เทคนิคการอ่านหนังสือแบบ น้อยแต่มาก
1713 views | 21/09/2022
Copy link to clipboard
พี่นัท นัททยา
Content Creator

อ่านหนังสือน้อย แต่ได้มาก มีไหม ? สำหรับวันนี้เราจะนำแนวคิด “Less is More” หรือ “น้อยแต่มาก” มาประยุกต์ใช้กับการอ่านหนังสือกองมหึมามหาศาลหลายพันล้านหน้า (อันนี้โอเวอร์ไปค่ะ) กับเทคนิคการอ่านหนังสือแบบ “น้อยแต่มาก” อะไรน้อย แล้วได้อะไรมาก ไปติดตามกันเลยค่ะ 




แนวคิด “Less is More” หรือ “น้อยแต่มาก” มีต้นกำเนิดมาจากวงการศิลปะ และวงการสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ เป็นการออกแบบแนว Minimalist Design ที่มีหลักคิดคือ การใช้ส่วนประกอบที่น้อย แต่ได้ผลมาก ตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป ที่เห็นได้ง่าย ๆ และชัดที่สุดคือศิลปะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในแม่แบบของแนวคิดนี้ ปัจจุบันมีการนำแนวคิดนี้มาประยุกต์ใช้ในหลายวงการ ไม่เว้นแม้แต่วงการการศึกษา เพราะการเรียนในปัจจุบันมันช่างมีเรื่องให้เราต้องทำ ต้องจำ ต้องอ่าน ต้องสอบ ต้องบลาบลา ๆ เยอะไปหมด ดังนั้นจะดีกว่ามั้ย ถ้าเราสามารถหาวิธีที่ช่วยทำให้เราลดความเยอะในบางเรื่องลงไป น้อย ๆ แต่เน้น ๆ ให้เห็นผลลัพธ์ชัด ๆ เพราะบางอย่างเยอะไปก็รุงรัง แต่อย่าเพิ่งเข้าใจผิดคิดว่า น้อยแต่มาก หมายถึงการทำอะไรน้อย ๆ แต่หวังผลมาก เช่น อ่านหนังสือน้อย ๆ ตั้งใจเรียนน้อย ๆ ทำกิจกรรมน้อย ๆ แล้วจะสอบติดในคณะที่ปัง ไม่ใช่นะคะ หลักการน้อยแต่มาก จริง ๆ แล้วคือวิธีการของคนขยัน ไม่ใช่หนทางของคนขี้เกียจ เพียงแต่เป็นคนขยันที่ฉลาดในการทุ่มเทและลงทุนเวลาต่างหากค่ะ


1. อ่านสรุปเนื้อหาจากโน้ตย่อที่เข้าใจที่สุดสำหรับตัวเอง  

โน้ตย่อคือสารสกัดสุดเข้มข้นที่กลั่น กรอง กร่อนมาจากตำราเรียนเล่มหนาในแต่ละบทแต่ละวิชา เพื่อสรุปคัดย่อและย่อยให้เหลือเพียงความรู้ที่เป็นหัวเชื้อ เป็นใจความสำคัญ เป็นหัวใจ เพื่อนำไปท่องจำ เข้าใจ รวมทั้งขยายความและตีความในเนื้อหาฉบับย่อนั้นได้ นั่นแปลว่าน้องจะสามารถลดการอ่านหนังสือจำนวนหนา ๆ ลง ลดการมองเห็นตัวอักษรที่ยั้วเยี้ยยุบยิบเต็มไปหมดลง แบบนี้เรียกได้ว่าอ่านน้อยลง แต่จะได้ผลมากได้อย่างไร คำตอบคือน้องต้องได้อ่านโน้ตย่อที่สามารถทำให้เข้าใจเนื้อหาทั้งหมดได้ เป็นโน้ตย่อที่เก็บสาระสำคัญครบ ตอบโจทย์ ตรงเป้าคะแนน

 

