6 เหตุผล ทำไมเราถึงเรียนไม่เก่ง แล้วจะทำอย่างไรให้เก่ง VLEARN มีคำตอบ
4476 views | 11/07/2022
Copy link to clipboard
พี่นัท นัททยา
Content Creator

          การเรียนเก่งอาจไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของชีวิต แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่า การเรียนเก่งนำมาซึ่งความภาคภูมิใจในตัวเอง ครอบครัว และเป็นเครื่องมือหนึ่งที่นำทางให้เราประสบความสำเร็จในชีวิต แล้วคนที่เรียนไม่เก่งล่ะ ไม่มีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตหรือ คำตอบคือ “ไม่ใช่” คนเรียนเก่งหรือไม่เก่ง ล้วนมีโอกาสประสบความสำเร็จในชีวิตได้เหมือนกัน แต่ขึ้นอยู่กับว่า เราจะใช้อะไรเป็นเครื่องมือพาตัวเองไปสู่ความสำเร็จนั้น มาดู 6 เหตุผล ทำไมเราถึงเรียนไม่เก่ง แล้วจะทำอย่างไรให้เก่ง VLEARN มีคำตอบ


          แต่ด้วยในวัยเรียนของน้อง ๆ พี่นัทจึงเลือกเครื่องมือที่มีชื่อว่า “การศึกษา” มาเป็นอาวุธให้แก่น้อง ๆ ก่อน ถ้าอาวุธนี้ไม่แหลมคมพอ จะใช้ปกป้องความฝันของเรา เราจะทำอย่างไร พี่นัทว่าอันดับแรกเลยคือ หาตัวก่อเหตุ และแก้ให้ตรงจุด หยุดให้ตรงเหตุ ดังนั้นเรามารู้สาเหตุที่ทำให้เรียนไม่เก่งกันก่อน แล้วจากนั้นค่อย ๆ หาวิธีแก้ไขไปพร้อม ๆ กัน


1. ขาดความเอาใจใส่ ไม่มีความรับผิดชอบ เกียจคร้าน

         สาเหตุหลักที่ทำให้หลาย ๆ คน ไม่ประสบความสำเร็จในการเรียน เพราะขาดความเอาใจใส่ ไม่มีความรับผิดชอบ เกียจคร้านไม่อยากเรียนหนังสือ แล้วแบบนี้จะให้เรียนเก่งคงเป็นไปได้ยาก ดังนั้นลองเปิดใจตัวเองดูสักนิด ปรับตัวเองอีกสักหน่อย ค่อย ๆ เปลี่ยนตัวเองไปสู่เวอร์ชั่นที่ดีกว่า ไม่ต้องเก่งเพื่อแข่งกับใคร แต่เก่งขึ้นกว่าอดีตของตัวเองก็ถือว่าเจ๋งมากแล้ว สำหรับน้อง ๆ ที่ไม่รู้จะเริ่มต้นอย่างไร พี่นัทขอแนะนำวิธีง่าย ๆ ก่อน เพียงแค่เพิ่มความใส่ใจในการเรียนให้มากขึ้น ไม่ต้องถึงขั้นเป็นเนิร์ดสุดขั้ว แต่ลองท้าทายตัวเองดูก่อนว่า ที่เราเรียนไม่เก่ง เพราะเราไม่ฉลาด เรียนไม่ไหวจริง ๆ หรือเพราะขี้เกียจกันแน่ ดีไม่ดีบางคนขยันขึ้นอีกนิด ชีวิตเปลี่ยนได้เลย

 

2. ปัญหาด้าน IQ เรียนรู้ช้า ความจำสั้น เข้าใจยาก   

         IQ หรือระดับสติปัญญา คือความสามารถในการเรียนรู้ การคิด การตัดสินใจ และการแก้ปัญหาอย่างมีเหตุผล IQ จึงเป็นเครื่องชี้วัดความฉลาดอย่างหนึ่ง ดังนั้นถ้าระดับ IQ ต่ำกว่าเกณฑ์ อาจทำให้การเรียนรู้ช้า และเรียนได้ไม่ดีเท่าที่ควร แต่น้อง ๆ ไม่ต้องเครียดหรือกังวล ถ้าเราช้า เราก็ต้องใช้ความขยันเข้าช่วยให้มากขึ้น ทำใหม่ ทำเพิ่ม ทำซ้ำ วนไปให้มากกว่าคนอื่น เหมือนกระต่ายกับเต่า ความขยัน รอบคอบ ไม่ประมาท เดินช้า แต่เดินชัวร์ไม่มีหยุด สักวันก็ถึงเส้นชัย ที่สำคัญไม่ควรกดดันหรือวัดค่าตัวเองแต่เรื่องการเรียนเพียงเรื่องเดียว เหมือนพาตัวเองเข้าสู่สนามแข่งที่เป็นรองอยู่ตลอดเวลา แต่น้อง ๆ ควรหาวิธีการอื่นหรือสิ่งอื่นมาช่วยพัฒนาและส่งเสริมความสามารถด้านอื่น ๆ ทำให้เราเกิดความภาคภูมิใจในตัวเองในเรื่องที่สามารถทำได้ดี  

