Creative Problem Solving คืออะไร ทำยังไงจะแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ ?
10549 views | 04/01/2022
Copy link to clipboard
Hathaichanok Yimchan
Content Creator

          ว่ากันว่าปัญหาทุกอย่างมีทางออก แต่จะดีกว่าไหม ถ้าเราสามารถหาทางออกให้แต่ละปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์ หรือที่เรียกว่า Creative Problem Solving โดยทั่วไปแล้วเรื่องการแก้ไขปัญหานั้น เราสอนกันตั้งแต่ในครัวเรือน ตลอดจนทำเป็นหลักสูตรสำหรับสอนกันในสถาบันการศึกษา ซึ่งก็คุยเรื่องนี้กันมาเป็นร้อยปีแล้ว แต่ก็ยังเป็นหัวข้อที่ยังเป็นที่นิยมในปัจจุบันและมีการศึกษาต่อยอดเพิ่มเติมข้อมูลกันมาเรื่อย ๆ เพราะปัญหาใหม่ ๆ ก็เกิดขึ้นตามยุคสมัยที่เปลี่ยนแปลงไปเช่นกัน 



          ถ้าจะให้เข้าใจกันง่าย ๆ Creative Problem Solving คือ การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ มีองค์ประกอบหลัก ๆ เป็น วิธีแก้ปัญหา และ กระบวนการแก้ปัญหา โดยการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์นั้น นับได้ว่าเป็นแนวทางของแต่ละบุคคลที่จะเลือกใช้และขึ้นอยู่กับประสบการณ์ในการเผชิญปัญหา ซึ่งทางออกที่แต่ละคนเลือกใช้แก้ปัญหานั้น บ้างก็เลือกใช้วิธีเดิมในการแก้ปัญหาเดิมซ้ำ ๆ โดยอาจหลงลืมที่จะคำนึงถึง วิธีแก้ปัญหา ว่าสร้างสรรค์หรือไม่ ดังนั้น คนที่เคยเจอปัญหาที่หลากหลาย ผ่านร้อนหนาวมามากกว่าย่อมมี กระบวนการแก้ปัญหา ที่นำมาสู่การเลือกเฟ้นวิธีการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดในแต่ละสถานการณ์ได้มากกว่า


   แต่ก็ใช่ว่า ผู้มีประสบการณ์มาอย่างโชกโชนจะแก้ปัญหาได้อย่างสร้างสรรค์กว่าผู้ที่มีประสบการณ์น้อยกว่าเสมอไป เพราะมนุษย์เรานั้นเรียนรู้ได้ตลอดเวลา หากได้คิดวิเคราะห์แก่นของปัญหาด้วยบทเรียนที่ผ่านมา ก็ยิ่งมีโอกาสศึกษาทางออกได้มากกว่าและดีกว่า แต่แล้วแบบไหนล่ะที่จะใกล้เคียงกับคำว่า แก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ 


   การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์ คือการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ และคำนึงถึงความยั่งยืนของการแก้ไข ไม่ใช่แค่แก้ไขสถานการณ์เพียงครั้งคราว แต่สุดท้ายปัญหาอาจจะกลับมาอีกครั้งและทวีความรุนแรงเกินแก้ไขมากขึ้นด้วย นอกจากนี้แล้ว การแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์อาจนำพามาซึ่งนวัตกรรม สิ่งดีใหม่ ๆ ที่นอกจากจะขจัดปัญหาให้หมดไปแล้ว ยังอาจสร้างสิ่งดี ๆ สร้างรายได้ หรืออาชีพเพิ่มมากขึ้น ยกตัวอย่างจากปัญหาการจัดส่งอาหาร แต่ก่อนหากเราต้องการจัดส่งอาหารถึงบ้านก็จะมีข้อจำกัดแค่อาหารบางประเภท หรือต้องเป็นร้านอาหารใกล้เคียงเท่านั้น แต่ในปัจจุบันปัญหานี้ถูกแก้ไขอย่างสร้างสรรค์ด้วยการจัดทำแอปพลิเคชั่นเพื่อวางระบบเรื่องการจัดส่งอาหารให้ถึงมือลูกค้าจำนวนมากขึ้น ข้อมูลชัดเจนขึ้น จัดส่งได้รวดเร็วและแก้ไขได้อย่างยั่งยืนมากยิ่งขึ้น กลายเป็นธุรกิจใหม่ที่สร้างรายได้มหาศาล และสร้างงานให้ผู้คนจำนวนมาก


