สำหรับน้อง ๆ ที่สืบค้นตัวตนมาอย่างมั่นใจแล้วว่า เป้าหมายชีวิตของเราคือการเป็นหมอ วันนี้เรามาเติม Item สำคัญที่จะทำให้ความเป็นหมอของเราไม่ใช่แค่เรื่องความฝันอีกต่อไป แต่สามารถเป็นเรื่องจริงได้ในชีวิต นอกเหนือจากความรู้ทางวิชาการแล้ว สิ่งสำคัญที่จะทำให้ความเป็นหมอของน้องสมบูรณ์ยิ่งขึ้น นั่นคือ “ทักษะ” แล้วหมอต้องมีทักษะอะไรบ้าง ไปดูกันเลย
ทักษะของคนที่พร้อมจะเป็นหมอจำเป็นจะต้องมีความพร้อมทั้ง Soft Skills และ Hard Skills ว่าแต่สองคำนี้คืออะไรนะ ไปทำความรู้จักกันให้สนิทยิ่งขี้นเลยค่ะ
คือ ความรู้ ทักษะ หรือความสามารถที่ใช้ในการทำงานในแต่ละสายอาชีพ ซึ่งสามารถวัดประเมินผลได้ด้วยเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม สามารถพัฒนาได้จากการเรียนรู้ การศึกษา ค้นคว้าฝึกฝน เกี่ยวข้องกับความรู้เชิงเทคนิค เช่น ทักษะทางวิทยาศาสตร์ การพูดภาษาอังกฤษ การเขียน การคำนวณ การเขียนโปรแกรม เป็นต้น
คือ ทักษะหรือความสามารถเชิงสมรรถนะ ลักษณะอุปนิสัย ที่ช่วยให้สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างมีประสิทธิภาพ และส่งผลต่อผลลัพธ์และความสำเร็จ เป็นความสามารถของบุคคลในเรื่องงานที่ไม่เกี่ยวกับความสามารถเชิงเทคนิค เช่น ความคิดสร้างสรรค์ การเป็นผู้นำ การบริหารเวลา มนุษยสัมพันธ์ การปรับตัว การควบคุมอารมณ์ เป็นต้น
พี่นัทขอสรุปให้เข้าใจง่าย ๆ ว่า
Hard Skills เป็นเรื่องของวิชาชีพ (Professional)
Soft Skills มีความเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพ (Personality)
สำหรับน้อง ๆ ที่ต้องการจะเป็นหมอ จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องพัฒนาฝึกฝนเตรียมความพร้อมด้านทักษะของตัวเราตั้งแต่วันนี้ วินาทีนี้ ไม่ใช่รอให้คะแนนพาเราไปสู่การสอบติดหมอก่อน แล้วจากนั้นค่อยเตรียมตัว ขอบอกเลยว่า “ไม่ทันค่ะ” การสอบติดคณะแพทยศาสตร์ไม่ได้การันตีว่า ทุกคนที่สอบติด จะได้สอบผ่านเข้าสู่เส้นทางอาชีพการเป็นหมอได้จริง ๆ ทุกคน ในทุกปีมีคนสอบติดหมอ แต่ไม่ได้จบหมอมากมาย ทั้งเรียนไม่ไหว หรือเรียนไหวแต่ใจมันไม่ใช่ ถูกรีไทร์ หรือเต็มใจลาออกเอง ดังนั้นถ้าน้อง ๆ ไม่อยากเสียเวลาไปลุ้นที่หลังว่า เมื่อสอบติดแล้ว เราจะรอดจบไปเป็นหมอได้หรือไม่ พี่นัทว่า การเตรียมทักษะให้พร้อม จะช่วยทำให้การสอบติดหมอของน้อง ๆ ไม่ผิดฝาผิดตัว ไม่เสียเวลา หรือช่วยทำให้คนไข้ในอนาคตของน้อง ๆ ได้มีโอกาสเจอกับหมอที่มีคุณภาพ ถึงพร้อมทั้งความรู้และทักษะที่เพียงพอต่อการเป็นหมอ
เมื่อเห็นความสำคัญและจำเป็นของทักษะแล้ว จากนี้ไป ลุยค่ะ ไปลงรายละเอียดกัน ว่า Skills ของคนจะเป็นหมอต้องมีอะไรบ้าง
เริ่มต้นด้วย Hard Skills กันก่อน นั่นคือ ทักษะด้านการแพทย์ หมายถึง องค์ความรู้ที่เราต้องเรียนรู้ในการเป็นหมอ น้อง ๆ จะมีแต่ความจำ ท่องสูตร ท่องตำราได้เป็นนกแก้วนกขุนทองที่แสนฉลาดและความจำดีอย่างเดียวไม่ได้ แต่น้องจะต้องมีทักษะทางด้านวิทยาศาสตร์สุขภาพ วิทยาศาสตร์พื้นฐาน การดูแลสุขภาพ และพอน้องเข้าไปเรียนคณะแพทยศาสตร์จริง ๆ น้องจะได้รับโอกาสที่จะเสริมเติมทักษะทั้งด้านการรักษาโรคต่าง ๆ ความรู้ความสามารถทางวิชาชีพ และทักษะทางคลินิก ซึ่งจะได้เรียนเฉพาะเจาะจงไปตามชั้นปีต่าง ๆ รวมถึงตามสาขาเฉพาะทางที่น้อง ๆ เลือก แม้ว่าคนเก่งทุกคน อาจจะไม่ได้เป็นหมอ แต่หมอทุกคน จำเป็นต้องเป็นคนเก่งนะคะ ไม่อย่างนั้นจะเป็นความน่าหวาดเสียวของคนไข้มาก 55