 

3. ความเจ็บป่วยทางร่างกาย หรือจิตใจ

          ความเจ็บป่วยไม่ว่าจะมาจากร่างกายหรือจิตใจ รวมไปถึงความบกพร่องบางอย่างของร่างกาย ล้วนส่งผลต่อการเรียนทั้งสิ้น เช่น เจ็บป่วยเรื้อรัง มีปัญหาทางด้านสายตาหรือการได้ยิน โรคทางจิตเวชที่ส่งผลต่อการเรียน เช่น โรคสมาธิสั้น (ADHD) โรคความบกพร่องทางการเรียนรู้ (LD) โรคซึมเศร้า โรควิตกกังวล ดังนั้นแทนที่จะกดดันตัวเองในเรื่องเรียน แต่ควรหาวิธีการผ่อนคลาย สร้างความยืดหยุ่นทางการเรียน สร้างสมดุลการใช้ชีวิตควบคู่ไปกับการรักษาที่ถูกต้องและทันท่วงที ต่อให้การเรียนจะไม่ได้ผลเป็นที่น่าพอใจ แต่อย่าลืมว่า การมีชีวิตอยู่อย่างมีคุณค่า ไม่ได้มีแต่แค่เรื่องเรียนเท่านั้น ยังมีความสุข คุณค่า และความสำเร็จด้านอื่น ๆ รออยู่ รีบรักษาตัวเองให้แข็งแรงทั้งร่างกาย และแข็งแกร่งทางจิตใจ คือสิ่งที่สำคัญที่สุด แต่ในระหว่างการรักษาอย่าลืมให้คุณค่าและความสำคัญของการเรียนประคองเคียงข้างไปด้วยอย่างสมดุล  

 

4. ไม่ชอบเรียนหนังสือ สนใจกิจกรรมอื่นนอกห้องเรียนมากเกินไป

          ความชอบ ความรัก คือหัวใจข้อแรกของความสำเร็จตามหลักอิทธิบาท 4  ถ้าปราศจากความรักในการเรียน โอกาสจะประสบความสำเร็จก็ยากขึ้น จริง ๆ แล้วเด็กกลุ่มนี้มีความสามารถ มีพลัง เพียงแต่เขาเลือกใช้มันไปกับเรื่องอื่น ที่ไม่ใช่เรื่องเรียน ! เวลาที่เรารักอะไร ชอบอะไรความรู้สึกจะสั่งการให้สมองจดจำ ถ้าไม่รู้สึกชอบ จะจำไม่ได้ หรือจำได้ยาก จำได้สั้น ๆ น้อง ๆ อาจไม่ได้ขี้เกียจ เพียงแต่รู้สึกไม่อินกับการเรียน รู้สึกว่ามีอย่างอื่นที่มีคุณค่ามากกว่า น่าสนใจกว่า ดีกว่า สนุกกว่าการเรียนหนังสือ เช่น เล่นเกม ดูซีรี่ส์ ท่องโซเชียล  หรือกิจกรรมอื่น ๆ ความสนใจกิจกรรมภายนอกถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ถ้ามากเกินไป จนทำให้ละเลยความสำคัญของการเรียนและการแบ่งเวลา เรื่องนี้ถือว่าอันตรายต่อชีวิตในระยะยาว อย่าลืมว่าช่วงมัธยมผ่านไปไวและใช้เวลาสั้นมาก เมื่อเทียบกับเวลาช่วงอื่นของชีวิต แต่เวลาไม่นานของช่วงนี้นี่ล่ะ ที่จะส่งผลระยะยาวต่อชีวิตของเรา ดังนั้นควรสร้างความสมดุลให้ได้ระหว่างการเรียนในห้องกับกิจกรรมนอกห้อง แบ่งหัวใจมารักการเรียนบ้าง ก็ไม่ได้ทำให้ความรักด้านอื่นของน้องลดลงเสียหน่อย

 

