ปูพื้นฐานการเล่นหุ้นแนวเทคนิค ใช้ Indicator ตัวไหนดี
5215 views | 22/03/2022
Copy link to clipboard
Koii Nopnok
Content Creator

สำหรับมือใหม่ที่กำลังหัดเล่นหุ้นแนวเทคนิค และกำลังสงสัยว่าจะใช้เครื่องมือทางเทคนิคหรืออินดิเคเตอร์ (Indicator) ตัวไหนดี บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับ 6 Indicators ยอดฮิตที่นิยมใช้ในการเล่นหุ้น Technical พร้อมกับเข้าใจพื้นฐานเบื้องต้นของการเล่นหุ้นแนวเทคนิค



นักลงทุนแนวเทคนิค (Technical) คือ นักลงทุนที่จะอาศัยข้อมูลราคาหุ้นในอดีต ปริมาณการซื้อขาย และใช้เครื่องมือวิเคราะห์ทางเทคนิคและอินดิเคเตอร์ (Indicator) ต่าง ๆ ในการทำนายทิศทางราคาหุ้น ซึ่งการลงทุนจะเป็นไปตามสัญญาณทางเทคนิค และจำเป็นต้องมีวินัยในการลงทุนมาก ๆ เพราะเมื่อสัญญาณทางเทคนิคบอกว่าซื้อก็ต้องซื้อ

 

ความเชื่อของนักลงทุนแนวเทคนิค


  • เชื่อว่าหุ้นที่วิเคราะห์ได้ควรจะต้องมีเทรนด์ (Trend) และมีปริมาณการซื้อขาย (Volume) สนับสนุน


  • เชื่อว่าราคาได้สะท้อนทุกอย่างไว้หมดแล้ว (The Market Discounts Everything)


  • เชื่อว่าการเคลื่อนไหวของราคามีลักษณะเป็นแนวโน้ม (Prices Move in Trends)


  • เชื่อว่าประวัติศาสตร์ซ้ำรอยเสมอ (History Always Repeats Itselt)

 

สำหรับใครที่เป็นมือใหม่และกำลังหาสไตล์การลงทุนของตัวเองอยู่ เราขอแนะนำให้อ่านบทความนี้และลองทำแบบทดสอบเพื่อดูว่าตัวเองเหมาะกับสไตล์การลงทุนแบบไหน >>คลิกที่นี่<< 




การวิเคราะห์แนวเทคนิค (Technical Analysis) เป็นแนวทางการเล่นหุ้นที่ต้องอาศัยการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวของราคาหลักทรัพย์ในอดีต เพื่อที่จะคาดการณ์ถึงแนวโน้มราคาในอนาคต รวมถึงราคาที่ควรจะซื้อจะขาย ทั้งในระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว 

 

ปัจจัยสำคัญของการวิเคราะห์หุ้นด้วยวิธีการทางเทคนิค คือนักลงทุนต้องมีวินัยในการลงทุน ซื้อเมื่อมีสัญญาณซื้อ หรือไม่รีบขายเพื่อทำกำไรเมื่อยังไม่มีสัญญาณขาย การเล่นหุ้นแนวเทคนิคจึงจำเป็นที่จะต้องใช้เครื่องมือทางคณิตศาสตร์และสถิติหลายประเภทในการวิเคราะห์ ซึ่งเครื่องมือทางเทคนิคพื้นฐานที่จำเป็นและนิยมใช้กัน ได้แก่ กราฟแท่งเทียน, เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่, MACD, RSI และแนวรับแนวต้าน เป็นต้น 



รู้จัก 6 Indicators ที่นิยมใช้


1. แท่งเทียน (CandleStick)

กราฟแท่งเทียนมักนิยมใช้ในการอ่านอารมณ์ของตลาด ศึกษารูปแบบการเปลี่ยนทิศทางของราคา นักลงทุนสามารถคาดเดาเหตุการณ์ล่วงหน้าได้ว่าจะเกิดการปรับฐานของดัชนีหรือราคาหุ้นที่ตัวเองถืออยู่หรือไม่ กราฟแท่งเทียนจะมีหน้าตาคล้าย ๆ แท่งเทียน ประกอบด้วย ราคาเปิด (Open Price) ราคาปิด (Close Price) ราคาต่ำสุด (Low Price) และราคาสูงสุด (High Price) แท่งเทียนสีเขียวคือหุ้นขึ้นหรือราคาปิดสูงกว่าราคาเปิด ส่วนแท่งเทียนสีแดงคือหุ้นลงหรือราคาปิดต่ำกว่าราคาเปิด



2. เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ (Moving Average)

เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ถือเป็นเครื่องมือการวิเคราะห์ที่เข้าใจง่าย และช่วยให้เห็นแนวโน้มการเคลื่อนที่ของราคาหุ้น โดยการนำข้อมูลราคาของการเคลื่อนไหวในแต่ละช่วงเวลา เช่น รายชั่วโมง รายวัน รายสัปดาห์ มาสร้างเป็นเส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ เมื่อราคาและเวลาเคลื่อนไป ข้อมูลของราคาก็จะถูกนำมาคำนวณเพื่อหาค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ไปเรื่อย ๆ โดยมักนิยมนำราคาปิดมาคำนวณ 

 

เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่ที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์หุ้นมี 2 แบบ 

  • เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่อย่างง่าย (Simple Moving Average : SMA) 
  • เส้นค่าเฉลี่ยเคลื่อนที่แบบ Exponential (Exponential Moving Average : EMA)



