เช็กลิสต์ความเป็นหมอ ใช่หมอมั้ย ถามใจเธอดู EP. 2
1649 views | 05/07/2022
Copy link to clipboard
พี่นัท นัททยา
Content Creator

หลังจากปล่อยข้อมูล เช็กลิสต์ความเป็นหมอ ใช่หมอมั้ย ถามใจเธอดู EP. 1  ไป น้อง ๆ หลายคนได้ลองตรวจสอบตัวเองไปแล้ว คำตอบเป็นที่น่าพอใจบ้าง น่าหนักใจบ้าง แต่อย่าเพิ่งเครียดไป ข้อไหนที่ตรวจสอบแล้วพบว่า เรามีคุณสมบัติตรง ก็ลุ้นให้มงลงพอดี แต่ถ้าข้อไหนที่ยังไม่ตรง ก็ต้องหาทางที่จะเสริมเติมสิ่งเหล่านั้น ไม่ใช่ไม่มีมาแต่แรก ก็ปล่อยให้ไม่มีต่อไปเรื่อย ๆ วันนี้เรามาติดตามกันต่อ หลังจาก 5 ข้อแรกผ่านไป ว่ากันต่ออีก 5 ข้อหลังเลยค่ะ ขาดข้อไหน เตรียมเอาปากกามาวงกันได้เลย


 


6. สุขภาพกายแข็งแรง สุขภาพจิตแข็งแกร่ง 

          ก่อนที่เราคิดจะดูแลสุขภาพคนอื่น สุขภาพของตัวเราเองต้องมาก่อน อย่างที่ทราบกันคนเป็นหมอทำงานหนัก ไม่เป็นเวลา มีความกดดันสูง และต้องแบกรับความคาดหวังต่าง ๆ มากมาย ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ล้วนส่งผลต่อสุขภาพทั้งทางกายและทางจิตใจ และไม่ใช่แค่ความเป็นหมอหนักแค่ตอนทำงาน จริง ๆ แล้วเรียกว่าหนักมากตั้งแต่ขั้นตอนการเตรียมตัว หนังสือก็ต้องอ่านมากกว่าสาขาอื่น วิชาสอบก็มากกว่าทุกสาขา ไหนจะทักษะ คุณสมบัติที่เหมาะสมที่เป็นด่านตรวจวัดคุณสมบัติก็มีมากมาย ดังนั้นหลายคนที่สอบหมอ จะต้องเผชิญกับปัญหาสุขภาพตั้งแต่แรก ความเครียดความกดดันโหมกระหน่ำ อดหลับอดนอน ไม่มีเวลาออกกำลังกาย ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้องสำหรับคนที่เตรียมตัวเป็นหมอ สร้างกฎเหล็กให้แก่ตัวเอง ก่อนดูแลเขา ต้องดูแลตัวเราให้ดีที่สุด เราป่วย เราไม่แข็งแรง ก็เป็นเรื่องยากที่จะช่วยทำให้คนอื่นแข็งแรงได้  

 

7. มีทักษะการทำงานเป็นทีมที่ดี

          การทำงานเป็นทีม ถือเป็นทักษะสำคัญสำหรับคนเป็นหมอ ต่อให้น้องเรียนเก่งแค่ไหนก็ตาม แต่วิถีการทำงานไม่สามารถทำให้น้องเป็น One man show ได้ ที่เราเห็นว่าตอนเจ็บไข้ได้ป่วย ก็ไปรักษากับหมออยู่คนเดียว แต่จริง ๆ แล้ว ใช่ว่าหมอจะทำงานคนเดียวตลอดเวลา เพราะการเป็นหมอต้องทำงานร่วมกับผู้อื่นด้วย เช่น พยาบาลในเรื่องการทำหัตถการ รายงานอาการป่วย การดูแลผู้ป่วย เภสัชกรในเรื่องการจ่ายยาที่เหมาะสมกับโรคและข้อจำกัดของคนไข้ การผ่าตัด ที่ต้องทำงานร่วมกับคนในแผนกอื่น ๆ เพื่อเป็นทีมช่วยให้การผ่าตัดราบรื่นและปลอดภัย อีกทั้งยังมีแพทย์สาขาอื่น ๆ ในกรณีที่คนไข้มีอาการป่วยหลายระบบ นักกายภาพ นักรังสีเทคนิค ฯลฯ เรียกว่าต้องทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์หลายฝ่าย คนเหล่านี้ถือเป็น “ทีมในการรักษา” ที่ต้องอาศัยการทำงานร่วมกัน และจัดการผู้ป่วยแต่ละคนอย่างมืออาชีพและเป็นระบบ การเป็นหมอผู้รักษานั้นหมายถึงการเป็นผู้นำของทีม เพื่อให้ทุกกระบวนการรักษาไปถึงเป้าหมายได้ 

 