5. ครูสอนไม่สนุก ไม่ชวนติดตาม โรงเรียนไม่น่าอยู่ 

          สำหรับน้อง ๆ บางคนอาจรักการเรียน ตั้งใจเรียนแล้ว แต่ที่เรียนไม่เก่งเพราะครูสอนไม่เข้าใจ สอนไม่สนุก ไม่ชวนติดตาม ทำให้ไม่รู้สึกอยากเรียน ไม่มีความสุขกับบรรยากาศการเรียนการสอนในโรงเรียน ยิ่งน้อง ๆ ในยุคดิจิทัลเกิดมาพร้อมกับแหล่งสืบเสาะหาความรู้ได้หลากหลาย ทั้งในและนอกห้องเรียน อาจจะรู้สึกไม่อยากเรียน เบื่อ ถ้าครูไม่ปรับรูปแบบการสอนให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ของเด็กที่เปลี่ยนไป หรือบางคนอาจมีปัญหากับเพื่อน กับครู กับรุ่นพี่รุ่นน้อง ปัญหากับโรงเรียน เช่น ระบบโรงเรียน มาตรฐานการเรียนการสอน  หากเป็นด้วยเหตุนี้ น้อง ๆ ควรหาโอกาสปรึกษากับคุณพ่อคุณแม่หรือผู้ปกครอง เล่าถึงปัญหาความคับข้องใจที่เจอ แล้วร่วมกันหาทางแก้ไขอย่างสร้างสรรค์ เช่น ส่งข้อเสนอแนะไปยังโรงเรียน เรียนพิเศษเสริม หากิจกรรมเพิ่มเติม หรือถ้ามีโอกาสลองเปิดใจคุยกับคุณครูอย่างสุภาพและสร้างสรรค์ ลองเสนอแนะวิธีการหรือรูปแบบการสอนที่เราชอบ นำมาแชร์กับครู จะได้เป็นการแลกเปลี่ยนมุมมองให้แก่กัน อย่าปล่อยให้เรื่องนี้เป็นปัญหาเรื้อรัง ทับถมความรักการเรียนของเรา จนไม่มี Passion ในการเรียนให้ประสบความสำเร็จ

 

6. ไม่ได้รับการสนับสนุนที่ดีพอจากครอบครัว ขาดแรงจูงใจในการเรียน

          บ้านอาจเป็นสาเหตุของการเรียนของน้อง ๆ ได้เช่นกัน ปัจจัยทางบ้าน เช่น ครอบครัวมีปัญหาทะเลาะเบาะแว้ง ขาดการดูแลเอาใจใส่ที่ดีพอ ทำให้น้อง ๆ เกิดความทุกข์ ไม่มีแรงจูงใจในการเรียน ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ พี่นัทอยากขอให้น้อง ๆ อดทน อย่างคนที่ทรงพลังและเลือกใช้การเรียนเป็นเครื่องมือช่วยสร้างโอกาสให้กับชีวิต หากผู้ใหญ่ยังไม่สามารถแก้ไขปัญหาชีวิตของตนเองได้ น้อง ๆ ก็ไม่ควรที่จะแบกปัญหาของพวกเขามาไว้กับตัว ปัญหาบางอย่างมันมีพลังทุกข์มากในช่วงเวลาหนึ่ง แต่เมื่อผ่านไปอีกเวลาหนึ่ง ปัญหาเดียวกัน มันอาจไม่ได้หนักหรือสาหัสเหมือนกัน หรือบางครอบครัวอาจจะเป็นตรงกันข้ามเลยคือ เป็นกลุ่มพ่อแม่รังแกฉัน น้องบางคนอาจจะถูกสปอยอย่างหนัก หรือบางคนอาจถูกกดดันและคาดหวังมากเกินไป จนน้อง ๆ รู้สึกเครียด กดดัน จนทำให้การเรียนไม่มีความสุขและไม่มีประสิทธิภาพ ปัญหาครอบครัวจึงไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยตัวของน้อง ๆ เองเพียงลำพัง แต่ทุกคนในครอบครัวต้องช่วยกัน การเปิดใจสื่อสารกับครอบครัวด้วยความเคารพและความรัก ถือว่าเป็นทางออกที่ดีที่สุดของปัญหานี้

 

          หากใครเจอสาเหตุเหล่านี้ในชีวิตตัวเอง อย่าเพิ่งท้อใจ ข้อแรกต้องเชื่อก่อนว่า เมื่อปัญหามีทางเข้ามาในชีวิตของเราได้ แปลว่ามันต้องมีทางออกไปจากชีวิตเราได้ ทางเข้ามี ทางออกก็ต้องมา เพียงแต่ว่าเราจะแข็งแกร่งและอดทนพอจะหามันเจอหรือไม่ และถ้าน้องคิดไม่ได้ ไปต่อไม่ถูก สิ่งที่ห้ามคิดเด็ดขาดเลยคือ ไม่มีใครช่วยเราได้ ลองเปิดโอกาสตัวเองให้ได้รับคำปรึกษา คำแนะนำ และความช่วยเหลือจากคนอื่น อย่างเช่นพี่ ๆ จาก VLEARN ที่พร้อมเป็นเมนเทอร์ช่วยให้คำแนะนำน้อง ๆ ในเรื่องการเรียนและการวางแผนชีวิต แม้พี่จะไม่ใช่เด็กหงส์ แต่ก็อยากบอกน้อง ๆ ว่า you will never walk alone

 

พี่นัท นัททยา

ที่มาข้อมูล

  • http://www.plookfriends.com/blog/content/detail/88785
  • https://www.top-atutor.com/15551804/5-สาเหตุที่ทำให้เรียนไม่รู้เรื่อง
  • http://www.cumentalhealth.com/รอบรู้เรื่องสุขภาพจิตเด็ก/เด็กเรียนหนังสือไม่เก่ง.html