เตรียมสอบเข้า ม.4 วางแผนยังไงให้รุ่ง
20780 views | 17/12/2021
Copy link to clipboard
Hathaichanok Yimchan
Content Creator


     สำหรับน้อง ๆ ม.ต้น ที่กำลังเรียนอยู่ในชั้น ม.2 – ม.3 และกำลังวางแผนจะ เตรียมสอบเข้า ม.4 วันนี้พี่ได้รวบรวมเทคนิคในการเตรียมตัวสอบมาฝากน้อง ๆ ซึ่งเทคนิคในการเตรียมตัวสอบที่พี่จะนำมาแชร์นั้น ประกอบไปด้วยเนื้อหา 3 ส่วน คือ การเตรียมตัวและใจให้พร้อม, การวางแผนเตรียมการสอบ และเทคนิคการอ่านหนังสือเตรียมสอบ เอาล่ะ ถึงเวลาพร้อมลุยแล้ว ตามพี่มาเลย


การเตรียมตัวและใจให้พร้อม ลุย!

     การเตรียมตัวให้พร้อม หมายถึง การเตรียมใจให้พร้อมสู้ และเตรียมกายให้พร้อมลุย ก่อนเราที่จะไป วางแผนเตรียมสอบ กัน เรามาเรียนรู้วิธีฟิตกายใจให้อึดถึกทนเพื่อมุ่งสู่ฝันให้สำเร็จกันก่อนค่ะ


เตรียมกายให้พร้อม [กินให้พอ ออกกำลังกายเป็นประจำ]

     การอ่านหนังสือและการเข้าสู่สนามสอบต้องใช้พละกำลังกายมากพอ ๆ กับกำลังใจ น้องต้องกินอาหารที่มีประโยชน์มากพอตามที่ร่างกายต้องการ โดยเฉพาะโปรตีน เนื้อ นม ไข่ และผัก ผลไม้ต่าง ๆ เพื่อให้แน่ใจว่าน้องจะได้รับสารอาหารที่สำคัญครบถ้วนสำหรับการเจริญเติบโตและบำรุงสมอง ควรเพิ่มเติมอาหารมีประโยชน์ต่อการทำงานของสมอง อย่างเช่น ปลาแซลมอน และถั่วต่าง ๆ ที่มีวิตามินบีและโอเมก้า 3 มาช่วยบำรุงสมองและเพิ่มความจำ อีกอย่างที่สำคัญ คือ ออกกำลังกายเป็นประทุกวัน อย่างน้อยวันละ 20 – 30 นาที เพื่อให้ร่างกายมีสุขภาพแข็งแรงอยู่เสมอ ไม่เจ็บป่วยบ่อยจนขัดขวางในการอ่านหนังสือ และช่วยให้เลือดสูบฉีดนำออกซิเจนไปเลี้ยงสมองให้ไบร์ทอยู่เสมอ


เตรียมใจให้พร้อม [ตั้งเป้าหมาย เลือกโรงเรียนที่ใช่ สาขาที่ชอบ]

     ใจเป็นตัวนำให้กายเดิน และใจจะเดินได้ก็ต่อเมื่อใจรู้ในเป้าหมาย น้องต้องรู้ให้ได้ก่อนว่า น้องต้องการเข้าเรียนต่อในโรงเรียน สาขาอะไร เมื่อรู้ในเป้าหมายแล้วให้ทำ Dream Board โดยการเขียนเป้าหมาย วาดรูป หรือ ติดรูปโรงเรียนที่เราอยากจะเข้า สาขาที่อยากจะเรียน อาชีพที่อยากจะเป็น ลงในฟิวเจอร์บอร์ดหรือกระดาษแผ่นใหญ่ แล้วนำไปติดด้านหน้าโต๊ะที่เราอ่านหนังสือ หรือในที่ที่เราจะเห็นบ่อยที่สุด เพื่อกระตุ้น ผลักดัน และเป็นกำลังใจนำทางสู่เป้าหมาย และที่สำคัญที่สุด เราต้องมั่นใจในตัวเองว่า “เราทำได้” จำไว้นะคะว่า ชีวิตของเราจะเป็นไปตามความเชื่อของเรา ขอให้เชื่อในตนเองว่า “เราทำได้” แล้วลงมือทำให้ถึงที่สุด พี่เชื่อว่า ความสำเร็จอยู่ในอุ้งมือน้อง ๆ ทุกคนค่ะ