3. Moving Average Convergence / Divergence (MACD)

MACD เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ที่รวมเอาปัจจัยในการวิเคราะห์โมเมนตัมเข้ากับ Moving Averages เพื่อวัดโมเมนตัมจากความเคลื่อนไหวของราคา โดยจะประกอบด้วยเส้นสามเส้น ได้แก่ MACD Line, Centre Line และ Signal Line มักใช้เพื่อวิเคราะห์ดูทิศทางแนวโน้มของราคาหุ้น



4. Relative Strength Index (RSI)

RSI เป็นเครื่องมือชี้วัดทางเทคนิคที่ใช้สำหรับวัดการแกว่งตัวของราคาว่ามีภาวะการซื้อมากเกินไป หรือการขายมากเกินไป โดยมีหน่วยเป็นเปอร์เซ็นต์ (%) มีค่าอยู่ตั้งแต่ 0 - 100 ซึ่งค่ามาตรฐานที่ใช้กันทั่วไปจะอยู่ที่ 30 และ 70 หากค่า RSI อยู่ในระดับต่ำกว่า 30 จะถือว่าราคาอยู่ในภาวะขายมากเกินไป (Oversold) และหากมากกว่า 70 จะถือว่าราคาอยู่ในภาวะซื้อมากเกินไป (Overbought)



5. Stochastic Oscillator (STO)

STO เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้ในการวิเคราะห์หุ้นที่มีกำลังเคลื่อนไหวขึ้น-ลงในกรอบ Sideway และใช้ดูแนวโน้มซื้อ-ขาย และการบอกจุดซื้อ-ขาย เพื่อการเก็งกำไรในระยะสั้น โดยเส้น %K คือเส้น Stochastic (เส้นสีฟ้า) และเส้น %D คือเส้นค่าเฉลี่ยของ %K (เส้นสีแดง) 



6. แนวรับ-แนวต้าน (Support-Resistance)

ในการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นมักจะพบว่าในแนวโน้มขาขึ้นราคาจะปรับตัวขึ้นไปเรื่อย ๆ และในแนวโน้มขาลงก็จะพบว่าราคาหุ้นลงไปเรื่อย ๆ แต่บางครั้งก็อาจดีดตัวขึ้นไปได้พักหนึ่งจากนั้นก็ลงต่อ ทำจุดต่ำไปเรื่อย ๆ ปรากฏการณ์นี้เรียกว่า “แนวรับ-แนวต้าน” มักนิยมใช้ในการดูสัญญาณซื้อ-ขาย

 

  • แนวรับ คือ ระดับราคาที่ต่ำกว่าราคาในปัจจุบัน หรือเป็นระดับราคาที่มีความต้องการซื้อมาก ถือเป็นแนวรองรับที่ค้ำยันราคาหุ้นอยู่ จะพบบ่อยเมื่อราคาหุ้นได้อ่อนตัวลงมาถึงระดับนี้ก็จะมีแรงซื้อมาก


  • แนวต้าน คือ ระดับราคาที่สูงกว่าราคาปัจจุบัน หรือเป็นระดับราคาที่มีคนต้องการขายมาก แนวต้านจะเปรียบเหมือนกับการต้านไว้ไม่ให้ราคาขึ้นไปอีก



กลยุทธ์การเล่นหุ้นแนวเทคนิคนั้นสามารถใช้เครื่องมือทางเทคนิคได้มากกว่าหนึ่ง เช่น ใช้แท่งเทียนร่วมกับเส้นค่าเฉลี่ย 2 เส้นและ RSI หรือจะใช้เครื่องมือ MACD ร่วมกับเส้นค่าเฉลี่ยก็ได้ เป็นต้น ส่วนโปรแกรมที่ใช้ในการวิเคราะห์ทางเทคนิคก็มีให้เลือกใช้มากมาย เช่น efin, BISNEWS Chart, MetaStock, ASPEN เป็นต้น ซึ่งโปรแกรมที่ใช้ง่ายและเป็นที่นิยมก็คือ efin และ ASPEN

 

สำหรับใครที่อยากเรียนรู้และลงลึกเกี่ยวกับการเล่นหุ้นแนวเทคนิค ขอแนะนำหลักสูตรสอนอ่านกราฟหุ้น ที่ปูพื้นฐานการอ่านกราฟและการใช้ Indicator ตั้งแต่เริ่มต้นไปสู่เทคนิคขั้นสูง เรียนจบแล้วจะเข้าใจการอ่านกราฟราคา มองเห็นเทรนด์ สามารถหาแนวรับ-แนวต้าน หาจุดซื้อ-ขาย พร้อมเทคนิคการคัดเลือกหุ้นที่น่าสนใจจากผู้เชี่ยวชาญตัวจริง



คอร์สสอนลงทุนหุ้นด้วยกราฟเทคนิคจากมือใหม่สู่มืออาชีพ >> https://vcourse.ai/courses/180




ที่มาข้อมูล

  • https://www.set.or.th/set/education/html.do?name=decode_strategy_invest_32&innerMenuId=19
  • https://www.set.or.th/set/education/html.do?innerMenuId=19&name=decode_strategy_invest_20
  • https://knowledge.bualuang.co.th/knowledge-base/howtouseindicators/
  • https://knowledge.bualuang.co.th/knowledge-base/stochastic-oscillator/
  • https://knowledge.bualuang.co.th/knowledge-base/supportresistance/
  • เม่าปีกบาง.(2555).มือใหม่เล่นหุ้นแนวเทคนิคฉบับเริ่มต้นจนเล่นจริง.กรุงเทพฯ:อินส์พัล