สำหรับขั้นตอนการแก้ไขปัญหาเชิงสร้างสรรค์สามารถทำได้ง่าย ๆ ด้วยวิธีการดังต่อไปนี้ 


1.ทำความเข้าใจปัญหา

        ก่อนคิดแนวทางในการแก้ไขปัญหาเราจำเป็นต้องเข้าใจปัญหาให้ได้รอบด้านจากการสำรวจข้อมูล สอบถามความเห็น และระบุปัญหาที่แท้จริงออกมาก่อน เพื่อสรุปปัญหา ตลอดจนวางเป้าหมายในการแก้ไข 


2.เสนอแนวทางการแก้ไขให้ได้มากที่สุด

          การแก้ไขปัญหาเชิงสร้างสรรค์จำเป็นต้องสร้างกรอบความคิดและแนวทางในการแก้ไขปัญหาให้ได้รอบด้านมากที่สุดเพื่อให้เราเห็นมุมมองต่าง ๆ มากขึ้น เช่น การสมมุติให้ตัวเราเองเป็นบุคคลที่อาจกำลังเผชิญปัญหา มองปัญหา หรือรับฟังปัญหานี้ เป็นต้น


3.เตรียมการเพื่อปรับใช้

          ขั้นตอนในการเตรียมความพร้อมคือส่วนที่ช่วยให้แนวทางการรับมือปัญหาของเราสามารถใช้งานได้จริงและมีประสิทธิภาพ ซึ่งเราจำเป็นต้องวิเคราะห์จากสิ่งที่สนับสนุนและอุปสรรคที่อาจเกิดขึ้นได้ระหว่างการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ได้วิธีการรับมือที่ดีที่สุด 


4.วางแผนในการแก้ไขปัญหา

          ขั้นตอนนี้มีความซับซ้อนและต้องละเอียดเล็กน้อยเนื่องจากเราต้องวิเคราะห์แนวทางแก้ไขจากข้อจำกัดของบริษัท เนื้องาน บุคคล และทรัพยากรที่มีเพื่อให้การแก้ไขปัญหาของเราสร้างสรรค์ใช้งานได้จริง


5.ลงมือทำ

          เมื่อเราลงปฏิบัติจริงเราจะได้พบอุปสรรคและปัญหาที่อาจเพิ่มมากขึ้นจากจุดบอดที่เรามองข้ามไปจากแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เราเลือกใช้ ด้วยเหตุนี้การจดบันทึก การเปรียบเทียบและวัดผลการแก้ไขปัญหาระหว่างการลงมือทำจะช่วยให้เราแก้ไขปัญหาได้อย่างยั่งยืนและสร้างสรรค์มากยิ่งขึ้น



          หากลองนำแนวคิดข้างต้น มาปรับกับการทำงานในสายการตลาด เช่น การแก้ปัญหายอดขาย ที่จำเป็นต้องมีความคิดสร้างสรรค์ ขอยกตัวอย่าง คุณอะกิระ คะกะตะ จากจังหวัดวากายามะ ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพอได้ศึกษาแนวทางการแก้ไขโจทย์การขายของเขา แล้วตกผลึกทางความคิดได้ว่าเบื้องหลังความเก่งกาจนั้นคือกระบวนการและเทคนิคแก้ไขปัญหาที่แตกต่างอย่างสร้างสรรค์นั่นเอง



