แสดงเหตุผลและทรรศนะอย่างไรให้มีประสิทธิภาพ
10159 views | 04/01/2022
Copy link to clipboard
Arrietty .
Content Creator

   ทุกวันนี้ที่การสื่อสารเป็นเรื่องง่ายเพียงปลายนิ้ว น้อง ๆ ก็คงเห็นได้ว่า การพูดคุยแสดงความคิดเห็นคอมเม้นต่าง ๆ ในโลกโซเชียลเป็นเรื่องรวดเร็วว่องไว จนบางครั้งก็ช่วยสร้างประเด็นทางสังคมมากมาย บ้างเป็นคำชื่นชม บ้างก็กลายเป็นเรื่องดราม่าได้ในเพียงชั่วพริบตาเดียว ดังนั้น การแสดงความคิดเห็น การแสดงเหตุผลและการแสดงทรรศนะ อย่างไรให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญที่เราควรทำความเข้าใจ 


    หากพูดอีกนัยหนึ่ง การแสดงเหตุผลและการแสดงทรรศนะ คือการแสดงทัศนคติ แนวคิด ที่เรามีต่ออีกฝ่าย ไม่ว่าจะในรูปแบบของ การพูดแสดงทรรศนะ และ การเขียนแสดงทรรศนะ ก็อาจนำมาซึ่งการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกันของคนทั้งในเชิงบวกและในเชิงลบเสมอ เพื่อหลีกเลี่ยงความใจผิด เรื่องดราม่า หรือเหตุการณ์ร้าย ๆ จะเกิดขึ้นหลังจากที่การสื่อสารออกไปทุกครั้ง เราจึงจำเป็นจะต้องคิดวิเคราะห์ กลั่นกรองข้อมูลอย่างถี่ถ้วน เพื่อให้สิ่งที่สื่อสารหรือเขียนออกไปนั้นไม่ส่งผลเสียต่อคนอื่นได้

 

   นอกจากการแสดงเหตุผลและการแสดงทรรศนะ หรือที่เรียกให้ง่ายขึ้น คือ การแสดงความคิดเห็นหรือทัศนคติของเรานั้นมันจะส่งผลกระทบต่อผู้ฟังแล้ว สิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ในเวลาเดียวกัน คือ มันสะท้อนชุดความคิด ความเชื่อ ทัศนคติของผู้พูดออกมา เราจึงควรมีวิธีแสดงออกสิ่งในเหล่านี้อย่างเหมาะสม เกิดประโยชน์ และระแวดระวังไม่ให้เกิดผลเสียมากเกินกว่าผลดี



วันนี้เรา 4 ประเด็นน่าสนใจในการแสดงเหตุผลและทรรศนะที่น่าสนใจมาให้ลองอ่านกัน 


1.แสดงทรรศนะโดยยึดตามหลักข้อเท็จจริง

      ทุกครั้งที่จะเกิดการสื่อสารหรือเหตุที่จะต้องทำให้เราแสดงข้อคิดเห็นต่าง ๆ เราจำเป็นต้องตั้งสติ และเข้าใจถึงสถานการณ์ที่เกิดขึ้นก่อน ที่มาและสาเหตุของเรื่องเป็นอย่างไร มีบุคคลใดเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้บ้าง ควรฟังข้อมูลจากหลาย ๆ ด้านเพื่อไม่ให้เกิดความเข้าใจผิดหรือบิดเบือนข้อมูล เน้นข้อเท็จจริงเป็นหลัก และใช้หลักเหตุผลเป็นตัวตั้ง หากเราอยู่ในสถานะเป็นคนกลาง การสื่อสารควรอย่างยิ่งที่จะสื่อสารแบบตรงไปตรงมา พูดตามความเป็นจริงโดยไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ถือเป็นแนวทางแก้ไขที่ดีที่สุด


 2.เข้าใจประเด็นที่ต้องการแสดงทรรศนะอย่างชัดเจน

   การแสดงเหตุผลและการแสดงทรรศนะ ที่ดี ไม่ควรอยู่ในรูปแบบ “คิดสิ่งใดพูดสิ่งนั้น” แต่ต้องเริ่มต้นจากการจับประเด็นของเรื่องราวให้ชัดเจนถูกต้องซะก่อน เพื่อให้ทุกคนโฟกัสถูกเรื่อง คุยถูกจุด หลังจากนั้นจึงเสนอแนะอย่างตรงไปตรงมา เข้าประเด็น เพื่อให้คนฟัง คนเห็นสามารถคิด วิเคราะห์ต่อยอดแล้วก็นำไปพัฒนาให้ดีขึ้นได้



