ความงดงามของวรรณศิลป์ในวรรณคดีไทย
79923 views | 16/12/2021
Copy link to clipboard
Hathaichanok Yimchan
Content Creator


วรรณคดีไทย ศิลปะแขนงหนึ่งที่ใช้ภาษาเป็นเครื่องมือ เป็นหนึ่งในมรดกของชาติที่แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของชาติไทยของเรา


วรรณคดี วรรณกรรม ต่างกันอย่างไร


วรรณกรรม คือ งานเขียนทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นไปในรูปแบบใดหรือเพื่อความมุ่งหมายใด อาจจะเป็นใบปลิว หนังสือพิมพ์ นวนิยาย คำอธิบาย จดหมายหรือแม้กระทั่งฉลากยา ฯลฯ ล้วนเรียกว่าวรรณกรรมได้ทั้งสิ้น ส่วนวรรณคดี แปลตามรูปศัพท์คือ หนังสือที่ได้รับการยกย่องว่าแต่งดี ทั้งนี้หนังสือหรือวรรณกรรมที่จะเป็นวรรณคดีได้ นอกจากจะเป็นหนังสือที่มีคุณค่าด้านเนื้อหา อารมณ์ สังคมและวัฒนธรรมแล้วจะต้องประกอบไปด้วยความงดงามของภาษาหรือที่เรียกกันตามศัพท์ภาษาวรรณคดี ว่า วรรณศิลป์นั่นเอง  



   ความแตกต่างของวรรณคดีและวรรณกรรม ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้าน เช่น 

  • กาลเวลา หนังสือหรือวรรณกรรมที่เป็นวรรณคดีนั้น กาลเวลาเป็นตัวตัดสินที่สำคัญ กล่าวคือ หากหนังสือเล่มใดเป็นที่นิยมและอยู่ในความทรงจำของคนอ่านในระยะเวลาอันยาวนาน วรรณกรรมเล่มนั้นก็อาจกลายเป็นวรรณคดี 
  • ความรู้ความเข้าใจในการอ่านวรรณคดี ซึ่งไม่มีลักษณะตายตัว เนื่องจากความเห็นหรือการวิเคราะห์วิจารณ์จะขึ้นอยู่กับความซาบซึ้ง ประสบการณ์และทัศนคติ ตลอดจนถึงความคิดความเชื่อของผู้อ่าน 
  • ศิลปะในการแต่งหรือวรรณศิลป์ นับเป็นสมบัติสำคัญที่สุดของวรรณคดี เพราะวรรณศิลป์คือสิ่งที่จะทำให้วรรณคดี แตกต่างไปจากหนังสืออื่น ๆ อย่างพงศาวดาร จดหมายเหตุ พระบรมราโชวาท ศิลาจารึกหรือคำสอนต่าง ๆ ในขณะเดียวกัน พงศาวดาร จดหมายเหตุ พระบรมราโชวาท ศิลาจารึกหรือตำราคำสอนต่าง ๆ ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็นวรรณคดีหากหนังสือเหล่านั้นมีคุณค่าด้านเนื้อหาและผู้แต่งใช้ศิลปะหรือกลวิธีในการแต่งอย่างวิจิตรงดงามหรือมีวรรณศิลป์เป็นที่ยอมรับ



วรรณศิลป์คืออะไร

   “วรรณศิลป์” หมายถึง กลวิธีในการแต่ง ซึ่งประกอบด้วยการเลือกใช้ถ้อยคำ โวหาร สำนวน ลีลา ประโยคและการเรียบเรียงที่ประณีต งดงาม หรือมีรสทางวรรณคดีที่เหมาะสม ซึ่งจะมีผลทำให้คนอ่านได้รับผลในทางอารมณ์และความรู้สึกซาบซึ้งสะเทือนใจ 


วรรณศิลป์ใน วรรณคดีไทย ประกอบด้วยลักษณะสำคัญดังต่อไปนี้

   1.รสวรรณคดี หรือกวีโวหาร

   2. การใช้ภาพพจน์

   3. การสรรคำ



  1.รสวรรณคดีหรือกวีโวหาร

หมายถึง วรรณคดีที่มีเนื้อความถ่ายทอดอารมณ์ความรู้สึกสะเทือนใจ ด้วยการเลือกสรรและเรียบเรียงถ้อยคำของกวี มี 4 รสหลัก ๆ ได้แก่ เสาวรจนี (การชมความงามของสิ่งต่าง ๆ ) นารีปราโมทย์(แสดงความรัก) พิโรธวาทัง(โกรธ) สัลลาปังคพิสัย(ความเศร้า)


   1.1 เสาวรจนีหรือบทชมความงามของตัวละครชายหญิง ธรรมชาติและสิ่งก่อสร้างปราสาทราชวัง ตลอดจนการพรรณนาเกียรติคุณความกล้าหาญของกษัตริย์ 


