การวิเคราะห์ข่าวและอ่านให้เข้าใจ ไม่มีบ้ง
34319 views | 31/12/2021
Copy link to clipboard
Arrietty .
Content Creator

น้อง ๆ ทุกคนคงทราบกันดีนะคะว่า ปัจจุบันเป็นยุคของข้อมูลข่าวสาร ถ้าไม่ได้อ่านด้วยตาก็ได้ฟังด้วยหู ไม่ช่องทางใดก็ช่องทางหนึ่ง แต่น้อง ๆ ทราบไหมว่า ทุกวันนี้ข้อมูลข่าวสารมากมายที่รายงานผ่านสื่อ มีทั้งข่าวจริง ข่าวปลอม ดังนั้น การวิเคราะห์ และประเมินความน่าเชื่อถือของข้อมูลข่าวสารตลอดจนการพิจารณา ความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว จึงเป็นเรื่องสำคัญ ทั้งนี้เพื่อเราจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของข่าวเท็จ ข่าวปลอม และกลลวงที่อาศัยสื่อต่าง ๆ เป็นเครื่องมือยังไงล่ะคะ


รู้ก่อนได้เปรียบ วิเคราะห์ข่าวเขาทำยังไงกันนะ?

   เรื่องนี้ไม่ยากอย่างที่คิดเพราะ การวิเคราะห์ข่าวคือการนำข้อเท็จจริงจากข่าวมาสรุปหาใจความสำคัญ โดยการใช้ความคิดใคร่ครวญโดยแยกแยะเป็นส่วน ๆ ทั้งด้านดีและด้านเสีย เพื่อชี้ให้เห็นถึงเหตุการณ์ที่อาจก่อให้เกิดปัญหา ผลกระทบหรือการเปลี่ยนแปลงทางสังคม 


ซึ่งการวิเคราะห์ข่าว เป็นความสามารถในการอ่านในระดับที่สูงขึ้นไปอีกขั้น ที่นอกจากเราจะรู้ว่าใคร ทำอะไร ที่ไหน อย่างไร เมื่อไรแล้ว ยังเป็นการอ่านเพื่อวิเคราะห์แยกแยะให้ทราบถึงองค์ประกอบ เหตุและผลของเรื่อง จนสรุปได้ว่าแต่ละส่วนเป็นอย่างไร สัมพันธ์กันอย่างไร มีข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นอย่างไร อันจะช่วยให้เห็นภาพรวมและรายละเอียด และช่วยให้เข้าใจเรื่องที่อ่านมากขึ้นนั่นเอง


ส่วนเรื่องทักษะใน การวิเคราะห์ ข้อมูลข่าวสารจากการอ่านนี้จะเป็นพื้นฐานให้น้อง ๆ นำความรู้ไปใช้ในการอ่านขั้นต่อไป ไม่ว่าจะเป็นการอ่านตีความและการอ่านประเมินค่า ซึ่งการอ่านดังกล่าวนี้จะทำให้น้อง ๆ สามารถนำไปใช้ในการเรียนในระดับที่สูงขึ้น ใช้ในการประกอบอาชีพ อีกทั้งการที่เราสามารถวิเคราะห์แยกแยะข้อดีข้อเสียของข้อเขียนได้ ก็จะทำให้เราสามารถนำไปปรับใช้วิเคราะห์ข้อมูลข่าวสารจากสื่อต่าง ๆ ในชีวิตประจำวัน ได้เป็นอย่างดีด้วย


