รู้หรือไม่ว่า..?..เด็กทุกคนที่เกิดมานั้น ล้วนมีสิทธิติดตัวมาตั้งแต่เกิด
2147 views | 16/11/2021
Copy link to clipboard
Hathaichanok Yimchan
Content Creator


ในอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติได้ใช้คำว่า “สิทธิติดตัว” (inherent rights) เด็กจึงมีความชอบธรรม และไม่มีใครที่จะมาตัดทอน จำกัดสิทธิ หรือละเมิดสิทธิของเด็กได้ โดยจะคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของเด็ก และนอกจากนี้เด็กทุกคนต้องการความรักและการเอาใจใส่ดูแลเลี้ยงดูจากผู้ใหญ่ในสังคม ได้รับการปฏิบัติในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่มีการเลือกปฏิบัติต่อเด็ก ได้รับการปกป้องคุ้มครอง ไม่ใช้ความรุนแรงไม่ว่ารูปแบบใดก็ตาม ทั้งนี้เพื่อให้เด็กอยู่ในสังคมอย่างมีความสุขและเติบโตขึ้นเป็นคนดีของสังคม ซึ่งโลกของเรามีเด็กอยู่ประมาณ 2.3 พันล้านคน หรือเกือบหนึ่งในสามของประชากรโลก และในที่นี้ 'เด็ก' คือ บุคคลซึ่งมีอายุต่ำกว่า 18 ปีบริบูรณ์ แต่ไม่รวมถึงผู้ที่บรรลุนิติภาวะด้วยการสมรส เด็กทุกคนต้องมีสิทธิเช่นเดียวกับผู้ใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น สิทธิการมีชีวิตอยู่รอด (Right of Survival) สิทธิในการพัฒนา (Right of Development) สิทธิในการได้รับการคุ้มครอง (Right of Protection) และสิทธิในการมีส่วนร่วม (Right of Participation) (พรบ.คุ้มครองเด็ก พ.ศ.2546, www.dcy.go.th)



1. สิทธิในการมีชีวิต คือ สิทธิของเด็กที่คลอดออกมาแล้วจะต้องมีชีวิตอยู่รอดอย่างปลอดภัย อนุสัญญาฯ กำหนดว่ารัฐภาคีจะต้องรับรองว่าเด็กทุกคนมีสิทธิติดตัวมาตั้งแต่เกิด และต้องประกันอย่างเต็มที่เท่าที่จะทำได้ให้มีการอยู่รอดและพัฒนาของเด็ก

2. สิทธิที่จะได้รับการปกป้องคุ้มครอง เป็นสิทธิที่เด็กได้รับปกป้องคุ้มครองจากการทารุณกรรมทุกรูปแบบ เช่น การทารุณกรรมทางร่างกาย จิตใจ และทางเพศ ซึ่งรวมถึงการล่วงละเมิดทางเพศ หรือการแสวงหาประโยชน์ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การค้าประเวณีเด็ก การขายเด็ก การนำเด็กไปใช้ขอทาน ไม่ว่าจะโดยบิดา มารดา หรือผู้ใดก็ตาม นอกจากนี้ เด็กที่ลี้ภัยจากอันตรายเข้ามาในประเทศของรัฐภาคี จะต้องได้รับการคุ้มครองและช่วยเหลือ สำหรับ ‘เด็กพิการ’ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก็ย่อมมีสิทธิที่จะใช้ชีวิตที่ดีอย่างมีศักดิ์ศรี และได้รับการส่งเสริมให้พึ่งพาตนเองได้

3. สิทธิในด้านพัฒนาการ เด็กทุกคนจะได้รับสิทธิให้มีสภาพความเป็นอยู่ที่เหมาะสมกับพัฒนาการ ร่างกาย จิตใจ สังคม รวมถึงความพึงพอใจและความสุข เช่น การมีส่วนร่วมในกิจกรรมครอบครัวในโรงเรียน หรือสังคมที่เด็กอยู่ได้อย่างมีความสุข มีโอกาสเล่น พักผ่อน รับข้อมูลข่าวสารอย่างมีอิสระในการคิดและแสดงออก โดยได้รับการกล่อมเกลาทางด้านจิตใจ ความรู้ ความคิดที่เหมาะสมกับวัย และที่สำคัญที่สุดก็คือ เด็กทุกคนต้องได้รับการศึกษาขั้นพื้นฐาน 12 ปี



