อยากโน้มน้าวใจให้เก่งทำไงดี
8896 views | 31/12/2021
Copy link to clipboard
Arrietty .
Content Creator


ไม่ว่าจะกับพ่อแม่ ครู กลุ่มเพื่อนในแก๊งค์ เพื่อนในโลกโซเชียล การพูดคุยถกเถียง ชักชวนแลกเปลี่ยนความคิด เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในสังคมรอบตัวเป็นประจำ แต่กับน้อง ๆ บางคนอาจมีข้อสงสัยว่า พูดอะไรทำไมชอบโดนขัด เหตุผลที่ให้ไป ทำไมถึงไม่ค่อยมีใครฟัง หรือบางครั้งเป็นเพราะเรายังพูดไม่ถูก ให้เหตุผลไม่ดีพอ วันนี้เรามีศิลปะการพูดที่เรียกว่าการโน้มน้าวใจมาฝากกัน


การโน้มน้าวใจ เป็น ศิลปะการพูด เทคนิคการพูดเพื่อให้ผู้อื่นให้รับฟัง เข้าใจ ยอมรับในมุมมองความคิดของเรา บางครั้งผู้ฟังอาจคล้อยตาม หรือยอมเปลี่ยนความคิดและเปลี่ยนการกระทำไปตามทิศทางที่ผู้พูดโน้มน้าวต้องการได้ การพูดโน้มน้าวใจเป็นทักษะที่ต้องฝึกฝนเพื่อให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพ ภาษาที่ใช้ต้องชัดเจนและสร้างสรรค์ สอดแทรกอารมณ์ขันในเนื้อหาเพิ่มความน่าสนใจ พร้อมทั้งมีภาษากายที่ดีบ่งบอกความมั่นใจและการยกตัวอย่างเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและเพิ่มความน่าเชื่อถือ ถ้าอยากพูดเก่ง โน้มน้าวใจเพื่อนเก่ง ลองเรียนรู้กลวิธีนี้กันดู


สร้างความน่าเชื่อถือให้ตัวเองก่อน


ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรกในการพูดโน้มน้าวผู้คน เพื่อให้มั่นใจในตัวผู้พูดและสิ่งที่สื่อสารออกไป ทั้งความน่าเชื่อถือ คำพูดที่ดูจริงใจและเป็นข้อเท็จจริง จะมีเทคนิคอะไรบ้าง ไปดูกันจ้า 


  • ค้นหาความรู้ในเรื่องที่จะพูดให้เป๊ะ ให้ตัวเราเข้าใจอย่างถ่องแท้แม่นยำ มีเหตุผลและมีรายละเอียดชัดเจน มีหลักฐานสนับสนุนข้อมูลที่แสดงความน่าเชื่อถือ 
  • วางเป้าหมายในการพูดให้ชัด วิเคราะห์ระดับของคนฟังทุกครั้ง ว่าควรเลือกถ้อยคำอย่างไร เชิญชวนแบบไหน เสนอแนะอย่างไร เพื่อให้เราสื่อสารได้ตรงจุดตรงใจที่สุด 
  • รับผิดชอบสิ่งที่พูดออกไป มีคุณธรรมจริยธรรมในการพูด เล่าเหตุการณ์หรือประสบการณ์จริง ใช้วิธีการเปรียบเทียบและทางเลือกทั้งข้อดีและข้อเสียให้ผู้ฟังใช้วิจารณญาณและเลือกที่จะคล้อยตามโดยสมัครใจ 
  • แอบสร้างอารมณ์ขันเล็กน้อยขณะพูด เพื่อสร้างความบันเทิงนิด ๆ หน่อย ๆ จะช่วยให้สร้างบรรยากาศให้ดีและไม่จริงจังจนเกินไป