          ครั้งหนึ่งคุณอะกิระได้รับโจทย์ให้ไปแก้ปัญหา ของบริษัทอสังหาริมทรัพย์รายหนึ่ง ที่พบประสบปัญหาการขายแมนชันโครงการหนึ่งของบริษัท ในจังหวัดฟุกุโอกะ โครงการนั้น ต้องมาหยุดชะงักเนื่องจากเปิดโครงการมาเป็นปี แต่พนักงานขายสามารถขายห้องไปได้เพียง 5 ห้องเท่านั้น จะสร้างต่อก็เกรงจะไม่คุ้ม จึงต้องปล่อยค้างไว้อย่างนั้น สภาพทางภูมิศาสตร์ของโครงการนั้น ล้อมรอบไปด้วยภูเขา ด้านหน้าเป็นทะเล ห่างไกลจากสถานีรถไฟและสถานที่จับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ แม้แต่ร้านค้าสะดวกซื้อก็ไม่ได้อยู่ใกล้ในระยะที่สะดวก แม้แต่ตอนที่คุณอะกิระเองได้เยี่ยมชมโครงการครั้งแรก ยังถึงกับบ่นกับตัวเองในใจ ว่าใครกันนะมาสร้างสิ่งปลูกสร้างแบบนี้ไว้ในที่แบบนี้  


          แต่หลังจากที่คุณอะกิระได้ลองวิเคราะห์ ปรับมุมมองในการนำเสนอ แล้วก็เริ่มนำเสนอลูกค้าในแบบของเขา สรุปว่า โครงการสามารถขายออกไปได้ 27 ห้อง ได้ค่าคอมมิชชันจากการขายครั้งนี้เป็นรายได้เทียบเท่าเงินเดือนของพนักงานประจำมากถึง 10 ปี โดยวิธีการแก้ไขปัญหาขายแมนชันแห่งนี้ของคุณอะกิระนั้น เริ่มจากพิจารณาว่าใครกันที่จะอยากพักอาศัย หรือเป็นเจ้าของที่นี่ แมนชันแห่งนี้มีจุดเด่นคืออะไร แล้วจึงเสนอขายให้กับกลุ่มเป้าหมายที่ถูกต้อง 


          คุณอะกิระชูโรงด้วยข้อดีว่าเป็นสถานที่สุดพิเศษที่ห่างไกลมลพิษ อุดมไปด้วยประจุอิออนชนิดลบ โอบล้อมไปด้วย ทะเล ทุ่งนา ป่าเขา ลำธาร เหมาะกับเด็กนักเรียนที่ต้องการสมาธิในการอ่านหนังสือ เหมาะกับผู้สูงวัยที่ต้องการพักฟื้นหรือหลบหนีจากความวุ่นวายในเมือง อีกทั้งยังเดินทางสะดวกโดยรถยนต์ โดยลุงมักจะถามลูกค้าระหว่างที่คุณอะกิระพาชมโครงการเสมอว่า “ชอบธรรมชาติมั้ย” หลายคนมักจะตอบว่า “ชอบ” ลูกค้ารายหนึ่งเป็นผู้บริหารบริษัทใหญ่ เป็นที่น่านับถือและรู้จักคนมากมาย เสนอขายรายนี้ไป ก็ยังไปแนะนำลูกน้องตัวเองที่คิดว่าน่าจะอยากซื้อแมนชันนี้ให้มาเป็นลูกค้าขอคุณอะกิระอีก 2 คน ในขณะที่อีกรายหนึ่งเป็นทนายความขับรถสปอร์ตสุดหรู นอกจากซื้อให้ตัวเองแล้ว ยังซื้อให้คุณแม่ตัวเองอีกด้วย!



