน

  • ความยืดหยุ่นคล่องตัว การทำงานที่บ้านช่วยให้วางแผนการทำงานได้ดี ลดการเดินทาง เพิ่มชั่วโมงทำงาน ปรับเวลาทำงานยืดหยุ่นมากขึ้น มีเวลาดูแลเด็ก ทำงานบ้าน สามารถปรับสมดุลระหว่างงานกับชีวิตส่วนตัวให้เหมาะสม เมื่อทำงานที่ได้รับมอบหมายได้สำเร็จยิ่งได้รับความไว้วางใจจากนายจ้างเพิ่มขึ้น
  • การทำงานที่บ้านในสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบช่วยให้ทำงานมีสมาธิมากกว่าสภาพแวดล้อมในสำนักงานที่มีเพื่อนร่วมออฟฟิศมากมายเข้ามาขัดจังหวะทำให้ขาดโฟกัสในการทำงาน เสียงพูดคุยหรือเสียงโทรศัพท์ที่ดังขึ้นทั้งวันทำให้เสียสมาธิอยู่เสมอ ทำงานไม่เสร็จเสียที ในบ้านที่เงียบจะทำงานได้นานขึ้นและมีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำงานราบรื่นเสร็จรวดเร็วและมีเวลาพัฒนาคุณภาพงาน เรียนรู้เพิ่มทักษะและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ 
  • ทำงานจากที่บ้านใช้เวลาอยู่กับครอบครัวมากขึ้น มีเวลา ดูแลสุขภาพ ครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ที่ดี มีเวลาส่วนตัวและมีเวลาให้กับครอบครัวมากขึ้น ได้ทำอาหารกินเองทั้งปลอดภัยและมีประโยชน์ มีเวลาออกกำลังกายและนอนหลับเพิ่มขึ้น



  • เรียนรู้ที่จะปรับตัวและปรับสมดุลระหว่างงานและชีวิตส่วนตัวให้ดีขึ้น มีเวลาทำกิจกรรมอื่น ๆ ลดความตึงเครียดรู้สึกมีความสุขมากขึ้น ฟื้นฟูสุขภาพดีขึ้น เจ็บป่วยน้อยลง และมีพลังในการทำงานมากขึ้นด้วย
  • เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตทำให้การทำงานและการติดต่อสื่อสารระหว่างเพื่อนร่วมงานง่ายขึ้น จัดการประชุมออนไลน์ที่มีประสิทธิภาพ สามารถเข้าสังคมพบปะพูดคุยแบบเห็นหน้ากันได้โดยไม่ต้องอยู่ใกล้กัน 
  • การทำงานที่บ้านช่วยลดความเครียดและวิตกกังวลเรื่องการสัมผัสเชื้อโรคจากผู้อื่นที่ใช้สถานที่และอุปกรณ์สิ่งของร่วมกัน ไม่มีความเสี่ยงติดเชื้อขณะเดินทาง หลายคนยอมรับว่ากลัวไม่กล้าออกจากบ้าน พยายามหลีกเลี่ยงการไปที่ทำงานหรือการเดินทางไปในที่สาธารณะ


ข้อเสียของการทำงานที่บ้าน

  • ผลกระทบด้านลบต่อร่างกาย ทำงานที่บ้านเหมือนจะสบาย ไม่ต้องตื่นออกจากบ้านแต่เช้ากลับเข้าบ้านดึก แต่ทำไมสุขภาพย่ำแย่กว่าเดิม นั่นเพราะเป็นผลจากการนั่งทำงานติดต่อกันหลายชั่วโมง ทำให้สมองอ่อนล้าและร่างกายอ่อนเพลียเพราะรักษาสมดุลระหว่างเวลาทำงานกับชีวิตส่วนตัวไม่ได้ 
  • ผลกระทบด้านลบต่อสุขภาพจิต หลายคนเปลี่ยนมาทำงานที่บ้านแต่ยังปรับตัวได้ไม่ดีนัก จัดตารางเวลาทำงานไม่ลงตัว ทำงานต่อเนื่องไม่มีเวลาพักหรือไม่มีพื้นที่ให้หยุดพักจึงหยุดคิดเรื่องงานไม่ได้ ความเหนื่อยล้าที่สะสมไว้นาน ๆ ส่งผลให้เกิดความเครียดกระตุ้นให้เกิดอาการซึมเศร้าหรือหมดไฟในการทำงาน
  • การทำงานจากระยะไกลทำให้ติดต่อกับเพื่อนร่วมงานแบบส่วนตัวได้ยากขึ้น หลายคนมักจะอยู่คนเดียวเกือบตลอดเวลาเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว เกิดปัญหาขาดสมาธิและขาดแรงจูงใจในการทำงานเกิดภาวะหมดไฟ แม้จะมีการติดต่อสื่อสารผ่านการ แชทและการติดต่อทีมงานทางออนไลน์แต่หลายคนรู้สึกว่าสื่อสารกับทีมยากกว่าเดิม


     แม้การทำงานจากที่บ้าน ตอบโจทย์การทำงานของคนรุ่นใหม่ แต่ไม่ใช่ว่าทุกงานเหมาะกับการทำงานที่บ้าน ในทำนองเดียวกันไม่ใช่ทุกคนที่ปรับตัวรับมือกับการทำงานที่บ้านได้เหมาะสม กุญแจสำคัญคือความเข้าใจอย่างถ่องแท้ถึงข้อดีและข้อเสียเพื่อปรับตัวในการทำงานและการใช้ชีวิต พยายามบริหารเวลาส่วนตัวและจัดการระบบการทำงานที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ย่อมนับได้ว่าประสบการณ์การทำงานจากที่บ้าน มีประโยชน์ต่อชีวิตและดีต่อสุขภาพอย่างมาก

ที่มาข้อมูล

  • https://www.peacehealth.org/healthy-you/health-tips-working-home
  • https://www.nibusinessinfo.co.uk/content/advantages-and-disadvantages-employees-working-home
  • https://www.unlockmen.com/how-to-balance-work-and-your-personal-life/
  • https://tu.ac.th/thammasat-270764-arts-expert-talk-work-from-home-burnout
  • https://www.scb.co.th/th/personal-banking/stories/tips-for-you/7-advantages-wfh.html