2. อ่านจากคำอธิบายและบทเฉลยในข้อสอบ

เวลาน้องทำข้อสอบเก่าจากหนังสือรวมข้อสอบต่าง ๆ ในท้ายบทหรือท้ายเล่มจะมีคำอธิบายประกอบคำเฉลย แสดงวิธีทำ อธิบายที่มาที่ไป บอกเหตุผลทำไมคำตอบข้อนี้ถึงถูกและข้ออื่นถึงผิด นี่ล่ะคือคลังความรู้แบบย่นย่อชั้นดี ที่จะช่วยทำให้เราได้ย้อนกลับไปทบทวนความรู้ที่เรามักฝากไว้กับครูบ้าง เพื่อนบ้าง หนังสือเล่มที่อ่านบ้าง การได้อ่านบทเฉลยที่มีคำอธิบายจะช่วยทำให้ลดเวลาอ่านหนังสือเล่มโตลงได้ และที่ได้มากกว่านั้นคือ โอกาสในการทำข้อสอบได้อย่างถูกต้อง เพราะสิ่งที่น้องกำลังอ่านอยู่นั้น คือข้อสอบเก่า ความรู้ก็มักจะเวียนว่ายตายเกิด วนไปมาอยู่ในนี้ ข้อสำคัญ อย่าดูเฉลยเพียงแค่เช็กว่าทำถูกหรือผิด แต่ต้องรู้ด้วยว่าที่ถูก ถูกเพราะอะไร เนื้อหาเป็นอย่างไร ที่ผิด ผิดตรงไหน คำอธิบายว่าอย่างไร เทคนิคนี้รับรองได้ว่า โกยคะแนนได้มากแน่นอน เพราะข้อสอบเก่า นำมาเล่าใหม่ได้เสมอ 

 

3. เลือกเวลาอ่านที่เป็นเวลาทองของเรา   

การทำสิ่งใดในเวลาที่มีสมาธิ สังเกตมั้ยว่า เราจะทำสิ่งนั้นได้ดีในเวลาอันรวดเร็ว การอ่านหนังสือก็เช่นกัน โดยเฉพาะกับน้อง ๆ ที่การอ่านหนังสือไม่ต่างอะไรจากการกินยานอนหลับ จากไม่ง่วง แต่พอจมูกได้กลิ่นหนังสือ ตาได้มองเห็นตัวอักษร แหม! มือ สมอง และดวงตามันพร้อมกันหนักไปหมด ดังนั้นการเลือกอ่านหนังสือในเวลา “Prime Time” หรือ ช่วงเวลาทองที่เหมาะกับสไตล์การอ่านของเรา จะช่วยทำให้ความรู้ได้เจอกับสมองที่ตื่นตัวเต็มที่ ได้เจอกับหัวใจที่พร้อมรับความรู้ น้อง ๆ ลองสังเกตตัวเองให้ดีว่า เราอ่านหนังสือเวลาไหนแล้วสมาธิมา ปัญญาเกิด ก็ล็อกเวลานั้นไว้ให้เป็นเวลาทองของการอ่านหนังสือ และอ่านในเวลาเดิม เพื่อให้สมองคุ้นเคยกับภารกิจนี้ จะได้ช่วยให้เราจำได้เร็วขึ้น มากขึ้น และนานขึ้น โดยใช้เวลาน้อยลง เป็นการอ่านเชิงคุณภาพไม่ใช่ปริมาณ แบบนี้ล่ะคือน้อยแต่มาก

 

4. ใช้การฟังแทนการอ่าน ให้จินตนาการทำงานแทนสายตา 

ในยามที่เราตาล้าหรือรู้สึกเบื่อกับการที่ต้องเห็นตัวอักษรมากมาย ยิ่งอัด ๆ อ่านเข้าไป ก็เข้าตาซ้าย ไหลออกตาขวา ไม่มีอะไรเหลือผ่านไปถึงสมอง ใช้เวลามาก แต่ผลตอบแทนที่ได้กลับไม่คุ้ม ลองเปลี่ยนใหม่เป็นการฟัง จุดนี้ต้องเริ่มจากการหาคนลงเสียง สำหรับพี่นัท พี่ใช้เสียงของตัวเอง เพราะก่อนที่จะลงเสียง แน่นอนว่าเราต้องอ่านมาก่อนแล้ว เพื่อให้สามารถเล่าเนื้อหาได้ นั่นเท่ากับได้ทบทวนเนื้อหาซ้ำ หรือปัจจุบันมีพอดแคสที่ช่วยเล่าบทเรียนย่อ ๆ ให้ฟัง ในยามที่พักไปออกกำลังกาย กินข้าว นั่งรถ ประกอบกับเสียงจะมีน้ำเสียง มีการเน้นหนักเบา มีอารมณ์ ซึ่งจะช่วยสร้างจิตนาการ จากง่วง ๆ จะทำให้ตื่นขึ้นมาได้ วิธีนี้ถือเป็นลูกเล่นใหม่ เพื่อให้สมองสนุกไปกับการอ่านหนังสือของเรา

 

