GAT/ PAT มีอะไรบ้าง ?
3132 views | 14/11/2021
Copy link to clipboard
admin
Content Creator


น้อง ๆ ที่กำลังศึกษาอยู่ในระดับชั้น ม.6 หรือกำลังศึกษาอยู่ในระดับมัธยมปลาย และกำลังศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับ GAT PAT

ว่าคืออะไร สอบวิชาอะไรบ้าง วิชาที่ใช้สอบในแต่ละคณะ และกำหนดการสอบ วันนี้พี่ได้รวบรวบข้อมูลทุกอย่างเกี่ยวกับ GAT PAT ไว้ในที่นี่แล้ว


GAT คืออะไร สอบอะไรบ้าง 

GAT คือ การทดสอบวิชาความถนัดทั่วไป (General Aptitude Test) เพื่อวัดศักยภาพความพร้อมในการเข้าศึกษาในระดับมหาวิทยาลัยให้ประสบความสำเร็จ ซึ่ง GAT ประกอบไปด้วย 2 ส่วน ดังนี้


ส่วนที่ 1 คือ การวัดความสามารถในการอ่านเชิงวิเคราะห์, การเขียนเชิงวิเคราะห์, การคิดเชิงวิเคราะห์, และการแก้โจทย์ปัญหา 

รูปแบบการสอบ เป็นการให้อ่านบทความ และคำตอบแบบปรนัยกลุ่มคำตอบสัมพันธ์กัน หลายกลุ่ม หลายตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ 150 คะแนน เวลาสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที


ส่วนที่ 2 คือ ความสามารถในการสื่อสารด้วยภาษาอังกฤษ (60 ข้อ 150 คะแนน) ซึ่งประกอบไปด้วย 4 ส่วนย่อย ดังนี้ 

  • Speaking and Conversation บทสนทนาและการพูดโต้ตอบ
  • Vocabulary คำศัพท์ภาษาอังกฤษ
  • Structure and Writing หลักไวยากรณ์และทักษะการเขียน 
  • Reading Comprehensive หลักการอ่านเชิงวิเคราะห์

รูปแบบการสอบ คำตอบเป็นแบบปรนัย 5 ตัวเลือก จำนวน 60 ข้อ 150 คะแนน เวลาสอบ 1 ชั่วโมง 30 นาที 


สรุป GAT คือ การทดสอบเพื่อประเมินว่านักเรียนมีความพร้อมและศักยภาพในการเรียนในระดับมหาวิทยาลัยมากน้อยแค่ไหน โดยน้อง ๆ ทุกคนจะต้องสอบ GAT ทั้งในส่วน 2 วิชา เพราะเป็นวิชาสอบบังคับที่ใช้ในการยื่นสมัครเข้าคัดเลือกในระดับมหาวิทยาลัยทุกคณะวิชา



PAT คืออะไร สอบอะไรบ้าง

PAT คือ การทดสอบความถนัดทางวิชาการและวิชาชีพ (Professional and Academic Aptitude Test) เพื่อวัดความรู้พื้นฐาน ความพร้อมความสามารถ และศักยภาพในการศึกษาเข้าเรียนในวิชาชีพนั้น ซึ่งประกอบไปด้วย 7 หมวดสาขาวิชาด้วยกัน ดังนี้


PAT 1: ความถนัดทางคณิตศาสตร์ เป็นการนำความรู้ทางคณิตศาสตร์มาใช้หาคำตอบทางคณิตศาสตร์และศาสตร์อื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน โดยใช้ความรู้ในการเชื่อมโยงความรู้ การแก้ปัญหา การใช้เหตุผล การสื่อสารและการสื่อความหมายทางคณิตศาสตร์  

ขอบเขตเนื้อหาที่สอบ จำนวนและพีชคณิต, การวัดและเรขาคณิต, สถิตและความน่าจะเป็น และแคลคูลัส 

รูปแบบการสอบ คำตอบแบบปรนัย 5 ตัวเลือก จำนวน 35 ข้อ 210 คะแนน และแบบระบายคำตอบที่เป็นค่าและตัวเลข จำนวน 10 ข้อ 90 คะแนน เวลาสอบ 3 ชั่วโมง


PAT 2: ความถนัดทางวิทยาศาสตร์ เป็นการวัดความสามารถในนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาอธิบายหรือเชื่อมโยงกับข้อมูลเพื่อหาคำตอบ ข้อสรุป แก้ปัญหาในประสบการณ์จริงโดยความรู้ในการเชื่อมโยงความรู้, การประเมินและการออกแบบกระบวนการสืบเสาะหาความรู้ทางวิทยาศาสตร์ การสื่อสารและการสื่อความหมายข้อมูลทางวิทยาศาสตร์  

