Social Network Trend ในปี 2022
2212 views | 14/11/2021
Copy link to clipboard
admin
Content Creator


ในปี 2022 ที่จะมาถึงนี้มีการคาดคะเน Social Network Trend ที่จะเกิดขึ้นและอาจจะมาแทนที่หรือแย่งส่วนแบ่งพื้นที่บนโลกออนไลน์จากโซเชียลมีเดียรูปแบบเดิมที่มีอยู่ ดังที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วเหมือนที่ผ่าน ๆ มา อีกทั้งคงไม่มีใครคาดคิดมาก่อนว่าการแพร่ระบาดของ COVID-19 ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้จะเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของมนุษย์ทุกคน โดยเฉพาะพฤติกรรม เศรษฐกิจและการตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยเฉพาะการตลาดและการแข่งขันบนโลกออนไลน์ ซึ่งหากใครที่ไม่ได้ติดตามหรืออยู่ในแวดวงเครือข่ายสังคมออนไลน์ ก็แทบจะไม่รู้ได้เลยว่าเทรนด์บนโลกออนไลน์ไปถึงไหนกันแล้ว


Social Network คือ เครือข่ายสังคมออนไลน์ ที่เกิดจากการรวมตัวกันของผู้คน องค์กรต่าง ๆ ผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต โดยมีเว็บไซต์, แอปพลิเคชัน เป็นตัวเชื่อมโยงให้เกิดกิจกรรม หรือให้ทุกคนทำกิจกรรมร่วมกันและมีการตอบสนองจากบุคคลที่รู้จักและไม่รู้จักผ่านข้อความ ปุ่มแสดงความรู้สึก สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารต่าง ๆ ปัจจุบันมีผู้ให้บริการ social network เกิดขึ้นจำนวนมาก เช่น Facebook, Youtube, Twitter, Pinterest, Instagram เป็นต้น โดยเทรนด์ใหม่ปี 2022 จะเป็นอย่างไรนั้นไปติดตามดูกันเลย



1. Remixing UGC

Remixing UGC หรือ Remixing User Generated Content คือ การสร้างคอนเทนต์ผ่านแพลตฟอร์มด้วยสไตล์ของตนเอง หรือก็คือการที่ User ใช้ฟิลเตอร์, เทมเพลต, เสียงเพลง ฯลฯ ที่มีบนแพลตฟอร์มมาออกแบบอย่างสร้างสรรค์ให้เป็นแบบฉบับของตนเอง จนเกิดพฤติกรรมเลียนแบบและทำตามกันดังจะเห็นได้จากแอปพลิเคชัน TikTok ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างสูงในปีที่ผ่านมา เช่น ท่าทางการเต้น , สถานที่, เพลงที่ใช้, สติกเกอร์ หรือฟิลเตอร์แปลก ๆ ที่ส่งต่อกันจนเกิดเป็นไวรัล  

จากความเห็นของผู้เชี่ยวชาญด้าน Social Network Trend คาดว่าในปี 2022 ที่จะมาถึงนี้จะได้เห็นการทำ Remixing UGC ผ่านแบรนด์ใหญ่ ๆ อย่างแน่นอน ใครที่กำลังทำการตลาดบนโลกออนไลน์ หากไม่อยากตกเทรนด์ ก็เตรียมตัวรับมือกับเทรนด์ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตนี้ได้เลย


2.Meme 

เชื่อว่าหลายคนที่กำลังอ่านบทความนี้ยังไม่รู้คำศัพท์ใหม่บนโลกออนไลน์นั่นคือ Meme (อ่านว่า มีม) หรือ Memetic Media คือมุกตลก ขำขัน หรือสร้างความบันเทิง เสียงหัวเราะให้กับคนที่เสพสื่อประเภทนี้ ซึ่งปัจจุบันได้รับการตอบสนองจากสังคมออนไลน์จำนวนมากจนเกิดเป็นไวรัลและแพร่กระจายออกไปอย่างรวดเร็ว เนื่องจากสร้างเสียงหัวเราะ ตลกขบขันให้แก่ผู้ที่พบเห็นได้ ดังจะเห็นได้จากการส่งข้อความหรือส่งต่อ Meme ให้กันผ่านแอปพลิเคชันต่าง ๆ ซึ่งจากสถิติจะมีการส่ง Meme ให้กันอย่างน้อยสัปดาห์ละ 1 ครั้ง โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อายุตั้งแต่ 12-35 ปี แม้การสร้างคอนเทนต์แบบ Memetic Media จะสามารถสร้างความบันเทิงให้แก่ผู้เสพสื่อจำนวนมากได้ แต่ก็ควรระมัดระวังเรื่องการนำไปใช้ที่เหมาะสมเพราะอาจสร้างภาพลักษณ์ในแง่ลบให้กับแบรนด์ได้เช่นกัน