8. มีความเชื่อมั่น มีจริยธรรม ยึดมั่นต่อจรรยาบรรณแพทย์

          จริยธรรมหมายถึงความดีงามที่ปรากฏภายนอก เป็นการประพฤติปฏิบัติที่ถูกต้องเหมาะสมกับการทำหน้าที่ของตนอย่างสมบูรณ์ เป็นที่ยอมรับของสังคม โดยในส่วนของจริยธรรมแพทย์คือ  วิธีการดำเนินการรักษาโรคให้กับผู้ป่วย การตัดสินใจของหมอจึงสำคัญมาก เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตและการประพฤติปฏิบัติที่ควรเป็นไปตามความเหมาะสมของวิชาชีพ  ส่วนจรรยาบรรณแพทย์คือประมวลความประพฤติอันเหมาะสมตามแนวทางของจริยธรรม คุณธรรม หรืออุดมการณ์ ซึ่งเป็นหลักสากลที่ดีงาม ส่วนความเชื่อนั้น สมเด็จพระมหิตลาธิเบศร อดุลยเดชวิกรม พระบรมราชชนก พระบิดาแห่งการแพทย์แผนปัจจุบันของไทย มีพระราชดำรัสว่า

          “คุณลักษณะสำหรับการเป็นแพทย์นั้น คือ ความเชื่อถือไว้วางใจ 3 ประการ 1. ความเชื่อในความสามารถของตนเอง คือ มีความมั่นใจ 2. ความไว้ใจระหว่างแพทย์กันเอง คือ ความเป็นปึกแผ่น และ 3. ความเชื่อถือจากคนไข้ คือความไว้ใจของคณะชน คุณสมบัติสามประการนี้เป็นอาวุธ เกราะ และเครื่องประดับอันงามของแพทย์”

          สามความเชื่อที่คนเป็นหมอจำเป็นต้องมีในการทำหน้าที่ของตน สำหรับน้อง ๆ ที่อยากเป็นหมอ ลองถามตัวเองดูว่า เราเคารพและให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มากแค่ไหนในชีวิต

 

9. มีทักษะการสื่อสารที่ดี

          ความสามารถทางการสื่อสาร ทั้งวจนภาษาและอวจนภาษา ล้วนสำคัญอย่างยิ่ง การใช้ภาษาได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม การอธิบายที่ชัดเจน เข้าใจง่าย การเลือกใช้คำ น้ำเสียง สีหน้า การแสดงท่าที รวมทั้งความสามารถในการรับฟังปัญหาการเจ็บไข้ได้ป่วยของคนไข้

          หมอที่ดีที่คนไข้ต้องการต้องสามารถสื่อสารเพื่อให้คำแนะนำ นำเสนอทางเลือกเพื่อให้คนไข้หรือญาติได้พิจารณาและตัดสินใจเรื่องการรักษา หรือแม้กระทั่งการสื่อสารเพื่อให้กำลังใจในกรณีที่แพทย์ต้องแจ้งข่าวร้าย ทักษะนี้แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรักษา แต่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้บรรยากาศในระหว่างการรักษา หรือแม้แต่หลังจากการรักษาจบไปแล้วเป็นไปอย่างราบรื่น ดังนั้นการสื่อสารจึงเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นยิ่งสำหรับคนเป็นหมอ

 

10. ต้านทานแรงกดดัน มีความสามารถในการแก้ปัญหา

          งานของหมอคือการแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพให้แก่คนไข้ การตรวจสอบ คิดวิเคราะห์ วินิจฉัย และประเมินความเป็นเป็นได้ทางร่างกายของผู้ป่วย เพื่อตัดสินใจและเลือกวิธีการรักษาแบบใดที่ดีที่สุดต่อคนไข้ ด้วยความแม่นยำและรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้คนไข้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ โดยต้องคำนึงถึงสุขภาพระยะยาว และความต้องการของตัวคนไข้เป็นสำคัญ การแก้ปัญหา การตัดสินใจในสภาวะที่กดดันและรวดเร็ว จึงเป็นทักษะที่ใช้ควบคู่ไปกับองค์ความรู้ทางการแพทย์ทั้งหมด ทุกเสี้ยววินาที คือการกำหนดความเป็นความตาย การอยู่รอดปลอดภัยของคนไข้ แน่นอนว่าในสถานการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้หมอต้องเผชิญกับแรงกดดันมากมายและต่อเนื่อง ทักษะในการรับมือกับแรงกดดันจึงสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าตัดสินใจผิด ก็อาจทำให้ชีวิตของคนไข้เปลี่ยนไปได้ทันที 

 

          เป็นอย่างไรบ้างคะ ไหวมั้ย ใครไหวไปต่อ ใครไม่ไหว ลองปรับตัว เปลี่ยนแนวคิด เตรียมตัวเราให้พร้อมที่สุด หรือใกล้เคียงที่สุดกับคุณสมบัติของคนที่จะเป็นหมอจริง ๆ พี่นัทเชื่อมั่นว่า ถ้าน้อง ๆ มีความตั้งใจจริง อะไรก็ขวางน้อง ๆ ไม่ได้ ความสำคัญจึงอยู่ที่ว่า คุณน่ะ...จริงมั้ย และจริงแค่ไหนในความเป็นหมอ

 

พี่นัท นัททยา

ที่มาข้อมูล

  • https://www.trueplookpanya.com/explorer/occupation-step3/9
  • http://www.thaihospital.org/board2/index.php?topic=1381.0