     แต่ถ้าหากน้อง ๆ ยังไม่รู้จักตัวเองว่าอยากสอบเข้าโรงเรียนอะไร สาขาวิชาไหน น้องลองเอาผลการเรียนมาวิเคราะห์ดูว่าเราเรียนวิชาไหนได้ดีที่สุด ชอบเรียนวิชาไหนมากที่สุด วิชาไหนเรียนแล้วสนุกมีความสุข ซึ่งการตอบคำถามเหล่านี้ก็จะช่วยให้น้องได้ทบทวนและทำความรู้จักตัวเองมากขึ้นว่า เราเหมาะกับวิชาอะไรและควรเลือกเดินไปในทิศทางไหน ส่วนการเลือกโรงเรียน ก็ลองมองหาโรงเรียนใกล้บ้าน โรงเรียนที่มีสาขาวิชาที่เราอยากเรียน หรือลองชวนคุณพ่อคุณแม่ไปสำรวจโรงเรียน สถานที่ และบรรยากาศโดยรอบสักหลาย ๆ โรงเรียน เพื่อหาโรงเรียนที่โดนใจเรามากที่สุด 



เทคนิคการวางแผนเพื่อเตรียมสอบอย่างมือโปร


1. สำรวจวิชาที่ต้องสอบ

      มาถึงตอนนี้ น้องทุกคนคงมีเป้าหมายแล้วว่าจะเข้าโรงเรียนไหน และเรียนสาขาวิชาอะไร ดังนั้น ในขั้นตอนต่อมา คือ ตรวจสอบว่าสอบวิชาอะไรบ้าง และในแต่ละวิชาสอบเรื่องใดบ้าง บางโรงเรียนมีการทดสอบ Pre-test ก็แนะนำให้น้องไปลองทดสอบ เพื่อจะได้รู้แนวข้อสอบ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วจะมี 5 วิชาหลักที่ต้องใช้สอบ คือ วิทยาศาสตร์ คณิตศาสตร์ ภาษาไทย ภาษาอังกฤษ และสังคมศึกษา ศาสนา และวัฒนธรรม


2. จัดลำดับความสำคัญของแต่ละวิชา

     ก่อนจะจัดตารางเวลาอ่านหนังสือ น้องต้องตรวจดูก่อนว่าให้แต่ละวิชามีเนื้อหากี่บท ในแต่ละบทมีเนื้อหามากน้อยแค่ไหน ความยากง่ายอย่างไร และสัดส่วนของคะแนนที่สอบอย่างไร เช่น จาก 100 คะแนน วิชาคณิตศาสตร์ 30 คะแนน วิทยาศาสตร์ 30 คะแนน ภาษาไทย 15 คะแนน ภาษาอังกฤษ 15 คะแนน และสังคมฯ 10 คะแนน เพื่อที่น้องจะได้จัดลำดับความสำคัญได้ถูกว่า ต้องเน้นวิชาไหนเป็นพิเศษ แต่ละวิชาต้องใช้เวลาในการอ่านประมาณเท่าไหร่ (คาดคะเนไว้คร่าว ๆ ) แล้วนำมาวางแผนจัดตารางในการอ่านหนังสือตามลำดับความสำคัญ


3. จัดตารางอ่านหนังสือ

     เวลาในการอ่านหนังสือ ควรอยู่ที่ประมาณ 2 – 3 ชั่วโมงต่อวัน วันละ 1 วิชา ช่วงเวลาอ่านหนังสือ คือ ช่วงเวลาที่เราสะดวกและมีสมาธิมากที่สุด เช่น ก่อนนอน 1 – 3 ทุ่ม หรือ ตอนเช้าตี 4 – 6 โมงเช้า เป็นต้น 

 

     การวางแผนอ่านหนังสือ น้องต้องให้ความสำคัญในวิชาที่มีสัดส่วนคะแนนมากที่สุด ตามด้วยวิชาที่จะมีเนื้อหาเยอะและยาก อย่างเช่น น้องจะสอบเข้าสายวิทย์-คณิต น้องต้องให้ความสำคัญวิชาคณิตศาสตร์และวิทยาศาสตร์เป็นหลัก เพราะ 2 วิชานี้ มีเนื้อหาเยอะ มีระดับความยากมาก และมีสัดส่วนคะแนนถึงวิชาละ 30% (เป็นตัวอย่างสมมติเท่านั้น น้อง ๆ ต้องไปเช็กจากระเบียบการสอบเพื่อข้อมูลที่แน่ชัดด้วย) 