ตัวอย่าง

   หน่อกษัตริย์ทัศนานางเงือกน้อย    ดูแช่มช้อยโฉมเฉลาทั้งเผ้าผม 

ประไพพักตร์ลักษณ์ล้ำล้วนขำคม          ทั้งเนื้อนมนวลเปล่งออกเต่งทรวง 

ขนงเนตรเกศกรอ่อนสะอาด         ดังสุรางค์นางนาฏในวังหลวง 

พระเพลินพิศคิดหมายเสียดายดวง     แล้วหนักหน่วงนึกที่จะหนีไป 

                             (พระอภัยมณี : สุนทรภู่) 


   1.2 นารีปราโมทย์หรือบทแสดงความรัก เกี้ยวพาราสี โอ้โลมปฏิโลม ระหว่างชายหญิง


ตัวอย่าง

   น้องเอยน้องรัก      นวลละอองผ่องพักตร์เพียงแขไข

งามองค์ทรงลักษณ์วิไล   พิศไหนสารพันเป็นขวัญตา

พี่หวังจะฝากไมตรีจิต     รักร่วมสนิทเสน่หา

ควรฤาดวงใจไม่เมตตา    แต่จะตอบวาจาก็ไม่มี

ช่างผินผันหันหลังไม่แลดู  โฉมตรูขัดใจสิ่งไรพี่

เชิญชม้ายชายตามาทางนี้  จะสะบัดเบือนหนีพี่ยาไย

                    (บทละครเรื่องอิเหนา : ร.2)


  1.3 พิโรธวาทังหรือบทโกรธ ตัดพ้อต่อว่า ประชดประชัน


ตัวอย่าง

  เมื่อแรกเชื่อว่าเป็นเนื้อทับทิมแท้ มาแปรเป็นพลอยหุงไปเสียได้

กาลวงว่าหงส์ให้ปลงใจ         ด้วยมิได้ดูหงอนแต่ก่อนมา

คิดว่าหงส์จึงหลงด้วยลายย้อม     ช่างแปลงปลอมท่วงทีดีหนักหนา

ดังรักถิ่นมุจลินท์ไม่คลาดคลา     ครั้นลับตาฝูงหงส์ก็ลงโคลน

                          (เสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน)


  1.4 สัลลาปังคพิสัย หรือบทโศก เศร้า คร่ำครวญ ร่ำไห้ เสียใจ


ตัวอย่าง

   ถึงหน้าวังดังหนึ่งใจจะขาด     คิดถึงบาทบพิตรอดิศร 

โอ้ผ่านเกล้าเจ้าประคุณของสุนทร   แต่ปางก่อนเคยเฝ้าทุกเช้าเย็น 

พระนิพพานปานประหนึ่งศีรษะขาด  ด้วยไร้ญาติยากแค้นถึงแสนเข็ญ 

ทั้งโรคซ้ำกรรมซัดวิบัติเป็น        ไม่เล็งเห็นที่ซึ่งจะพึ่งพา 

                          (นิราศภูเขาทอง :สุนทรภู่) 



2.การใช้ภาพพจน์

  ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พุทธศักราช 2554 ได้ให้ความหมายของ ภาพพจน์ ไว้ว่า ถ้อยคำที่เป็นสํานวนโวหาร ทําให้นึกเห็นเป็นภาพ ถ้อยคำที่เรียบเรียงอย่างมีชั้นเชิงเป็นโวหาร มีเจตนาให้มีประสิทธิผลต่อความคิด ความเข้าใจ ให้จินตนาการและถ่ายทอดอารมณ์ได้อย่างกว้างขวางลึกซึ้งกว่าการบอกเล่าที่ตรงไปตรงมา

ภาพพจน์ที่กวีไทยนิยมใช้ในการแต่งวรรณคดีมีดังต่อไปนี้

   2.1 อุปมา คือ การใช้ความเปรียบว่าสิ่งหนึ่งเหมือนกับอีกสิ่งหนึ่ง โดยจะมีคำเปรียบปรากฏอยู่ในข้อความด้วย เช่น ดุจ ดั่ง เสมอ เสมือน ประหนึ่ง เฉก เช่น ปาน ปูน เพี้ยง เพียง เป็นต้น


ตัวอย่าง

   เมื่อเคราะห์ร้ายกายเราก็เท่านี้     ไม่มีที่พสุธาจะอาศัย

ล้วนหนามเหน็บเจ็บแสบคับแคบใจ    เหมือนนกไร้รังเร่อยู่เอกา

                             (นิราศภูเขาทอง : สุนทรภู่)