การใช้ภาษาให้เหมาะสม 

   สำหรับภาษาที่ใช้ขึ้นอยู่กับประเภทของผู้ฟังเป็นหลัก เช่น ภาษาทางการ ภาษากลาง ๆ ถ้อยคำที่สร้างบรรยากาศเป็นกันเองโดยใช้คำสุภาพให้เกียรติผู้ฟัง เลือกใช้คำพูดให้เหมาะสมน่าฟัง ใช้คำสร้างพลังบวก ระมัดระวังคำที่เป็นภาพลบ เช่น ใช้คำว่าไม่ค่อยมีฐานะแทนคำว่ายากจน ใช้คำว่า ไม่ควรทำ แทนคำว่าอย่าหรือห้ามทำ การพูดโน้มน้าวควรแสดงความปรารถนาดีต่อผู้ฟัง ไม่พูดประชดประชันหรือเหน็บแนม ไม่บังคับข่มขู่ ไม่พูดโจมตีผู้อื่น และต้องคำนึงถึงกาลเทศะเป็นสำคัญ


ฝึกบ่อย ๆ ค่อย ๆ ชิน

การพูดเพื่อโน้มน้าวใจคนเป็นทักษะการพูดที่ทุกคนควรฝึกฝนเป็นประจำ ฝึกควบคุมสติอารมณ์ทำให้ไม่ประหม่า ประเมินผลและปรับปรุงการพูดของตนเองอย่างสม่ำเสมอ คัดเลือกถ้อยคำที่มีจุดประสงค์ชัดเจน มีทัศนคติและเจตนาที่ดี แสดงความจริงใจต่อผู้ฟัง มีเหตุผลสนับสนุนให้ผู้ฟังรู้สึกคล้อยตาม เกิดการเปลี่ยนแปลงความคิดและการกระทำตามอย่างที่ผู้พูดโน้มน้าวต้องการ


ในบางโอกาส หากน้อง ๆ ต้องพูดหน้าชั้นเรียนหรือต่อหน้าผู้คนจำนวนมาก อีกสิ่งสำคัญคือการฝึกสำเนียงการพูด เสียงดังฟังชัดและคำควบกล้ำถูกต้องชัดเจน ลีลาการพูดน่าฟัง และต้องมีปฏิภาณไหวพริบดีและแก้ปัญหาเฉพาะหน้าได้ด้วย


   นอกเหนือจากการโน้มน้าวใจด้วยคำพูดแล้ว สิ่งสำคัญไม่แพ้กันคือภาษากายและโทนเสียงพูดที่มีพลัง แสดงออกถึงความมั่นใจ ลองฝึกปรับวิธีการพูดให้คล่องแคล่ว มีการเน้นคำหนักคำเบา พูดด้วยน้ำเสียงที่เป็นมิตร ใบหน้ายิ้มแย้ม ทำให้คำพูดไม่น่าเบื่อ การแสดงความมั่นใจส่งอิทธิพลกระตุ้นความรู้สึกของผู้ฟังให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวผู้พูด ทำให้ การพูดโน้มน้าวใจ ได้ผลดี ยิ่งฝึกฝนบ่อย ๆ ให้การพูดเป็นธรรมชาติ ถ้อยคำชัดเจนและตรงตามจุดประสงค์ ทำให้น่าเชื่อถือและโน้มน้าวใจเพื่อน ๆ หรือผู้ฟังให้คิดเห็นคล้อยตามและเต็มใจเปลี่ยนความคิดมาทำตามความต้องการของเราในที่สุด


นอกจากการพูดโน้มน้าวใจในชีวิตประจำวันแล้ว ยังมีศิลปะการโน้มน้าวใจอื่น ๆ แบ่งออกเป็น 3 รูปแบบหลัก ดังนี้