อ่านและวิเคราะห์ข่าวยังให้ไม่บ้ง



   ดังที่น้อง ๆ ทราบกันดีอยู่แล้วว่า ปัจจุบันข้อมูลข่าวสารเข้าถึงทุกคนได้ง่ายทุกทิศทุกทาง ซึ่งข้อดีก็คือ ทำให้เรารู้ความเป็นไปของโลกและเหตุการณ์บ้านเมือง ทำให้เราทันสมัย ไม่ตกเทรนด์ แต่ข้อเสียก็มีไม่น้อย เช่น เราจะรู้ได้อย่างไรว่าข้อมูลที่ปรากฏอยู่นั้น จริงหรือเท็จหรือเราจะเข้าใจสถานการณ์จริงได้มากน้อยแค่ไหน ความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว มีมากน้อยแค่ไหน เพราะเหตุนี้แหละจึงทำให้เราต้องมีทักษะกระบวนการคิดอย่างเป็นระบบหรือที่เรียกว่า การวิเคราะห์ นั่นเอง 

 

  ส่วนเรื่องหลักการสำคัญของการอ่านวิเคราะห์ เราต้องอาศัยความสามารถพื้นฐานในด้านการอ่าน ได้แก่ การอ่านจับใจความสำคัญ  การอ่านจับใจความสำคัญนับเป็นทักษะสำคัญเบื้องต้นของการอ่านหนังสือและเป็นหัวใจของการอ่าน เพราะถ้าจับใจความสำคัญไม่ได้ก็ย่อมไม่เข้าใจเรื่องที่อ่าน เมื่อไม่เข้าใจเรื่องที่อ่านก็ไม่สามารถอ่านวิเคราะห์ ตีความและประเมินค่าได้



หลักการอ่านจับใจความสำคัญ รู้ไว้ไม่พลาด ไม่บ้งชัวร์

  • อ่านเรื่องอย่างละเอียดเพื่อทำความเข้าใจภาพรวมของเนื้อหาทั้งหมด นั่นหมายความว่าน้อง ๆ ต้องอ่านเรื่องที่จะจับใจความตั้งแต่ต้นจนจบ เพื่อพิจารณาหาข้อเท็จจริง ข้อคิดเห็นตลอดจนเจตนาหรือน้ำเสียงของผู้เขียน
  • ทำความเข้าใจภาพรวมของเนื้อหาที่อ่านอย่างคร่าว ๆ ว่าเรื่องที่อ่านเป็นเรื่องของใครหรืออะไร เมื่อไร ที่ไหน ทำไม อย่างไร 
  • หากมีชื่อเรื่องก็ให้พิจารณาชื่อเรื่องด้วย เพราะชื่อเรื่องก็มักจะสอดคล้องกับใจความสำคัญของเรื่อง
  • หาใจความสำคัญในแต่ละย่อหน้า ซึ่งตำแหน่งของใจความสำคัญอาจจะปรากฏอยู่ต้นย่อหน้า กลางย่อหน้า หรือท้ายย่อหน้า หรือปรากฏทั้งต้นย่อหน้าและท้ายย่อหน้า หรือบางครั้งอาจไม่ปรากฏชัดเจนแต่ผู้อ่านต้องประมวลความรู้ความเข้าใจเอาเอง



เพื่อให้น้อง ๆ เข้าใจยิ่งขึ้น มาดูตัวอย่างกัน


ตัวอย่าง ใจความสำคัญอยู่ต้นย่อหน้า 

   “ข้าพเจ้าคิดว่าความก้าวหน้าอยู่ที่การแสวงหาความรู้เพิ่มเติมไม่มีที่สิ้นสุด เพื่อให้ตนเองเป็นคนทันสมัย และทันโลกอยู่เสมอ และเพื่อถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นอีกด้วย ชื่อเสียงและความสรรเสริญเยินยอข้าพเจ้าไม่ปรารถนา แต่ต้องการทำงานเพื่ออุดมคติมากกว่าเพื่อเงิน แม้เงินจะน้อยแต่ถ้ามีโอกาสก้าวหน้าในทางความรู้ ข้าพเจ้าก็พอแล้ว” (ที่เรียกว่าก้าวหน้า : ศุทธินี)


ใจความสำคัญก็คือ ข้าพเจ้าคิดว่าความก้าวหน้าอยู่ที่การแสวงหาความรู้เพิ่มเติมไม่มีที่สิ้นสุด