    คุณแม่หนาหนักเพี้ยง    พสุธา

คุณบิดรดุจอา-             กาศกว้าง

คุณพี่พ่างศิขรา            เมรุมาศ

คุณพระอาจารย์อ้าง         อาจสู้สาคร

                       (โคลงโลกนิติ : กรมพระยาเดชาดิศร)


2.2 อุปลักษณ์ คือ การเปรียบว่าสิ่งหนึ่งเป็นอีกสิ่งหนึ่ง เป็นภาพพจน์ที่นำสิ่งที่แตกต่างกัน แต่มีลักษณะร่วมกันมาเปรียบเทียบกัน โดยใช้คำว่า เป็น คือ เท่า หรือบางครั้งอาจไม่ปรากฏคำเชื่อมเลย


ตัวอย่าง

   ขอเดชะพระพุทธคุณช่วย   แม้นมอดม้วยกลับชาติวาสนา

อายุยืนหมื่นเท่าเสาศิลา       อยู่คู่ฟ้าดินได้ดังใจปอง

                        (นิราศภูเขาทอง : สุนทรภู่)


2.3 บุคคลวัต คือ การสมมุติให้สิ่งที่ไม่ใช่มนุษย์ ได้แก่ สัตว์ พืช ลมฟ้าอากาศ ฯลฯ มีความรู้สึก กิริยาอาการเหมือนมนุษย์ หรือให้สิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น ความโลภ ความโกรธ ความหลง มีกิริยาอาการเสมือนมีชีวิต มีจิตวิญาณ มีความคิด มีความรู้สึกต่าง ๆ  


ตัวอย่าง

นกยางตัวหนึ่งอาศัยอยู่ริมสระแห่งหนึ่ง แต่ไม่สามารถจับปลาได้ง่ายนัก เพราะน้ำในสระลึกเกินไป วันหนึ่งมันจึงแสร้งร้องไห้ตรงขอบสระ (ปกรณัมนิทาน)


2.4 สัทพจน์ หรือ การเลียนเสียงธรรมชาติ คือการถ่ายเสียงหรือเลียนเสียงต่าง ๆที่ไม่ใช่เสียงพูด เช่น เสียงสัตว์ร้อง เสียงลมพัด เสียงฟ้าผ่า ฟ้าร้อง ฯลฯ 


ตัวอย่าง

นกกระเรียนเวียนลงหนอง ตรอมเที่ยวย่องร้องแกร๋แกร๋

(กาพย์ห่อโคลงประพาสธารทองแดง : เจ้าฟ้าธรรมธิเบศร)


   ต้อยตะริดติ๊ดตี่เจ้าพี่เอ๋ย   จะละเลยเร่ร่อนไปนอนไหน

แอ้อีอ่อยสร้อยฟ้าสุราลัย     แม้เด็ดได้แล้วไม่ร้างให้ห่างเชย

                      (พระอภัยมณี : สุนทรภู่)


2.5 อติพจน์ หรือ การกล่าวเกินจริง คือโวหารที่กล่าวเกินความจริง เพื่อเน้นความรู้สึกทำให้ผู้ฟังเกิดความรู้สึกที่ลึกซึ้ง         


ตัวอย่าง

   พระเจ้ากรุงจีนได้ฟังก็ตรัสห้ามนายทัพนายกองทแกล้วทหารทั้งปวงว่าเราเป็นกษัตริย์ผู้ใหญ่อันประเสริฐ ได้ให้คำมั่นสัญญาไว้แก่เขาแล้ว จะกลับคำไปดังนั้นหาควรไม่ พม่าทั้งปวงจะชวนกันดูหมิ่นได้ว่าจีนพูดมิจริง เรารักสัตย์ยิ่งกว่าทรัพย์ อย่าว่าแต่สมบัติของมนุษย์นี้เลย ถึงท่านจะเอาทิพยสมบัติของสมเด็จอมรินทร์มายกให้เราๆก็มิได้ปรารถนา...

(ราชาธิราช : สมเด็จเจ้าพระยาพระคลัง (หน)


2.6 ปฏิพากย์ คือ การนำคำตรงกันข้าม หรือคำที่มีความหมายที่ไม่สอดคล้องกันและดูเหมือนจะขัดแย้งกันมาใช้ด้วยกันเพื่อให้กระทบความรู้สึกเป็นพิเศษ


ตัวอย่าง 

   แทบฝั่งธารที่เราเฝ้าฝันถึง  เสียงน้ำซึ่งกระซิบสาดปราศจากเสียง

จักรวาลวุ่นวายไร้สำเนียง      โลกนี้เพียงแผ่นภพสงบเย็น

                        (วารีดุริยางค์ :เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์)


2.7 สัญลักษณ์ คือ การใช้สิ่งหนึ่งแทนอีกสิ่งหนึ่งซึ่งมีคุณสมบัติหรือลักษณะภาวะบางประการร่วมกัน ส่วนใหญ่มักจะเป็นที่เข้าใจกันในหมู่ชน เช่น  


