สิ่งที่ต้องมีและไม่ต้องมี ใน Portfolio 10 หน้า
6151 views | 16/03/2022
Copy link to clipboard
พี่นัท นัททยา
Content Creator

      Portfolio ที่ดี ควรมีสิ่งที่ต้องมีให้ครบ และไม่จำเป็นต้องมี ในสิ่งที่น้อง ๆ อาจคิดว่าควรมี แต่คณะกรรมการมองว่า “ไม่จำเป็น” สิ่งที่ใส่เกินความจำเป็นบางครั้งไม่ใช่แค่ไม่มีประโยชน์ แต่อาจกลายเป็นผลเสียตามมาก็ได้ ดังนั้นเรามาดูกันว่า สิ่งที่ต้องมีและไม่ต้องมี ใน Portfolio 10 หน้า มีอะไรบ้าง 



    Portfolio หรือ แฟ้มสะสมผลงาน คือ เอกสารที่แสดงตัวตน ความรู้ ความสามารถ ทักษะ การเข้าร่วมกิจกรรม ตลอดจนรางวัลที่ได้รับ ที่มีความสอดคล้องกับสาขาวิชาที่เราสมัคร ใช้เป็นเครื่องมือแข่งขันหลักในรอบที่ 1 และอาจมีใช้ประกอบบ้างใน TCAS รอบอื่น ๆ โดยทางมหาวิทยาลัยอาจจะขอใช้ Portfolio 10 หน้า เป็นข้อมูลเพื่อประกอบการพิจารณา  


สิ่งที่ต้องมี

1. หน้าปก Portfolio

      ความจริงแรกหน้าปกไม่ถูกนับรวมไว้เป็น 1 ในจำนวน 10 หน้าของ Portfolio แต่ถือว่าเป็นประตูด่านแรกที่ควรให้ความสำคัญลำดับต้น ๆ ไม่ต่างอะไรจากหน้าปกหนังสือ ที่ต้องยอมรับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกอยากซื้อหนังสือเล่มนั้นหรือไม่ นอกเหนือไปจากเนื้อหาด้านใน หรือ Profile ของคนเขียน ดังนั้นหน้าปกคือภาพแรกแห่งความประทับใจ เป็นการเปิดการ์ดทักทายกัน สร้างโอกาสทำความรู้จักกันอย่างเร็วที่สุด และน่าสนใจที่สุด 


2. ประวัติการศึกษา

      จะไล่กันมาตั้งแต่สมัยมัธยมต้นก็ได้ หรือบางคนสะดวกจะนำเสนอแค่ในส่วนมัธยมปลายก็ไม่ผิด เพียงแต่ต้องเข้าใจก่อนว่า ผลการเรียนมีไว้ใช้สื่อสารเรื่องอะไร อยากรู้ว่าเราเรียนเก่งมากน้อยแค่ไหน มันสำคัญจำเป็นเหรอ บางคนเรียนไม่เก่ง แต่อาจจะเหมาะสมกับคณะหรือสาขานั้นก็ได้ คำตอบจริง ๆ ไม่ใช่การวัดความเก่งหรือไม่เก่งค่ะ แต่ผลการเรียนมีไว้ใช้สื่อสารความรับผิดชอบในชั้นเรียน ความรับผิดชอบต่อบทบาทและหน้าที่การเป็นนักเรียนของน้อง ๆ ช่วยให้คณะกรรมการมองเห็นพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงของเรา   


3. SOP (Statement of Purpose) 

      เหตุผลที่เลือกเรียน เป้าหมายในชีวิต ความฝันความมุ่งมั่นที่มี ความเหมาะสม และประโยชน์ที่สังคมจะได้รับจากเรา เนื้อหาส่วนนี้คือหัวใจสำคัญที่จะทำให้พอร์ตของน้อง ๆ มีความหมายและกลายเป็นคะแนน เพราะเป็นคำตอบสำคัญให้คณะกรรมการรับรุู้ว่า ทำไมสาขานี้ คณะนี้ถึงจะต้องรับน้องเข้ามาเรียน การให้โอกาสน้องจะทำให้สถาบันและสังคมได้รับโอกาสและประโยชน์อะไรจากเรา เพื่อจะได้เลือกคนเข้าไปแล้วไม่ผิดฝาผิดตัวทีหลัง   


4. ผลงาน

      รางวัล ผลงาน และเกียรติบัตร ให้เลือกผลงานที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม เนื้อหาส่วนนี้จะเป็นคำตอบสำคัญที่จะทำให้คณะกรรมการรู้ว่า เราเหมาะสมกับคณะนี้ในด้านความรู้ความสามารถหรือความสนใจใจหรือไม่ เป็นการ check list คุณสมบัติเบื้องต้น ว่าน้อง ๆ มีความเหมาะสมและสอดคล้องอะไรติดตัวมาก่อนที่จะเข้าเรียนในสาขาหรือคณะนี้ 