จากนี้ไป เราจะมาเข้าสู่ทักษะที่เป็น Soft skills กันแล้วนะคะ การคิดวิเคราะห์และการคิดเชิงวิพากษ์อย่างเป็นระบบ จะช่วยทำให้ว่าที่คุณหมอสามารถจัดลำดับความคิดก่อนหลัง เรียงลำดับความสำคัญด้วยความแม่นยำและรวดเร็ว ซึ่งจะช่วยให้คนไข้ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงทีและมีประสิทธิภาพ
งานของแพทย์คือการแก้ปัญหาเรื่องสุขภาพให้แก่คนไข้ การตรวจสอบ วินิจฉัย และประเมินความเป็นเป็นได้ทางร่างกายของผู้ป่วย เพื่อตัดสินใจและเลือกวิธีการรักษาแบบใดที่ดีที่สุดต่อคนไข้ โดยต้องคำนึงถึงสุขภาพระยะยาว และความต้องการของตัวคนไข้เป็นสำคัญ การแก้ปัญหา การตัดสินใจในสภาวะที่กดดันและรวดเร็ว จึงเป็นทักษะที่ใช้ควบคู่ไปกับองค์ความรู้ทางการแพทย์ทั้งหมด ทุกเสี้ยววินาที คือการกำหนดความเป็นความตาย การอยู่รอดปลอดภัยของคนไข้ ดังนั้นทักษะนี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง เพราะถ้าตัดสินใจผิด ชีวิต (คนไข้) เปลี่ยนได้ทันที
ในช่วงเวลาวิกฤติ ความเป็นความตายของคนไข้ การจัดการอย่างเป็นระบบจะช่วยลดความยุ่งยาก และความละเอียดรอบคอบจะช่วยลดความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นในทุกนาทีของการรักษา ในทุกการวินิจฉัย การตัดสินใจต่าง ๆ ตลอดทั้งกระบวนการในการรักษา คนเป็นหมอจะหลุด จะโป๊ะอะไรไม่ได้เลย ต้องเก็บรายละเอียดทุกอาการ ทุกข้อมูลเพื่อประกอบการวินิจฉัยรักษาโรค ดังนั้นก่อนคิดจะเป็นหมอ ถามตัวเองให้ดีว่า เราถึงพร้อมด้วยความละเอียดรอบคอบเพียงพอแล้วหรือยัง พร้อมมั้ยที่จะใส่ใจในรายละเอียดต่าง ๆ ของคนอื่น เพื่อทำให้พวกเขาได้รับการรักษาที่ดีและมีความปลอดภัยสูงสุด
หมอต้องทำงานร่วมกับบุคลากรทางการแพทย์หลายฝ่ายทั้งแพทย์ผู้ช่วย พยาบาล ผู้ช่วยในห้องผ่าตัด นักกายภาพบำบัด นักเทคนิคการแพทย์ เภสัชกร ฯลฯ และแน่นอนว่า อาชีพหมอไม่ใช่ one man show เก่งคนเดียว รักษาคนเดียว แต่ทุกกระบวนการต้องทำงานเป็นทีม ความเชื่อมั่นในตัวเอง ความเชื่อใจในทีมงาน และความน่าเชื่อถือที่ได้รับจากคนไข้ ล้วนเป็นสิ่งสำคัญที่คนเป็นหมอจะต้องมี การเป็นแพทย์ผู้รักษาหมายถึงการเป็นผู้นำของทีม เพื่อให้ทุกกระบวนการรักษาไปถึงเป้าหมายได้
การสื่อสารที่ดี ทั้งวจนภาษา และอวจนภาษา ไม่ว่าจะเป็นการพูดหรือการเขียน ล้วนสำคัญอย่างยิ่งต่อวิชาชีพนี้ ไม่ว่าจะเป็นทักษะด้านการพูด การเลือกใช้คำ น้ำเสียง สีหน้า การแสดงท่าที ล้วนเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำงานร่วมกับผู้อื่น รวมทั้งการสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติ การสื่อสารเพื่อให้คำแนะนำ การนำเสนอทางเลือกเพื่อให้คนไข้หรือญาติได้พิจารณาและตัดสินใจเรื่องการรักษา หรือแม้กระทั่งการสื่อสารเพื่อให้กำลังใจในกรณีที่แพทย์ต้องแจ้งข่าวร้าย ทักษะนี้แม้จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงกับการรักษา แต่ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การรักษาเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยให้บรรยากาศในระหว่างการรักษา หรือแม้แต่หลังจากการรักษาจบไปแล้ว การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับคนเป็นหมอ
นี่อาจไม่ใช่ทักษะทั้งหมดที่คนเป็นหมอควรมี แต่พี่นัทมั่นใจว่า ทักษะเหล่านี้ คือทักษะลำดับต้น ๆ ที่คนเป็นหมอ...ต้องมี! ดังนั้นก่อนจะได้เป็นหมอ ขอให้น้อง ๆ เตรียมตัวให้พร้อม เติมเต็มทักษะเหล่านี้เก็บเกี่ยวสะสมไว้ในตัว เพื่อที่วันเป็นหมอมาถึง น้อง ๆ จะได้ถึงพร้อมสำหรับการเป็นหมออย่างแท้จริง
พี่นัท นัททยา