ดอกไม้  เป็นสัญลักษณ์แทน ผู้หญิง 

ราชสีห์   เป็นสัญลักษณ์แทน ผู้มีอำนาจ  

ดอกมะลิ เป็นสัญลักษณ์แทน  ความสะอาด บริสุทธิ์  

ตะวันขึ้น เป็นสัญลักษณ์แทน ความหวัง เป็นต้น


2.8 นามนัย คือ การใช้คำที่บ่งลักษณะหรือคุณสมบัติของสิ่งใดสิ่งหนึ่งมาแสดงความหมายแทนอีกสิ่งหนึ่ง เช่น เก้าอี้ แทนตำแหน่งหน้าที่ของผู้บริหาร ดวงดาวแทนความสำเร็จ ความคาดหวัง  


3.การสรรคำ

3.1 การเล่นเสียง คือการเลือกสรรคำสัมผัส มีทั้งการเล่นเสียงพยัญชนะ เล่นเสียงสระ และเล่นเสียงวรรณยุกต์


ตัวอย่าง

   เห็นหรุ่มรุมทรวงเศร้า  รุ่มรุมเร้าคือไฟฟอน

เจ็บไกลใจอาวรณ์      ร้อนรุมรุ่มกลุ้มกลางทรวง

รังนกนึ่งน่าซด        โอชารสกว่าทั้งปวง

นกพรากจากรังรวง     เหมือนเรียมร้างห่างห้องหวน

                  (กาพย์เห่ชมเครื่องคาวหวาน : ร.2)


3.2 การเล่นคำ คือ การใช้กลการประพันธ์ในการแต่งบทร้อยกรองด้วยการซ้ำคำหรือซ้ำอักษรให้เกิด

เสียงเสนาะ หรือให้มีความหมายที่ลึกซึ้งกินใจยิ่งขึ้น มี ๓ ชนิดคือ การเล่นคำพ้อง การเล่นคำซ้ำ และการเล่นคำเชิงถาม


   3.2.1 การเล่นคำพ้อง คือการเล่นคำที่ออกเสียงเหมือนกันแต่ความหมายไม่เหมือนกัน เช่น

     ถึงบางพลัดยิ่งอนัตอนาถจิต           นิ่งพินิจนึกน่าน้ำตาไหล

   พี่พลัดนางร้างรักมาแรมไกล         ประเดี๋ยวใจพบนางริมทางจร

  บางพลัด= ชื่อสถานที่ 

  พลัดนาง=พลัดพรากจากนาง


   3.2.2 การเล่นคำซ้ำ คือการนำคำคำเดียวกันมาใช้ซ้ำ ๆ กัน ในที่ใกล้ๆ กัน เพื่อย้ำความหมาย เช่น     

            รอนรอนสุริยะโอ้  อัสดง

   เรื่อยเรื่อยลับเมรุลง   ค่ำแล้ว

   รอนรอนจิตจำนง     นุชพี่ เพียงแม่

   เรื่อยเรื่อยเรียมคอยแก้ว คลับคล้ายเรียมเหลียว

                    (กาพย์เห่เรือ : เจ้าฟ้าธรรมาธิเบศร)


   3.2.3 การเล่นคำเชิงถาม  ใน ภาษาวรรณคดี หมายถึง การใช้คำเชิงถามแต่ไม่ใช่ถามเพราะไม่ได้ต้องการคำตอบ เช่น 

เปลก็ไกวดาบก็แกว่งแข็งหรือไม่ ใช่อวดเบ่งหญิงไทยมิใช่ชั่ว

ไหนไถถากตรากตรำไหนทำครัว ใช่จะเก่งแต่จะยั่วผัวเมื่อไร


3.3 การหลากคำหรือคำไวพจน์ กวีนิยมใช้เพื่อเลี่ยงการใช้คำคำเดียวซ้ำ ๆ กัน เช่นเลือกใช้คำว่า สุดสวาท อนงค์ สมร นงคราญ เอวบาง งามงอน จอมสวาท บังอร นุช โฉมฉาย ในความหมายว่า “หญิงที่รัก” เป็นต้น   


วรรณศิลป์นับเป็นลักษณะสำคัญของวรรณคดีไทยนอกจากจะสะท้อนให้เห็นความรุ่มรวยของภาษาไทยแล้วยังแสดงให้เห็นถึงความงดงามของวรรณคดีไทยและความสามารถของกวีไทยอีกด้วย

ที่มาข้อมูล

  • https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/34956
  • https://sites.google.com/site/learnthaibykrublank/kar-wikheraah-khunkha-wrrnkhdi-dan-wrrnsilp
  • http://www.digitalschool.club/digitalschool/thai2_4_1/thai3_5/page5.php