5. กิจกรรม 

      กิจกรรมคือเครื่องมือสะท้อนความถนัด ความสนใจ และความชอบ ว่าตัวตนของเรามีความสอดคล้องกับสาขามากน้อยแค่ไหน นำเสนอได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม แม้จะไม่มีถ้วยรางวัลมาประดับในส่วนนี้ก็ไม่เป็นไร เพราะไม่ได้มีไว้เพื่อแข่งว่าใครเก่งกว่าใคร หรือมีความสามารถมากกว่าใคร แต่มีไว้ให้คณะกรรมการใช้รู้จักอีกมุมหนึงของเรา เสน่ห์และความน่าสนใจของคนหลาย ๆ คน ก็มักได้รับการเปิดเผยให้เห็นจากเนื้อหาในส่วนนี้    


6. ชิ้นงาน

      ปัจจุบันนี้ น้อง ๆ ไม่ต้องรอให้เวทีแข่งขันแสดงความสามารถเกิดขึ้นเท่านั้น แต่ตัวน้อง ๆ เอง สามารถสร้างเวทีของตัวเองขึั้นมา และแสดงผลงานความสามารถให้ปรากฎได้เอง โดยเฉพาะในยุค New Normal แบบนี้ การคิดค้น ประดิษฐ์ สร้างสรรค์ชิ้นงาน โครงงาน สิ่งประดิษฐ์ ที่สร้างขึ้นเองโดยสอดคล้องกับสาขา (ไม่ได้ผ่านการประกวดแข่งขัน) คือเป็นไอเทมสำคัญที่จะทำให้เราได้แต้มจากพอร์ต 


สิ่งที่ไม่ต้องมี

1. คำนำ 

      หลายคนมักเข้าใจผิดและสับสันระหว่างแฟ้มสะสมผลงาน กับการทำรายงานหัวข้อ “ผลงานของฉัน” พอร์ตไม่ใช่รายงานในชั้นเรียน ไม่มีรูปแบบบังคับว่าเนื้อหาในเล่มต้องมีคำนำอย่างในรายงานที่เราทำส่งครูในชั้นเรียน การใส่คำนำลงไปในพอร์ตไม่ได้ช่วยสื่อสารใด ๆ และไม่ส่งผลใด ๆ ต่อคะแนน แต่กลับกลายเป็นเหมือนว่า เราไม่มีเนื้อหาใส่เพียงพอ เลยใส่คำนำไปเพื่อให้เต็ม 10 หน้า 


2. สารบัญ

      เหตุผลของการไม่จำเป็นต้องใส่สารบัญนั้น หลัก ๆ ไม่ได้แตกต่างจากคำนำ แต่ส่งที่เพิ่มขึ้นมาคือ เนื้อหาในพอร์ตมีการกำหนดจำนวนหน้าไว้แค่ 10 หน้า ทำให้เนื้อหาข้างในไม่ได้มีมาก ไม่จำเป็นต้องใช้สารบัญเป็นตัวช่วยในการสืบค้นเนื้อหา การใส่สารบัญจะสื่อได้ว่า ไม่มีผลงานเพียงพอจนเกิดหน้าว่าง   


3. คำ/จดหมายขอบคุณ คำอ้อนวอน 

      หน้าท้ายสุด หลายคนมักจะนิยมปิดด้วยบทขอบคุณสวย ๆ ซึ้ง ๆ ซึ่งไม่จำเป็น! ไม่ส่งผลต่อคะแนน! ไม่ได้สื่อสารถึงตัวตนและความสอดคล้องกับคณะ แต่อาจทำให้มองได้ว่า “หมดมุก” “เนื้อหาหมด” “หน้าเหลือ” ใส่ขอบคุณไว้ให้ดูเป็นคนมีมารยาท!! การเข้ามหาวิทยาลัยไม่ได้เกิดได้ด้วยการอ้อนวอน มันคือ…การแข่งขัน! ดังนั้นต้องวัดกันที่ “ของ” ที่อยู่ข้างใน ขอของจริง ไม่จกตากรรมการ นั่นล่ะ คือคำขอบคุณที่แท้ทรู


     สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัว TCAS รอบ 1 Portfolioคือรอบแรก ดังนั้นเตรียมตัวก่อน พร้อมก่อน ถือว่าได้เปรียบก่อน รู้แล้วว่าอะไรควรมีและไม่ควรมี ที่เหลือหลังจากนี้ก็คือ…ตามล่า! ไปหามาใส่ให้ครบ แล้วพบกันวันประกาศผลนะค้า 


พี่นัท นัททยา 


น้อง ๆ ใครตั้งเป้าอยากติดรอบ Portfolio ขอแนะนำ !

คอร์ส จับมือทำ Portfolio : Part 1 แนะนำรอบ Portfolio

คอร์สแนะแนว พาติดรอบ Portfolio แบบคนรู้ทันระบบ รู้วิธีเตรียมตัว และรู้ใจกรรมการ จุดไหนคือตัวตัดสินผล แล้วโฟกัสจุดนั้นมาปั้นให้เป็นคะแนนกัน

สมัครเลย https://vcourse.ai/courses/663