ตัวอย่าง ใจความสำคัญอยู่กลางย่อหน้า

  “การทำตนในความหมายของหลิ่วตาตาม มุ่งเน้นเฉพาะมารยาทในสังคมมากกว่าความประพฤติทางด้านคุณธรรม การปรับตนให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อลดความขัดแย้ง ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ หากเป็นการประพฤติปฏิบัติที่เป็นเรื่องคุณธรรม ต้องใช้วิจารณญาณที่ถูกต้อง หลีกเลี่ยงที่จะประพฤติตามผู้ที่ขาดคุณธรรม” 

(เข้าเมืองตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม : วิวิธภาษา ม.2)


ใจความสำคัญก็คือ  การปรับตนให้สอดคล้องกับสถานการณ์เพื่อลดความขัดแย้ง ถือว่าเป็นสิ่งที่ควรทำ


ตัวอย่าง ใจความสำคัญอยู่ท้ายย่อหน้า

  ”สมัยก่อนวัดต่าง ๆจะมีกองทรายของแต่ละวัด แต่จะมีชาวบ้านนำทรายออกจากวัดเพื่อไปทำที่, ซ่อมบ้าน หรือแม้แต่การที่เดินออกจากวัดแล้วทรายติดออกมาด้วย ถือว่าเป็นหนี้สงฆ์ คนสมัยก่อนจึงได้มีประเพณีขนทรายเข้าวัด เพื่อให้ชาวบ้านนำทรายมาคืนวัดเพื่อจะได้ไม่ติดหนี้สงฆ์”


ใจความสำคัญก็คือ  คนสมัยก่อนมีประเพณีขนทรายเข้าวัด เพื่อให้ชาวบ้านนำทรายมาคืนวัดเพื่อจะได้ไม่ติดหนี้สงฆ์


ตัวอย่าง ใจความสำคัญที่อยู่ต้นย่อหน้าและท้ายย่อหน้า

  “มนุษย์ต่างจากสัตว์ ซึ่งถ้าฝึกแล้วจะทำอะไรได้มากมายแสนวิเศษอัศจรรย์ ความวิเศษของมนุษย์อยู่ที่การฝึก คือถือว่ามนุษย์เกิดมายังไม่สมบูรณ์ ความสามารถก็ยังไม่สมบูรณ์ สติปัญญาก็ยังไม่สมบูรณ์ คุณธรรมก็ยังไม่สมบูรณ์ เราจึงพยายามพัฒนาให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น มนุษย์นี้ถ้าไม่ฝึกแล้ว อาจจะต่ำทรามหรือด้อยกว่าสัตว์ทั้งหลายที่อาศัยสัญชาตญาณได้มากกว่ามนุษย์ จะเห็นได้จากการที่สัตว์หลายอย่างพอเกิดมาก็เดินได้ ว่ายน้ำได้ หากินได้ แต่มนุษย์นี้ในขณะที่เกิดมานั้นทำอะไรไม่ได้เลย ทิ้งไว้ก็ตาย สู้สัตว์อื่นไม่ได้ แม้แต่การดำเนินชีวิตก็ต้องสอนทุกอย่างไม่เหมือนสัตว์อื่น ๆ ที่มีสัญชาตญาณช่วย ถ้ามนุษย์ไม่มีการฝึกก็แพ้สัตว์ทั้งหลาย แต่ถ้าฝึกดีแล้วก็ไม่มีสัตว์ชนิดใดสู้ได้เลย”


ใจความสำคัญ มนุษย์ต่างจากสัตว์ ซึ่งถ้าฝึกแล้วจะทำอะไรได้มากมายแสนวิเศษอัศจรรย์ ถ้ามนุษย์ไม่มีการฝึกก็แพ้สัตว์ทั้งหลาย แต่ถ้าฝึกดีแล้วก็ไม่มีสัตว์ชนิดใดสู้ได้เลย