     ส่วนการจัดตารางอ่านหนังสือ ทำได้โดยเขียนชื่อวิชา และตามด้วยชื่อเรื่อง เนื้อหา หรือ บทที่ต้องอ่าน ลงในตารางปฏิทินทุกสัปดาห์ และในวิชาที่ต้องเน้นอ่านเป็นพิเศษ อาจจะต้องวางแผนอ่าน 2 – 3 วันต่อสัปดาห์ หรือตามน้องเห็นสมควร และในทุกสัปดาห์ต้องอ่านให้ครบทุกวิชา 




ตัวอย่างการ จัดตารางอ่านหนังสือ




เทคนิคการอ่านหนังสือสอบ

     เมื่อได้ตารางเวลาอ่านหนังสือแล้ว ก็มาถึงเวลาต้องลุยตามแผนการอ่านหนังสือที่ได้วางไว้ให้ได้มากที่สุด แต่หากในระหว่างทางรู้สึกท้อ รู้สึกขี้เกียจ อยากยอมแพ้ พี่ขอแนะนำให้น้องมอง Dream Board ที่น้องได้ทำไว้บ่อย ๆ จินตนาการถึงวันที่ประกาศผลสอบแล้วมีชื่อเราติดอยู่บนบอร์ด นึกถึงรอยยิ้มของพ่อแม่ที่ดีใจในความสำเร็จของเรา นึกถึงวันที่เราได้ใส่ชุดนักเรียนชุดใหม่ไปโรงเรียนอย่างมีความสุขและภาคภูมิใจในตนเอง การนึกถึงภาพเหล่านี้บ่อย ๆ จะช่วยเป็นเครื่องเตือนและกระตุ้นให้น้องมุ่งไปที่เป้าหมาย มีความหวัง และสร้างกำลังใจให้อดทนอ่านหนังสือได้ตามที่วางแผนไว้ ซึ่งพี่ได้รวบรวม เทคนิคอ่านหนังสือสอบ ที่จะช่วยให้น้องอ่านหนังสือได้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เข้าใจและจดจำได้มากขึ้น ดังนี้ค่ะ


1. อ่านคร่าว ๆ ก่อนหนึ่งรอบ

     รอบแรกให้อ่านแบบสำรวจ อ่านแบบกวาดสายตา ให้เริ่มอ่านวัตถุประสงค์หรือข้อชี้วัดของบทเรียนก่อน และกวาดอ่านเนื้อหาโดยรวมคร่าว ๆ ว่าประกอบไปด้วยเนื้อหาอะไรบ้าง และมีเนื้อหาอะไรที่ต้องเน้นหรือให้ความสำคัญเป็นพิเศษ


2. อ่านอย่างละเอียดอีกหนึ่งรอบ พร้อมไฮไลท์ส่วนที่สำคัญ

     การอ่านรอบที่สอง เป็นการอ่านอย่างละเอียด คัดประเด็นสำคัญและทำความเข้าใจ พร้อมทำ “ไฮไลท์” ในเนื้อหาที่สำคัญ และเขียน “โน้ตย่อ” สรุปเนื้อหาที่ต้องเน้นหรือจำเป็นพิเศษด้วยข้อความที่ตรงประเด็น กระชับและเข้าใจง่ายที่สุด กระบวนการนี้เป็นกระบวนการที่สำคัญมากในการทำความเข้าใจและจดจำในเนื้อหา หากพบในส่วนที่ไม่ยังเข้าใจก็ให้ “โน้ต” ไว้ว่าเราต้องหาข้อมูลเพิ่มเติม วิธีการอ่านไปพร้อม ๆ กับการทำไฮไลท์และการเขียนโน้ตสรุปสั้น ๆ จะช่วยให้สมองน้องจดจำเนื้อหาได้ดีกว่าการอ่านเพียงอย่างเดียว


3. เขียนแผนผังความคิด (Mind Mapping)