ขอบเขตของเนื้อหาที่สอบ วิทยาศาสตร์ชีวภาพ, วิทยาศาสตร์กายภาพ, วิทยาศาสตร์โลก และอวกาศ

รูปแบบการสอบ คำตอบแบบปรนัย 5 ตัวเลือก จำนวน 60 ข้อ 300 คะแนน เวลาสอบ 3 ชั่วโมง


PAT 3: ความถนัดทางวิศวกรรมศาสตร์ เป็นการวัดความสามารถในการคิดวิเคราะห์เชิงช่างและมิติสัมพันธ์, ความถนัดเชิงช่าง, ความคิดเชิงตรรกะเชิงช่าง, สามัญสำนึกเรื่องความปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อม, การแก้ปัญหาทางวิศวกรรมศาสตร์, ธรรมชาติของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 

ขอบเขตของเนื้อหาที่สอบ กลศาสตร์ มวล และการเคลื่อนที่, ไฟฟ้า แม่เหล็กไฟฟ้า คลื่น แสง และเสียง, เคมีสาร และสมบัติของสาร, พลังงาน ความร้อน และของไหล, คณิตศาสตร์และสถิติประยุกต์เชิงวิศวกรรม

รูปแบบการสอบ คำตอบแบบปรนัย 5 ตัวเลือก จำนวน 60 ข้อ 240 คะแนน และระบายคำตอบที่เป็นค่าและตัวเลข 10 ข้อ 60 คะแนน เวลาสอบ 3 ชั่วโมง


PAT 4: ความถนัดทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ เป็นการวัดความรู้ทางสถาปัตยกรรมศาสตร์ด้านการรับรู้รูป 2 มิติ และรูปทรง 3 มิติ และการจัดองค์ประกอบ, การวิเคราะห์เชิงตรรกะ, ความคิดสร้างสรรค์จินตนาการ และทักษะการวาดภาพ

ขอบเขตของเนื้อหาที่สอบ ความรู้ทั่วไปด้านศิลปะ, สถาปัตยกรรมและการออกแบบ, ฟิสิกส์และคณิตศาสตร์พื้นฐาน

รูปแบบการสอบ คำตอบแบบปรนัย 5 ตัวเลือก จำนวน 20 ข้อ 60 คะแนน เลือกคำตอบจากแต่ละหมวดที่สัมพันธ์กัน จำนวน 10 ข้อ 30 คะแนน และแบบอัตนัย จำนวน 4 ข้อ 210 คะแนน เวลาทั้งหมด 3 ชั่วโมง


PAT 5: ความถนัดทางวิชาชีพครู เป็นการวัดความพร้อมความสามารถและคุณสมบัติของความเป็นครู, สมรรถนะทางการคิดเพื่อการเรียนรู้ 

ขอบเขตของเนื้อหาที่สอบ ความรู้ทั่วไปในบริบทของความเป็นครู และสถานการณ์หรือปัญหาทั่วไป รวมทั้งสถานการณ์และปัญหาเชิงนามธรรม

รูปแบบการสอบ คำตอบปรนัย 5 ตัวเลือก จำนวน 120 ข้อ 300 คะแนน เวลาสอบ 3 ชั่วโมง

 

PAT 6: ความถนัดทางศิลปกรรมศาสตร์ เป็นการวัดความสามารถทางศิลปกรรมศาสตร์ด้านศักยภาพการรับรูป 2 มิติ รูปทรง 3 มิติ และการจัดองค์ประกอบศิลป์, การคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ, การรับรู้ภาพด้วยสายตาเพื่อการจำลองภาพ สิ่งที่เห็นในสิ่งแวดล้อมและนำมา สร้างแรงบันดาลใจสร้างสรรค์งาน, พื้นฐานความรู้การวาดภาพ และองค์ประกอบศิลป์, พื้นฐานความรู้ด้านเครื่องดนตรี, การบูรณาการความรู้ด้านทัศนศิลป์ ดนตรี นาฎศิลป์ และศิลปะการแสดง 

ขอบเขตของเนื้อหาที่สอบ ความรู้ทั่วไปทางศิลปกรรมศาสตร์ ทัศนศิลป์ การออกแบบ ดนตรีไทย ดนตรีสากล นาฎศิลป์ และการแสดง การบูรณาการความรู้ศิลป์ดนตรี นาฏศิลป์ และศิลปะการแสดง