5. ตั้งใจเรียนในห้องเรียนให้มากขึ้น จะได้ไม่ต้องอ่านมาก

ข้อนี้เป็นเทคนิคที่ช่วยให้น้อง ๆ ไม่ต้องอ่านหนังสือมากได้อย่างชัดเจน เพราะถึงอย่างไรน้องก็ต้องใช้เวลาไปกับการเรียนในชั้นเรียนอยู่แล้ว แต่หลายคน ตอนครูสอนไม่ตั้งใจฟัง คุยบ้าง เล่นบ้าง แอบทำอย่างอื่นบ้าง ผลคือเวลาที่ใช้ในห้องเรียนก็ถูกเผาทิ้งไปเปล่า ๆ ไม่ได้อะไร แถมยังต้องแลกกับการจัดเวลามาถมเพิ่มไปกับการอ่านหนังสือสอบ เพราะไม่รู้ว่าเรียนอะไรไปบ้าง เหมือนต้องใช้เวลาสองภาค ทั้งภาคการเรียน และภาคการอ่านไปกับบทเรียนเรื่องเดียวกัน แต่ถ้าน้อง ๆ ตั้งใจเรียนแล้วเกท! บางเรื่องแทบจะไม่ต้องอ่านเพิ่ม หรือถ้าต้องอ่าน ก็จะใช้เวลาในการอ่านน้อย ไม่ต้องเริ่มต้นนับหนี่งใหม่

 

6. แบ่งเรื่องกันอ่านกับเพื่อน แล้วมาแชร์กัน 

ในวิชาที่มีเนื้อหาเยอะ เช่น สังคมศึกษา ชีววิทยา ภาษาไทย วิชาที่เน้นการท่องจำ ทำความเข้าใจแบบไม่ได้ยากหรือลึกซึ้งมากนัก เพียงแต่เนื้อหามันรุงรังไปหมด อ่านคนเดียวเปลี่ยวหัวใจ ไม่เข้าสมอง ให้ใช้เทคนิคง่าย ๆ รวมกันเราอยู่ รวมหมู่เรารอด กระจายแบ่งเนื้อหากันให้แต่ละคนไปลงรายละเอียดอ่านเชิงลึก ทำความเข้าใจให้แตกฉากในเรื่อง ๆ นั้น แล้วจากนั้นมารวมแก๊งเล่าเรื่องราวหรือแจกชีทสรุปที่แต่ละคนรับผิดชอบ มาติวให้เพื่อนคนอื่นฟัง วิธีนี้จะช่วยซอยหนังสือเล่มหนา ๆ โต ๆ ที่มีจำนวนหน้าเยอะให้มีจำนวนน้อยลง เพราะเราไม่ต้องอ่านเองทั้งหมด อ่านเฉพาะในส่วนที่เรารับผิดชอบอย่างดีที่สุด ทั้งเพื่อตัวเองและเพื่อความรับผิดชอบต่อกลุ่มเพื่อน และถ้าทุกคนทำแบบนี้ เราจะได้บทเรียนย่อย ๆ ที่มีคุณภาพ เหมือนหั่นเค้กก้อนใหญ่ กระจายแบ่งกันให้ทั่ว กินได้ง่าย อร่อย และสนุกไปด้วยกัน

 

7. อ่านเองไม่เกท มาเลือกคอร์สเด็ดกับ VCOURSE ดีกว่า 

เทคนิคสุดท้าย ลองอ่านมาหลายวิธีแล้ว ก็ยังไม่ได้ผล ไม่เข้าใจ ไม่จำ ไม่เกท ไปต่อในห้องสอบไม่ได้ เรียกได้ว่าไปตัวเปล่าความรู้กระจัดกระจาย หรือบางทีก็กระเจิดกระเจิงไปไหนหมด ให้ลองวิธีนี้เอาอยู่ ! นั่นคือ ให้ติวเตอร์คุณภาพช่วยทำหน้าที่ในการสื่อสารบทเรียนให้เรา หาเทคนิคขั้นเทพต่าง ๆ ที่ช่วยเปลี่ยนคนธรรมดาให้กลายเป็นคนที่เข้าใจบทเรียน ทำข้อสอบได้คะแนนดีขึ้น มีความมั่นใจ มีความมุ่งมั่นที่จะเข้าคณะในฝันอย่างมีแผนการและวิธีการ โดย VCORSE ได้คัดสรรติวเตอร์ชั้นนำและคอร์สเด็ด ๆ ที่จะช่วยให้น้อง ๆ อัปคะแนนกันได้รัว ๆ ใครสนใจวิชาไหน ติวเตอร์คนใด แค่คลิก https://vcourse.ai แล้วจะรู้ว่า น้อยแต่มาก ในการติวเป็นอย่างไร