3.4Cs กับการตลาดออนไลน์หลัง COVID-19



จากที่เกริ่นไว้ในช่วงต้นเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ COVID-19 คือการกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงหลาย ๆ อย่าง โดยเฉพาะทางด้านสังคม ซึ่งทุกคนจะตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อตนเองและผู้อื่นมากยิ่งขึ้น จนเกิดการสร้างมาตรฐานใหม่ทางสังคม ซึ่ง 4Cs นี้ถือเป็นพื้นฐานของมาตรฐานใหม่ ๆ ที่จะตามมาในอนาคตที่ประกอบไปด้วย  

  • Community ภายหลังจากมาตรการล็อคดาวน์ ทุกคนหันมาใช้สื่อออนไลน์เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ ข้อมูลกันมากขึ้นจนเกิดเป็นชุมชนออนไลน์ นำมาซึ่งการตลาดหรือการซื้อ-ขายสินค้าเฉพาะกลุ่มคนที่มีความคิดเห็นหรือชื่นชอบในสิ่งเดียวกัน เช่น กลุ่มไม้ด่าง , กลุ่มแคคตัส , กลุ่มแฟนคลับศิลปินต่าง ๆ เป็นต้น
  • Contactless การลดการสัมผัส ปัจจุบันประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมไร้เงินสดกันมากขึ้น เมื่อสถาบันทางการเงินออกแอปพลิเคชันให้ผู้ใช้สามารถสร้างแบบฟอร์มในการชำระเงินผ่านแอปพลิเคชันได้ เช่น QR Code , PromptPay จะเห็นได้ว่าที่ผ่านมาในช่วงโควิดที่การใช้งานผ่านแอปพลิเคชันทางการเงินมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ก็เพื่อลดการสัมผัสและป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสได้ อีกทั้งสร้างความสะดวกให้แก่ร้านค้าได้เป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการทอนเงินให้แก่ลูกค้า
  • Cleanliness การสร้างสุขอนามัยและความสะอาด ต่อไปนี้ไม่ว่าจะเป็นร้านค้า ร้านอาหาร ที่พัก โรงแรม บริษัทต่าง ๆ จะเน้นเรื่องความสะอาดมากยิ่งขึ้น การเข้าใช้บริการอาจจะต้องขอตรวจสอบในเรื่องของการได้รับวัคซีนของลูกค้า หรือผ่านการตรวจ Covid แล้วหรือยัง เพื่อป้องกันการติดเชื้อและแพร่ระบาดของไวรัส การทำความสะอาดสถานที่ทำงานถี่ขึ้น หรือการเข้าใช้บริการร้านอาหารลูกค้าเองอาจต้องพิจารณาถึงความสะอาดมากยิ่งขึ้นเพื่อป้องกันตนเอง
  • Compassion การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น จะเห็นได้ว่าบนสื่อ social network คือ การแสดงความเห็นอกเห็นใจ ให้กำลังใจซึ่งกันและกันมากยิ่งขึ้น ทั้งจากคนรู้จักและไม่รู้จัก เมื่อคน ๆ นั้น กำลังประสบปัญหาเรื่องแย่ ๆ ในชีวิต ซึ่งสามารถทำให้แบรนด์มีภาพลักษณ์ที่ดีขึ้น


4.การตลาดเชิงสนทนา


การตลาดเชิงสนทนา หรือ Conversational Marketing คือ การเน้นการพูดคุยระหว่างผู้ซื้อและผู้ขายมากยิ่งขึ้น โดยอาจเปิดให้มีการโต้ตอบผ่านรายการเพื่อสร้างความใกล้ชิด มีความเป็นกันเอง น่าเชื่อถือและสร้างภาพลักษณ์ที่ดีต่อแบรนด์ได้ โดย Conversational Marketing ไม่จำเป็นต้องพูดคุยเพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการส่งข้อความ สติกเกอร์ อิโมชันต่าง ๆ เพื่อตอบคอมเมนต์ได้ ซึ่งคาดว่าการพูดคุยจะเป็นอีกหนึ่งเทรนของการตลาดออนไลน์ในปี 2022 นี้ แม้ที่ผ่านมาหลายแบรนด์จะเลือกใช้ chatbot เพื่อสร้างการตอบสนองให้แก่ลูกค้า แต่การพูดคุยโดยคนจริง ๆ จะแตกต่าง โดยเฉพาะความเป็นธรรมชาติในการสนทนาระหว่างคนสองคน ไม่แน่ว่าในอนาคตจะมีการพัฒนา AI ให้สามารถโต้ตอบกับลูกค้าให้มีความธรรมชาติมากยิ่งขึ้นก็เป็นได้ ดังจะเห็นได้จาก Facebook กำลังพัฒนาโดยยึดองค์ประกอบ 3 อย่างนี้ ไว้ดังนี้ 

  • Knowledge ความรู้จริง ในสิ่งที่ลูกค้าถามหา ยิ่งมีความรู้มากเท่าไร ยิ่งสร้างความน่าเชื่อถือให้กับแบรนด์มากยิ่งขึ้น
  • Empathy สร้างความรู้สึกดี การเอาใจใส่และเข้าใจลูกค้า จะสามารถตอบโจทย์ได้
  • Personality มีบุคลิกที่น่าจดจำ หากเป็นไปในทิศทางเดียวกับแบรนด์ ก็จะช่วยให้คนจำแบรนด์ได้ง่ายยิ่งขึ้น