ตัวอย่าง ใจความสำคัญโดยการสรุปของผู้อ่านเอง  

  “ชาวอาหรับโบราณเชื่อว่า ไข่มุกเป็นน้ำตาของเทพเจ้า ชาวโรมันเชื่อว่าไข่มุกก่อรูปร่างมาจผลึกของน้ำค้างและหอยกินเข้าไป บางตำนานเชื่อว่าไข่มุกมาจากหยาดหยดน้ำตาของเทพธิดาองค์หนึ่งซึ่งสงสารประชาชนผู้ทุกข์ยาก ส่วนชาวอินเดียเชื่อกันว่าเกิดจากฟันของมารตนหนึ่งที่ร่วงหล่นพร่างพราย”


ใจความสำคัญ คือ ชนชาติต่าง ๆ มีความเชื่อในเรื่องไข่มุกแตกต่างกัน



วิเคราะห์ข่าวให้เป็น อ่านยังไงก็รอด


ตัวอย่าง

แนะนำแนวทางปฏิบัติเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในสถานการณ์ COVID- 19

  “สถานการณ์ที่ทั่วโลกต้องเผชิญอยู่ขณะนี้ ไม่เฉพาะประเทศไทยเท่านั้น นั่นก็คือ สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ COVID- 19 ประกอบกับไวรัสโคโรนาชนิดนี้เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ ทำให้หลายคนตื่นกลัว และอาจสับสนกับการรับมือและปฏิบัติตน 


เราจึงเล็งเห็นความสำคัญในเรื่องดังกล่าว จึงได้รวบรวมข้อแนะนำการปฏิบัติเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในสถานการณ์ COVID- 19 ซึ่งเราทุกคนสามารถนำไปปฏิบัติได้ในชีวิตประจำวัน

เริ่มด้วยการดูแลสุขภาพร่างกายตนเอง เนื่องจาก COVID- 19 เป็นไวรัสที่ส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ เพื่อการป้องกันที่ดี ดังนั้นการกลั้วคอด้วยน้ำอุ่นและน้ำเกลือเป็นวิธีการที่จะช่วยป้องกันได้ทางหนึ่ง


นอกจากนี้ COVID- 19 ยังไม่สามารถดำรงอยู่ได้ในที่อุณหภูมิสูงราว 26-27 องศาเซลเซียส ดังนั้นการกินของร้อน เลี่ยงกินของเย็น จะช่วยป้องกันได้เช่นกัน รวมถึงเมื่อต้องซักผ้า เราควรตากแดดนานเกิน 2 ชั่วโมง เพราะเชื้อไวรัสนั้นสามารถติดกับเสื้อผ้าได้นานถึง 9 ชั่วโมง


อีกทั้งเชื้อ COVID- 19 ไม่ได้ล่องลอยอยู่ในอากาศตามที่เราเข้าใจกัน แต่จะอยู่ตามข้าวของต่าง ๆ ดังนั้นควรหลีกเลี่ยงสัมผัสสิ่งของที่อยู่ในที่สาธารณะ และควรล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลที่พกไว้ติดตัวตลอดเวลาหรือล้างมือด้วยน้ำและสบู่


สุดท้าย คือ การใส่หน้ากาก ซึ่งเป็นข้อถกเถียงว่าหน้ากากประเภทใดป้องกันได้ ซึ่งจากข้อมูลพบว่า COVID- 19 นั้นมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 400-500 ไมโคร ซี่งทำให้หน้ากากประเภทใดก็สามารถป้องกันได้ หากเราร่วมมือกันปฏิบัติตัวเพื่อป้องกันตัวเองจากไวรัส ไม่แพร่เชื้อไปสู่คนอื่น ๆ โดยเฉพาะคนรอบข้าง เราก็จะสามารถหยุดการแพร่ระบาดของไวรัสนี้ได้ และเราก็จะก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปได้อย่างแน่นอน”     

   

ที่มา : UNICEF(https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/)