     เป็นการจดบันทึกเนื้อหาเป็นรูปภาพ เป็นการสรุป ถ่ายทอด และเชื่อมโยงข้อมูลที่สำคัญหลังผ่านความคิดวิเคราะห์ เป็นการใช้แผนผัง การภาพวาด สี มาช่วยในการจัดลำดับเนื้อหา เชื่อมโยงส่วนที่เกี่ยวข้องกันและจดบันทึก ซึ่งการเขียน Mind Mapping หรือ แผนผังความคิดนี้ เป็น เทคนิคอ่านหนังสือสอบ ที่มีประสิทธิภาพสูง ที่ช่วยสร้างกระบวนการคิดและเพิ่มประสิทธิภาพในจดจำตามความสอดคล้องของธรรมชาติสมอง เป็นการใช้ศักยภาพของสมองอย่างเต็มที่ในการคิดวิเคราะห์ เชื่อมโยงข้อมูล และเพิ่มการจดจำ



4. ตะลุยทำข้อสอบบ่อย ๆ

     ทุกครั้งหลังจากที่น้องอ่านจบในทุกบท ให้ทำข้อสอบท้ายบททุกครั้ง เพื่อตรวจสอบและประเมินตัวเองว่าที่อ่านมาทั้งหมดนั้น เข้าใจมากน้อยแค่ไหน ให้ตรวจสอบในเนื้อหาที่ยังทำผิดหรือทำไม่ได้ แล้วไฮไลท์ไว้ว่าต้องกลับไปอ่านทำความเข้าใจอีกครั้ง ขอแนะนำให้น้องหาแนวข้อสอบมาทำเยอะ ๆ ถ้าเป็นไปได้ให้หาข้อสอบย้อนหลังในสนามจริงมาทำสัก 5 – 10 ปี ย้อนหลัง เพื่อทบทวน ฝึกฝนการคิดวิเคราะห์และการตัดสินใจ ที่สำคัญอย่าลืมจับเวลาในการทำข้อสอบด้วยนะคะ 


5. วางแผนการอ่านทบทวนครั้งสุดท้ายก่อนสอบ

     ก่อนสอบ 2-3 สัปดาห์ เป็นช่วงเวลาที่เราต้องอ่านหนังสือจบครบถ้วนในทุกเนื้อหาแล้ว น้องควรวางแผนการอ่านทบทวนอีกครั้งก่อนสอบจากโน้ตสรุปและแผนผังความคิด (Mind Mapping) ที่น้องได้ทำเอาไว้ และในช่วงโค้งสุดท้ายนี้เป็นช่วงที่สำคัญที่สุด น้องต้องรักษาสุขภาพ กินและนอนหลับให้เพียงพอ ทำใจให้ผ่อนคลายสบาย ๆ เตรียมกายใจให้พร้อมก่อนลงสนาม


       การเตรียมสอบเข้า ม.4 ควรเตรียมตัวตั้งแต่อยู่ในชั้น ม.2 เทอมสอง หรืออย่างช้า ม.3 เทอมหนึ่ง แต่อย่าชะล่าใจรอจนถึง ม.3 เทอมสอง เพราะเกรงว่าน้องจะอ่านหนังสือกันไม่ทัน ดังนั้น พอขึ้น ม.2 เทอมหนึ่ง ก็ควรมองหาโรงเรียนที่ใช่ สาขาที่ชอบรอไว้เลย เตรียมข้อมูลเกี่ยวกับเนื้อหาและวิชาที่ต้องสอบ พอขึ้น ม.2 เทอมสองก็ วางแผนเตรียมสอบ ตะลุยอ่านหนังสือกันได้เลย สุดท้ายนี้ ขอให้น้องโชคดี ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ตั้งไว้กันทุกคนนะคะ

ที่มาข้อมูล

  • https://www.ondemand.in.th/10-วิธี-เตรียมตัวก่อนสอบ/
  • https://www.scholarship.in.th/10-study-tips-for-exam-preparation/
  • https://teen.mthai.com/education/79713.html
  • https://anywhere.learn.co.th/main/6-เคล็บลับ-ฉบับเร่งด่วน-โ/
  • https://www.dek-d.com/board/education/2317853/
  • https://www.trueplookpanya.com/tcas/article/detail/88186
  • https://www.palagrit.com/what-is-mind-map/