4. สิทธิในการมีส่วนร่วม เป็นสิทธิที่ให้ความสำคัญกับการแสดงออกทั้งในด้านความคิดและการกระทำของเด็ก ในการเป็นส่วนหนึ่งของสังคมที่อาศัยอยู่ รวมทั้งสิทธิในการปกป้องเรียกร้องผลกระทบที่เกิดกับชีวิตความเป็นอยู่ของเด็ก ด้วยการอนุญาตให้เด็กได้มีส่วนร่วมในการตัดสินใจในเรื่องต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับตนเองและสามารถแสดงความคิดเห็นโดยไม่กระทบสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น


ถึงแม้จะมีข้อบังคับคุ้มครองเกี่ยวกับสิทธิของเด็กก็ตาม แต่การส่งเสริมให้สิ่งเหล่านี้เข้าถึงเด็ก ยังจำเป็นต้องอาศัยบุคคลที่อยู่รอบตัวเด็ก

ไม่ว่าจะเป็น พ่อ แม่ ผู้ปกครอง ญาติพี่น้อง ครูอาจารย์ ที่เป็นจุดเริ่มต้นในการดูแลปกป้องเด็ก และแน่นอนว่าไม่ใช่เด็กทุกคนที่จะได้รับรู้ถึงสิทธิที่ตัวเองพึงมี จึงทำให้สิ่งหนึ่งที่มักเกิดขึ้นกับเด็ก นั่นก็คือ การละเมิดสิทธิมนุษยชนของเด็ก ซึ่งเด็กมีแนวโน้มเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงในการถูกละเมิดสิทธิมนุษยชน และปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนกับเด็กยังคงเกิดขึ้นและมีให้เห็นอยู่บ่อยครั้งทั้งในประเทศและต่างประเทศตามข่าวสารที่ได้มีการนำเสนอออกไป และบางเหตุการณ์ก็ดูเหมือนจะเป็นปัญหาเรื้อรังที่เกิดขึ้นใกล้ตัว เช่น การถูกทำร้ายจากครอบครัว หรือคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะตีเพื่อสั่งสอน ตักเตือน หรือด้วยจุดประสงค์ใดก็ตาม และสังคมไทยเองก็ไม่ได้ให้ความสนใจกับปัญหาเหล่านี้และยังคงยึดติดกับคำว่า “รักวัวให้ผูก รักลูกให้ตี" ซึ่งหมายถึง การเลี้ยงลูกอย่าเอาแต่รักทะนุถนอม ต้องรู้จักตีสั่งสอนเมื่อทำผิดเพื่อให้หลาบจำ ไม่เช่นนั้นลูกอาจจะไม่กลัวเกรงและเสียคนได้ แต่ด้วยสภาพแวดล้อมและสังคมในปัจจุบัน การเลี้ยงดูอบรมสั่งสอนไม่จำเป็นต้องสร้างบาดแผลหรือภาพจำทางจิตใจให้กับเด็ก ซึ่งถ้ามองให้แตกต่างกันออกไปอีกมุมของคำดังกล่าว อาจเป็นวิธีการที่ใช้อบรมสั่งสอน ที่มีกฎ มีเกณฑ์ ให้กับลูกเอาไว้ เพื่อให้ปฏิบัติตามกรอบตามเกณฑ์ที่วางไว้ ให้ทำแต่สิ่งดี ๆ แต่เพราะในยุคนี้เป็นยุคที่ข้อมูลต่าง ๆ เข้าถึงได้ง่าย การสร้างกรอบหรือกฎเกณฑ์ในโลกสังคมปัจจุบัน คือ การสร้างความเข้าใจ การให้ความรัก ความเอาใจใส่ และเข้าถึงกันและกันมากที่สุด ตามบริบทที่เปลี่ยนไปของสังคม


ดังนั้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับสิทธิของเด็กจึงเป็นเรื่องที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ควรทราบ ให้ความสำคัญ ใส่ใจ และปฏิบัติตามให้ถูกต้อง เป็นไปตามกฎหมายข้อบังคับเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดและสร้างรากฐานของสังคมที่ดีให้กับเด็กที่จะเติบโตในอนาคต