จากข่าวตัวอย่างนี้ น้อง ๆ สามารถวิเคราะห์ได้โดยการพิจารณาตั้งแต่ ชื่อเรื่อง ประเภทของข้อเขียน จุดมุ่งหมาย เนื้อหาโดยสรุป ที่มาหรือสาเหตุ ความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว ผลกระทบและวิธีแก้ปัญหา ดังตัวอย่างต่อไปนี้ค่ะ


  • ชื่อเรื่อง : แนะนำแนวทางปฏิบัติเมื่อต้องใช้ชีวิตอยู่ในสถานการณ์ COVID- 19
  • ประเภทของข้อเขียน : บทความ
  • จุดมุ่งหมาย : ให้ความรู้
  • เนื้อหาโดยสรุป : การป้องกันตนเองให้ปลอดภัยจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีข้อควรปฏิบัติได้แก่ การกลั้วคอด้วยน้ำอุ่นและน้ำเกลือ กินของร้อน เลี่ยงกินของเย็น ในการซักผ้าควรตากแดดนานเกิน 2 ชั่วโมง ควรหลีกเลี่ยงสัมผัสสิ่งของที่อยู่ในที่สาธารณะ และควรล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจลหรือล้างมือด้วยน้ำและสบู่ และต้องสวมหน้ากากอนามัย
  • สาเหตุ : ทั่วโลกและประเทศไทยกำลังเผชิญกับสถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา หรือ COVID- 19       
  • ความน่าเชื่อถือของแหล่งข่าว : เชื่อถือได้ เพราะเป็นข่าวสารจากเว็บไซต์ที่น่าเชื่อถือ คือ https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/ ซึ่งเป็นเว็บไซต์ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และอ้างที่มาของข้อมูลชัดเจน (จากยูนิเซฟ)อีกทั้งมีข้อมูลข่าวสารเรื่องนี้จากสื่อหลาย ๆ สำนักซึ่งมีข้อมูลตรงกัน
  • ผลกระทบ : ผู้คนใช้ชีวิตอย่างลำบากมากขึ้น การแพร่ระบาดของไวรัสสายพันธุใหม่อาจรุนแรงและกินพื้นที่มากขึ้นในอนาคต 
  • วิธีแก้ปัญหา : ตามคำแนะนำของยูนิเซฟ คือ ป้องกันตนเองและคนรอบข้างดังคำแนะนำข้างต้น ได้แก่ การกลั้วคอด้วยน้ำอุ่นและน้ำเกลือ กินของร้อน เลี่ยงกินของเย็น ในการซักผ้าควรตากแดดนานเกิน 2 ชั่วโมง ควรหลีกเลี่ยงสัมผัสสิ่งของที่อยู่ในที่สาธารณะ และควรล้างมือด้วยแอลกอฮอล์เจล หรือล้างมือด้วยน้ำและสบู่และสวมหน้ากากอนามัย


   ถ้าน้อง ๆอ่านข่าวแล้ว สามารถวิเคราะห์ข่าวออกมาได้ตามหัวข้อข้างต้น พี่รับรองว่า น้อง ๆจะเป็นผู้อ่านที่ไม่ตกเป็นเหยื่อของเฟคนิวส์ทั้งหลาย อีกทั้งยังได้รับสาระความรู้จากข่าวแบบเต็ม ๆ และพี่ขอแนะนำอีกนิดว่าในการวิเคราะห์ข่าว น้อง ๆ ควรค้นคว้าหาข้อมูลเพิ่มเติมจากสื่ออื่น ๆ มาประกอบด้วย เพื่อให้ การวิเคราะห์ข่าว มีความน่าเชื่อถือและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์มากขึ้นนั่นเองค่ะ

ที่มาข้อมูล

  • https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/34960
  • https://www.trueplookpanya.com/blogdiary/1570
  • https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/34186
  • https://sites.google.com/site/suphasitnaru/suphasit
  • https://resourcecenter.thaihealth.or.th/article/
  • https://siamrath.co.th/n/8571