1.การโฆษณาสินค้า เป็นกลวิธีการพูดโน้มน้าวผู้ฟังประเภทหนึ่งที่มีเป้าหมายจูงใจให้เกิดพฤติกรรมการซื้อ โดยเลือกถ้อยคำอย่างพิถีพิถันทำให้สินค้าน่าสนใจ หากซื้อหาไว้ใช้งานแล้วจะเป็นประโยชน์คุ้มค่า ถือเป็นวิธีการพูดโน้มน้าวที่ได้ผลดีอีกวิธีหนึ่ง ทักษะ การพูดโน้มน้าวใจ ให้ผู้ซื้อเห็นความสำคัญของสินค้าหรือบริการจะกระตุ้นให้ปิดการขายง่ายขึ้น ลักษณะของการโน้มน้าวเพื่อโฆษณาสินค้า เช่น


  • การเขียนคำโฆษณาจะเลือกใช้ถ้อยคำกระชับ รูปประโยคสั้น สื่อความหมายชัดเจน โดยมากคำโฆษณามีความแปลกใหม่น่าสนใจ มีเสียงสัมผัสที่ฟังแล้วสะดุดหู ได้ยินแล้วจดจำได้ง่าย
  • เนื้อหาของโฆษณาบอกถึงคุณสมบัติ ประโยชน์ และคุณภาพของสินค้า โดยใช้เหตุผลจริงแต่โฆษณาเกินจริงเพื่อสร้างเรื่องราวน่าสนใจ มีเป้าหมายที่จะชักจูงให้ผู้บริโภคเกิดทัศนคติที่ดีและชื่นชอบในตัวสินค้าและบริการที่เสนอขาย
  • คำโฆษณามุ่งจับจุดความต้องการด้านจิตวิทยาของกลุ่มเป้าหมายเพื่อโน้มน้าวใจให้ผู้ฟังคิดเห็นคล้อยตามได้ง่าย ทำให้มีการซื้อหรือใช้สินค้าและบริการ เช่น การชักนำให้ทำประกันชีวิตเพราะเห็นถึงสิทธิประโยชน์ที่ได้รับ 
  • การโฆษณาแบบถี่ ๆ ทางสื่อประเภทต่าง ๆ ภายในช่วงระยะสั้นทำให้ผู้ฟังจดจำได้ดีขึ้น



2.โฆษณาชวนเชื่อ เป็น เทคนิคการพูด ที่โน้มน้าวใจผู้ฟังให้เปลี่ยนความเชื่อและการกระทำเกิดผลตอบรับตามที่ผู้พูดต้องการ กลวิธีการพูดถึงเน้นถึงผลลัพธ์เป็นหลักโดยไม่คำนึงถึงความถูกต้องและเหตุผล โดยรวมแล้วแบ่งการโฆษณาชวนเชื่อออกเป็น 2 รูปแบบ คือเป้าหมายเพื่อการค้าหรือทางการเมือง ตัวอย่างลักษณะของการโฆษณาชวนเชื่อ คือ 


  • การใช้ถ้อยคำหรูหราเพื่อเร้าอารมณ์ความรู้สึกอย่างแรงกล้า ทำให้ผู้ฟังเกิดความเชื่อถือ เลื่อมใสศรัทธาต่อผู้พูด ทำให้มีความคิดเห็นคล้อยตามได้ง่ายโดยไม่ได้คำนึงถึงเหตุผล ข้อเท็จจริง หรือตรวจสอบความถูกต้องก่อน รวมถึงชี้ให้เห็นแต่ด้านที่เป็นประโยชน์ ไม่พูดถึงข้อเสียหรือข้อบกพร่องให้รู้
  • ใช้ในกรณีการปลุกระดม เช่น ปลุกระดมให้รักชาติ ปลุกใจให้ใช้สินค้าไทย โดยกล่าวอ้างบุคคลผู้ทรงคุณวุฒิหรือสถาบันอันทรงเกียรติที่คนส่วนใหญ่เคารพนับถืออย่างสูงเพื่อให้เกิดทัศนคติด้านบวก เพื่อพูดโน้มน้าวผู้ฟังให้เกิดความนิยม เชื่อถือ คล้อยตามและยินดีทำตามหลักการ อุดมการณ์ หรือนโยบายนั้นได้ง่าย
  • กลวิธีการพูดชวนเชื่อโดยทำตัวกลมกลืนไปกับชาวบ้านเหมือนเป็นพวกเดียวกัน ทำให้เกิดความเชื่อใจ วิเคราะห์ผู้ฟังว่ามีการสนทนากันอย่างไรและเลือกแนวทางการพูดอย่างเดียวกัน เหมือนพูดจาภาษาเดียวกันทำให้ผู้ฟังสนใจ เกิดความเป็นกันเองและรู้สึกคล้อยตามและปฏิบัติตามได้ง่าย
  • การโฆษณาชวนเชื่อที่กล่าวอ้างคนส่วนใหญ่ เป็นอีกวิธีที่ชักจูงใจให้ทำตามเพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตเหมือนกับคนส่วนใหญ่ ไม่มีพฤติกรรมผิดแปลกจากธรรมเนียมปฏิบัติของคนทั่วไป