รูปแบบการสอบ คำตอบปรนัย 5 ตัวเลือก จำนวน 90 ข้อ 225 คะแนน และเลือกคำตอบจากแต่ละหมวดที่สัมพันธ์กัน จำนวน 10 ข้อ 75 คะแนน เวลาสอบ 3 ชั่วโมง


PAT 7: ความถนัดทางภาษาต่างประเทศ เป็นการวัดความรู้ความสามารถในการพูดสื่อสารในสถานการณ์ในชีวิตประจำวัน, การอ่านจับใจความ การสรุป ขยาย และการตีความ, การใช้คำศัพท์และสำนวนในชีวิตประจำวัน, การเขียนสื่อสาร และการใช้ไวยากรณ์ในภาษาต่าง ๆ ซึ่งประกอบไปด้วย 6 ภาษา ดังนี้

PAT 7.1: ความถนัดทางภาษาฝรั่งเศส

PAT 7.2: ความถนัดทางภาษาเยอรมัน

PAT 7.3: ความถนัดทางภาษาญี่ปุ่น

PAT 7.4: ความถนัดทางภาษาจีน

PAT 7.5: ความถนัดทางภาษาอาหรับ

PAT 7.6: ความถนัดทางภาษาบาลี

ขอบเขตของเนื้อหาที่สอบ คำศัพท์, สำนวน, บทสนทนาในชีวิตประจำวัน, ไวยากรณ์และโครงสร้าง, สังคมและวัฒนธรรม และการใช้ภาษา

รูปแบบการสอบ ตัวเลือกปรนัย 4 ตัวเลือก จำนวน 100 ข้อ 300 คะแนน เวลาสอบ 3 ชั่วโมง


สรุป PAT คือ การวัดความรู้พื้นฐาน และความพร้อมความสามารถในการเรียนวิชาชีพต่าง ๆ ในการเข้าเรียนในระดับมหาวิทยาลัย โดยให้น้อง ๆ เลือกสอบในวิชาที่จะนำไปใช้ในการสมัครคัดเลือกเข้าเรียนในคณะต่าง ๆ ที่ต้องการเรียนเท่านั้น ซึ่งแต่ละคณะ จะมีวิชาสอบบังคับและวิชาเลือกสอบไม่เหมือนกัน ตามที่จะอธิบายด้านล่างต่อไปนี้ 



การเลือกวิชาสอบ GAT PAT ให้ตรงกับคณะที่ต้องการเรียน

ในแต่ละคณะจะมีวิชาสอบบังคับและวิชาเลือกสอบของ GAT PAT ไม่เหมือนกัน โดยแบ่งวิชาสอบในแต่ละกลุ่มคณะ ได้ดังนี้

กลุ่ม 1 วิทยาศาสตร์สุขภาพ เช่น คณะทันตแพทย์, สัตวแพทย์, เทคนิคการแพทย์, พยาบาลศาสตร์, เภสัชศาสตร์, วิทยาศาสตร์การกีฬา และคณะจิตวิทยา

วิชาสอบบังคับ ได้แก่ GAT, PAT1, PAT2 

วิชาสอบเลือก ได้แก่ PAT2 (สำหรับคณะสัตวแพทย์ และพยาบาลศาสตร์)


กลุ่มที่ 2 วิทยาศาสตร์กายภาพและเทคโนโลยี ได้แก่ คณะวิทยาศาสตร์, วิทยาการคอมพิวเตอร์, เทคโนโลยีสารสนเทศ และวิทยาศาสตร์ทรัพยากรธรรมชาติ

วิชาสอบบังคับ ได้แก่ GAT, PAT1, PAT2


กลุ่มที่ 3 วิศวกรรมศาสตร์สาขาต่าง ๆ 

วิชาสอบบังคับ ได้แก่ GAT, PAT1, PAT2, PAT3


กลุ่มที่ 4 สถาปัตยกรรมศาสตร์

วิชาสอบบังคับ ได้แก่ GAT, PAT4


กลุ่มที่ 5 เกษตรศาสตร์ ได้แก่ คณะเกษตรศาสตร์, ประมง, วนศาสตร์, เทคโนโลยีการเกษตร และคณะอุตสาหกรรมการเกษตร 

วิชาสอบบังคับ ได้แก่ GAT, PAT1, PAT2


กลุ่มที่ 6 บริหาร ได้แก่ คณะบริหารธุรกิจ, เศรษฐศาสตร์, การท่องเที่ยวและโรงแรม และคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี

วิชาสอบบังคับ ได้แก่ GAT, PAT1

วิชาเลือกสอบ ได้แก่ PAT1, PAT7 (สำหรับคณะการท่องเที่ยวและการโรงแรม)


กลุ่ม 7 ครุศาสตร์ ได้แก่ คณะครุศาสตร์ และศึกษาศาสตร์ (พลศึกษาและสุขศึกษา)

วิชาสอบบังคับ ได้แก่ GAT, PAT5

วิชาเลือกสอบ ได้แก่ PAT1, PAT2, PAT3, PAT4, PAT5, PAT6, PAT7


กลุ่ม 8 ศิลปกรรมศาสตร์ ได้แก่ คณะวิจิตรศิลป์, ศิลปะประยุกต์, ดุริยางคศิลป์, นาฏศิลป์, ศิลปะการออกแบบ, ศิลปกรรมศาสตร์ และ

คณะศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์

วิชาสอบบังคับ ได้แก่ GAT

วิชาเลือกสอบ ได้แก่ PAT4, PAT6 


กลุ่มที่ 9 มนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ ได้แก่ คณะนิเทศศาสตร์, วารสารศาสตร์, อักษรศาสตร์, ศิลปศาสตร์, มนุษยศาสตร์,

สังคมศาสตร์, นิติศาสตร์, รัฐศาสตร์ และคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา

วิชาสอบบังคับ ได้แก่ GAT

วิชาสอบเลือก ได้แก่ PAT1, PAT7


สัดส่วนคะแนนในการคัดเลือกของระบบแอดมิชชั่น Admission

การยื่นคะแนนเพื่อเข้ารับการคัดเลือกเข้าศึกษาต่อในระดับมหาวิทยาลัย โดยผ่านระบบแอดมิชชั่น (Admission) จะนำคะแนน GAT PAT มาคิดในสัดส่วนระหว่าง 10% - 50% และส่วนที่เหลือนำมาจากเกรดเฉลี่ยสะสม (GPAX) และคะแนน O-NET 


กำหนดการสอบ GAT PAT 65

ในปีการศึกษา 2565 มีหมายกำหนดการสอบ GAT PAT ดังนี้

9 – 14 ธันวาคม 2564 ลงทะเบียนในระบบ myTCAS

15 – 28 ธันวาคม 2564 สมัครสอบในระบบ myTCAS 

10 – 13 กุมภาพันธ์ 2565 ยกเลิกการสอบ

21 กุมภาพันธ์ – 20 มีนาคม 2565 พิมพ์เอกสารเลขที่นั่งสอบ

12 – 15 มีนาคม 2565 สอบ GAT PAT

19 – 20 มีนาคม 2565 สอบวิชาสามัญ

18 เมษายน 2565 ประกาศผลสอบ GAT PAT

20 เมษายน 2565 ประการผลสอบวิชาสามัญ 

21 – 28 เมษายน 2565 ยื่นขอทบทวนผลสอบ


ค่าสมัครสอบ และการชำระเงิน

ค่าสมัคร GAT PAT วิชาละ 140 บาท

ชำระเงินได้ 2 ช่องทาง คือ ทางเคาน์เตอร์เซอร์วิส (มีค่าธรรมเนียม) และ Mobile Banking (ภายในวันที่ 28 ธันวาคม 2564) 


สำหรับน้อง ๆ ที่กำลังเตรียมตัวสอบ GAT PAT 65 ที่กำลังจะมาถึงนี้ อย่าลืมจดบันทึกกำหนดการสมัครไว้ในปฏิทินเพื่อไม่ให้พลาดขั้นตอนการสมัครสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดโควิด-19 นี้ พี่ขอแนะนำให้น้อง ๆ ติดตามประกาศกำหนดการสอบ GAT PAT กันบ่อย ๆ เพราะอาจมีการเปลี่ยนแปลงตามสภาวะความรุนแรงของการแพร่ระบาดได้ และสุดท้ายก่อนจากกันไป "ขอเป็นกำลังให้น้องทุกคนประสบความสำเร็จในการสอบ และมีสุขภาพแข็งแรงนะคะ"

ที่มาข้อมูล

  • https://www.ondemand.in.th/gat-คือ/
  • https://www.ondemand.in.th/tcas65-dek65/
  • https://www.dek-d.com/tcas/58454/
  • https://www.sanook.com/campus/1398343/
  • https://tcaster.net/2020/11/เนื้อหาที่ออกสอบ-รูปแบบ/
  • https://www.dek-d.com/tcas/56623/
  • https://today.line.me/th/v2/article/xVowKe