5.Social Gaming 

ในช่วงที่ COVID-19 เกิดการระบาด เกมออนไลน์มีการเติบโตเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะเกมที่ผู้เล่นสามารถเข้าใช้งานได้หลาย ๆ คน หรือ Social Gaming เพราะนอกจากจะสร้างความสนุกสนานให้แก่ผู้เล่นแล้ว ยังสามารถสื่อสาร โต้ตอบกันได้ด้วย เช่น Roblox , Among Us จนเกิดสตรีมเมอร์เกมเกิดขึ้นจำนวนมากทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ บางแบรนด์มีการสตรีมเกมหรือเลือกใช้สตรีมเมอร์ที่มีผู้ติดตามจำนวนมากช่วยในการโฆษณาสินค้าให้ด้วย ยิ่งในอนาคตอันใกล้นี้หลังจากที่ Facebook ประกาศพัฒนา Metaverse อย่างเต็มที่ยิ่งเป็นที่น่าจับตามองเป็นอย่างมากว่าโลกเสมือนจริงนั่นจะเหมือนกับ Social Gaming หรือไม่


6.Nostalgia Marketing 

“การโหยหาถึงอดีต” ไม่ว่าจะผ่านร้อนผ่านหนาวมีกี่สิบปี ทุกคนย่อมคิดถึงอดีตที่แสนสุขอย่างแน่นอน โดยเฉพาะการทำตลาดที่เล่นกับความรู้สึกที่แสนหวาน แม้โลกของเราจะเปลี่ยนไปแปลงรวดเร็วแค่ไหนก็ตาม แต่ก็ไม่เคยลืมอดีตที่น่าจดจำได้ เชื่อหรือไม่ว่าในช่วงของการแพร่ระบาด COVID-19 ที่ผ่านมามีการค้นหาคำที่เกี่ยวข้องกับอดีต หรือความรู้สึกโหยหาเพิ่มมากถึง 88% อาจเพราะมีความประทับใจบางอย่างในช่วงเวลานั้น เช่น เพลงเก่า, หนังเก่า หรือสถานที่ที่เคยไป เป็นต้น ดังจะเห็นได้จากผู้จัดงานบางแห่งมักหยิบยกธีมงานย้อนยุคเพื่อให้กลุ่มคนได้เข้ามาร่วมรำลึกและซึมซับความประทับใจในอดีตร่วมกัน ซึ่งแบรนด์ที่ต้องการทำการตลาดประเภทนี้ ก็อย่าลืมที่จะใช้เครื่องมือจาก Google เพื่อค้นหาเทรนด์ย้อนหลังที่มีคนค้นหามากที่สุดว่าลูกค้ามีความต้องการหรือค้นหาสินค้าประเภทใดเพื่อที่จะนำเสนอและตอบโจทย์ของลูกค้าได้


7.Fake News จะมากขึ้น 

ข่าวเท็จ หรือ ข้อความที่บิดเบือนจะมีมากขึ้นในอนาคต ดังนั้นในฐานะแบรนด์ควรระมัดระวังเรื่องการตกเป็นข่าวเท็จให้ดี เพราะอาจส่งผลกระทบต่อชื่อเสียง ภาพลักษณ์ จนนำมาสู่ยอดขายที่ถดถอยลงได้ ดังจะเห็นได้จากดาราหรือแบรนด์สินค้าบางแบรนด์ที่ได้รับผลกระทบต่อ Fake News นี้ จนทำเอาตั้งตัวไม่ติด แต่กว่าจะพิสูจน์ตนเองได้นั้นก็ทำเอาคนลืมตัวตนหรือแบรนด์นั้น ๆ ไปแล้ว ดังนั้น เพื่อต่อสู้กับ Fake News หรือข่าวเท็จใด ๆ ก็ควรสร้างความโปร่งใสทางธุรกิจแบบตรงไปตรงมา สามารถตอบปัญหาที่ได้รับคำร้องเรียนได้อย่างชัดเจน ทั้งนี้เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ลูกค้าและเปิดโอกาสให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ตรวจสอบถึงข้อมูลว่าเป็นเรื่องจริงหรือไม่



เป็นอย่างไรกันบ้างสำหรับ Social Network Trend ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในปี 2022 อันใกล้นี้ สิ่งที่ผู้ประกอบการหรือแบรนด์ต่าง ๆ ควรให้ความสนใจ ติดตามเพื่อปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อให้เข้าใจลูกค้าและตอบสนองความต้องการได้มากขึ้น รวมถึงการใช้งานเทรนด์ดังกล่าวได้อย่างสร้างสรรค์เพื่อให้ประชาสัมพันธ์ถึงความจริงใจที่มีต่อลูกค้า และเพื่อให้ลูกค้าเห็นว่าแบรนด์ให้ความสำคัญและใส่ใจลูกค้าเพื่อสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ดีให้เกิดขึ้น 

ที่มาข้อมูล

  • https://stepstraining.co/social/10-social-media-trend-2021-by-hubspot