 3.เพิ่มลูกเล่นและมีศิลปะในการแสดงทรรศนะที่ดี

   การสื่อสาร หากตรงไปตรงมาจนเกินไป จากที่จะช่วยพัฒนาอาจกลายเป็นความล้มเหลวได้ ก็อาจ ด้วยเหตุนี้การที่เรามีทักษะในการสื่อสารที่ดี พูดจาไพเราะชัดเจน สื่อสารเข้าใจไม่ใช้อารมณ์ และมีการจัดลำดับข้อมูลอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อให้เข้าใจได้ง่าย ตลอดจนมีน้ำเสียงหรือโทนเสียงที่เป็นมิตร จะช่วยทำให้การเสนอแนะหรือการแสดงทรรศนะ ทั้งในรูปแบบ การเขียนแสดงทรรศนะ และ การพูดแสดงทรรศนะ เป็นประโยชน์ต่อผู้รับสารอย่างมาก


 4.มีใจเป็นกลาง ไม่เอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง

      ทุกครั้งที่เกิดการแสดงข้อคิดเห็น มักมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเห็นตรง และแตกต่างกับเราเสมอ ด้วยเหตุนี้การแสดงทรรศนะที่เป็นกลางจึงจะสามารถทำให้ผู้อื่นยอมรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของเราได้ เพื่อให้คำติชมของเราเกิดการวิเคราะห์โดยปราศจากอคติอันจะนำมาซึ่งปัญหาในภายหลังได้ ขอเพียงแค่เรายึดความคิดพื้นฐานตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริง ไม่ตัดสินและสื่อสารออกไปด้วยอารมณ์ ตลอดจนลดคำพูดที่อาจนำมาซึ่งข้อขัดแย้งหรือทำให้ผู้อื่น รวมไปถึงผู้รับสารมีอคติกับเราในภายหลังเท่านี้ก็เพียงพอแล้ว



  5.เพิ่มทักษะในการฟังก่อนแสดงทรรศนะ

   ในการแสดงทัศนะแต่ละครั้ง แน่นอนว่าการฝึกเป็นผู้พูด(หรือผู้พิมพ์)ที่ดีเป็นเรื่องสำคัญ แต่ “การฟัง” ก็เช่นกันเราจำเป็นจะต้องรับฟังและยอมเป็นผู้ฟังที่ดีให้ได้เสียก่อน โดยเริ่มจาก การลดอคติ รับฟังทุกสิ่งอย่างตั้งใจ วิเคราะห์ข้อมูลที่ได้รับ จับใจความสำคัญ รวมไปถึงรับฟังความเห็นของผู้อื่นแบบตรงไปตรงมาไม่เอนเอียงฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เท่านี้ก็จะช่วยให้เราสามารถแสดงเหตุผล และแสดงทรรศนะได้อย่างมืออาชีพ อีกทั้งการเป็นผู้ฟังที่ดียังทำให้ผู้คนเคารพเราได้อีกด้วย 



การแสดงเหตุผลและการแสดงทรรศนะ ถือเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างมากสำหรับใช้ในการสื่อสารยุคปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของการทำงานหรือการเรียนก็ล้วนแล้วแต่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการเสนอแนะ แสดงความคิดเห็นทั้งในทางด้านบวกและด้านลบที่อาจเกิดขึ้นได้กับตัวเราเสมอ เราจึงควรที่จะเรียนรู้ในการเป็นผู้รับสารและผู้ส่งสารที่ดีเพื่อให้เราสามารถแสดงเหตุผลและแสดงทัศนะได้อย่างตรงไปตรงมา ไม่บิดเบือนข้อมูลจนนำมาซึ่งผลเสียต่อฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เนื่องจากเมื่อใดก็ตามที่เกิดการนำข้อมูลที่เป็นเท็จมาวิเคราะห์หรือเป็นข้อสรุป มักนำมาซึ่งผลเสียต่อชีวิตการทำงานและการเรียนได้นั่นเอง

ที่มาข้อมูล

  • การเสนอแนะ(Feedback)ที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานและการ(https://th.hrnote.asia/)
  • ข้อเสนอแนะคือระบบและกลไกที่กระตุ้นสนับสนุนให้พนักงานนำเสนอความคิดที่เป็นประโยชน์(https://besterlife.com/)
  • ภาษาไทยม.ปลายการแสดงเหตุผลและการแสดงทรรศนะโดยครูเกี๊ยว(https://www.trueplookpanya.com/)
  • บทที๔การแสดงความคิดเห็นอย่างมีเหตุผลและน่าเชือถือ(https://arts.tu.ac.th/)
  • การใช้ภาษาแสดงเหตุผล-ภาษาพาคิดคิดเชื่อมโยง-GoogleSites(https://sites.google.com/)