3. คำเชิญชวน เป็นการเสนอแนะให้ทำอย่างใดอย่างหนึ่ง โดยโน้มน้าวให้เห็นประโยชน์ของส่วนรวม ไม่เพียงใช้ ศิลปะการพูด เท่านั้น แต่ยังมีวิธีการอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นการแจกแผ่นปลิว การปิดประกาศ หรือการเผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ เพิ่มความน่าสนใจและเสริมความน่าเชื่อถือ เช่น เชิญชวนให้เลิกสูบบุหรี่, เชิญชวนทำบุญปล่อยโคและกระบือ ลักษณะของการพูดประเภทนี้ เช่น 


  • การพูดเชิญชวนเป็นการชี้ให้เห็นการกระทำเพื่อประโยชน์ของส่วนรวม ถ้อยคำต้องบอกวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าต้องการให้ทำอย่างไรและมีข้อดีอย่างไรเพื่อให้เกิดการยอมรับและคล้อยตามได้ง่าย
  • ถ้อยคำที่ใช้เป็นการเสนอแนะ ขอร้อง วิงวอน หรือเร้าใจให้เกิดความรู้สึกและอารมณ์ร่วมกัน ไม่คุกคามขู่เข็ญ กล่าวตำหนิติเตียนหรือวิพากษ์วิจารณ์ผู้อื่นตรง ๆ เทคนิคการพูด ควรมีจังหวะผ่อนเสียงเน้นเสียงน่าสนใจ เสียงพูดนุ่มนวล ฟังดูทรงพลังแต่ไม่แข็งกระด้าง ไม่พูดในลักษณะของการใช้อำนาจหรือออกคำสั่ง หากมีอารมณ์ขันฟังแล้วไม่น่าเบื่อจะพูดโน้มน้าวใจได้ดีขึ้น
  • การพูดเชิญชวนควรแสดงให้เห็นถึงความน่าเชื่อถือ มีเหตุผลหนักแน่น ยึดหลักข้อเท็จจริงโดยแสดงให้เห็นทางเลือกทั้งด้านดีและด้านเสีย ไม่หลอกลวงหรือบิดเบือนความจริงและความถูกต้อง


น้องคนไหนสนใจ ก็ลองนำเทคนิคไปใช้ดู เพื่อฝึกฝนศิลปะการพูดโน้มน้าวใจไปด้วย ไม่แน่ว่า ทักษะนี้อาจจะจำเป็นและช่วยให้น้อง ๆ ประสบความสำเร็จอย่างที่หวังไว้ในหลายๆ ด้านก็ได้นะ

ที่มาข้อมูล

  • https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/34968
  • https://kingcopywriting.com/how-to-convince/
  • https://www.baanjomyut.com/library_3/extension-/speaking_for_communication_arts/05.html
  • https://sites.google.com/site/dewwy999/adminidtrator/hlak-kar-phud-thi-di
  • https://lifestyle.campus-star.com/knowledge/119157.html