          Creative Problem Solving ในเรื่องข้างต้น คือ การแก้ไขปัญหาการเสนอขายอย่างสร้างสรรค์ ซึ่งจะสังเกตได้ว่า ผู้นำเสนอไม่ได้บิดเบือนข้อเท็จจริงใด ๆ ของโครงการอสังหาริมทรัพย์ดังกล่าว เพียงแต่ไม่นำเสนอในแง่ลบหรือเน้นย้ำให้ผู้รับสารมองแต่ข้อด้อยที่แทบไม่ต้องบอกก็พอจะเข้าใจได้เองอยู่แล้ว ซึ่งคนส่วนใหญ่มักจะติดอยู่ตรงจุดนี้ และยกเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตกอยู่บ่อยครั้ง 

          เพราะความคิดในแว่บแรกของมนุษย์จะตัดสินสิ่งที่มอง จากใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาเพื่อตัดสินคุณค่าว่าสิ่งนั้นดีหรือไม่ดี เหมาะสมกับตนหรือไม่ เช่น คนขายมองว่าบ้านห่างไกล ขายยาก ขายไม่ได้หรอก แล้วก็ขายไม่ได้ ส่วนคนซื้อก็คือคนทั่วไป อาจไม่ได้มีมุมมองที่ต่างไปจากความรู้สึกว่าห่างไกล ไม่น่าซื้อ หากทั้งผู้ขายและผู้ซื้อคิดเช่นนี้ ก็จะติดอยู่ในกรอบเดิม ๆ และตัดสินเรื่องราวต่าง ๆ ด้วยชุดข้อมูลที่ตนเองเชื่อว่าต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้โดยไม่ได้ลองพลิกมุมคิดในด้านอื่นดูบ้าง ทำให้มักเสียโอกาสในหลาย ๆ เรื่องไปอย่างน่าเสียดาย



          ดังนั้นกระบวนการในการแก้ไขปัญหา จึงควรเริ่มจากการปรับโฟกัสแล้วหามุมมองใหม่ ๆ แน่นอนว่าจะต้องเป็นมุมมองด้านบวกหรือข้อดี หากเรามัวแต่ไปเพ่งจุดโฟกัสแต่สิ่งที่เป็นข้อจำกัด ถึงแม้จะเป็นความจริงก็ตาม ก็ไม่ก่อเกิดประโยชน์แต่ประการใด หากแต่เพียงสร้างสรรค์ใหม่เปลี่ยนจุดยืน ลองพิจารณาข้อดีของสิ่งนั้น ๆ ว่ามี “คุณค่า” กับใคร แล้วนำเสนอในอีกมุมที่คนมองข้าม เพื่อนำเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาได้ตรงความต้องการจริง ๆ มากขึ้น จากที่ได้ยกตัวอย่างมาข้างต้น คงพอเห็นวิธีการแก้ปัญหาอย่างสร้างสรรค์กันบ้างไม่มากก็น้อย เอาตัวเราออกจากปัญหา มองปัญหานั้นในมุมของคนอื่นบ้าง ตรึกตรองดูว่าอะไรคือสิ่งที่ต่างไปจากข้อมูลที่อยู่ตรงหน้า จะให้ดีมองในมุมของฝ่ายตรงข้าม ก็จะได้มุมมองใหม่ ๆ ที่น่าสนใจและอาจเป็นผลดีเกินกว่าที่คาดไว้

ที่มาข้อมูล

  • การแก้ไขปัญหาอย่างสร้างสรรค์CreativeProblemSolvingคืออะไร(https://www.sasimasuk.com)
  • การคิดแก้ปัญหารอย่างสร้างสรรค์–การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์(https://sites.google.com)
  • อะกิระ,คะกะตะขาย100คนซื้อ99คน/อะกิระคะกะตะเขียน;กิษรารัตนาภิรัตคุโดะ:แปลจากEigyomanwaonegaisuruna
  • CreativeProblemSolving-MindTools(https://www.mindtools.com)
  • TheBasicsofCreativeProblemSolving-CPS(https://innovationmanagement.se)