หน้าที่ของคำในภาษาไทย
18504 views | 30/12/2021
Copy link to clipboard
Arrietty .
Content Creator

น้อง ๆ ทราบไหมว่า คำ คือ องค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของประโยคที่ใช้พูดและเขียน? หากน้อง ๆ รู้และเข้าใจเรื่องชนิดและหน้าที่ของคำ น้องก็จะสามารถนำคำไปใช้เรียบเรียงประโยคได้อย่างถูกต้องซึ่งจะช่วยให้น้อง ๆ สื่อสารได้ง่าย แถมเพิ่มคะแนนวิชาภาษาไทยให้พุ่งปรี๊ดแน่นอน วันนี้ พี่จะพาน้อง ๆ ไปรู้จักกับเรื่องราวของ คำและ หน้าที่ของคำในภาษาไทย กัน



คำคืออะไรกันนะ

คำ คือ กลุ่มเสียงที่เปล่งออกมาแล้วมีความหมาย ประกอบด้วยเสียงพยัญชนะ เสียงสระและเสียงวรรณยุกต์ จะมีกี่พยางค์ก็ได้ เช่น น้ำ ภูเขา โรงเรียน สมุด หนังสือ สะอาด โทรทัศน์ วิทยุ ฯลฯ

สำหรับชนิดของคำในภาษาไทย ก็มีทั้งหมด 8 ชนิดนะคะ ได้แก่ คำนาม คำสรรพนาม คำกริยา คำวิเศษณ์ คำบุพบท คำสันธานและคำอุทาน โดยคำแต่ละชนิด แบ่งแยกย่อยได้อีกหลายชนิด ดังต่อไปนี้

  

1.คำนาม คือ คำที่ใช้เรียก คน สัตว์ สิ่งของ สิ่งมีชีวิต สิ่งไม่มีชีวิต วัตถุ สถานที่ คุณสมบัติ สถานะ หรือแนวคิด ฯลฯ แบ่งออกได้ ๕ ชนิด ได้แก่


  • คำนามทั่วไป(สามานยนาม)  คือ คำนามที่เป็นชื่อทั่ว ๆ ไป เป็นคำเรียกสิ่งต่าง ๆ

โดยทั่วไปไม่เฉพาะเจาะจง เช่น คน มนุษย์ หมา แมว ผลไม้ มะม่วง เงาะ ต้นไม้ หนังสือ ปากกา โต๊ะ เก้าอี้ พ่อแม่ โน้ตบุ๊ก เป็นต้น 


  • คำนามเฉพาะหรือชื่อเฉพาะ(วิสามานยนาม)  คือ คำนามที่ใช้เรียกชื่อเฉพาะของคน สัตว์ สิ่งของหรือสถานที่ เป็นคำเรียกที่เจาะจงลงไปว่า เป็นใครหรือเป็นอะไร เช่น ครูสมศรี ด.ญ.ส้มโอ

กำนันสุพจน์ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม พระพุทธชินราช รร.สตรีวัดระฆัง รพ.พัทลุง น้องแอลลี่ พระอภัยมณี เป็นต้น


  • คำนามที่ทำหน้าที่แสดงหมวดหมู่ (สมุหนาม ) เช่น ฝูงปลา กอไผ่ คณะนักทัศนาจร

 บริษัท  พวกกรรมกร กองคาราวาน หมู่ลูกเสือ เหล่าทหาร เป็นต้น


  • คำนามที่บอกลักษณะของคำนาม (ลักษณนาม) คือ คำที่ใช้บอกรูปลักษณะ ขนาด และปริมาณของคำนาม เช่น รถ 1 คัน บ้าน 1 หลัง แมว 2 ตัว แห 3 ปาก ปากกา 4 ด้าม  ไม้บรรทัด 5 เล่ม  คำว่า คัน หลัง ตัว ปาก ด้าม เล่ม เป็นคำลักษณนาม 

คำกริยาหรือคำวิเศษณ์ที่มีคำว่า “การ”หรือ “ความ” นำหน้า เราเรียกคำเหล่านี้ว่าอาการนาม เช่น ความรัก ความเกลียด ความโลภ ความเป็นไป ความดี ความเลว ความชั่ว การกิน การเดิน การพูด การเรียน การทำงาน การสื่อสาร ฯลฯ ถ้าคำว่า การ หรือ ความ นำหน้าคำนามจะไม่เรียกว่าอาการนามนะคะ เช่น การรถไฟ การไฟฟ้า การประปา (แบบนี้จะเป็นคำนามเฉพาะค่ะ)


 2.คําสรรพนาม เป็นคำที่ใช้เรียกแทน คน สัตว์ สิ่งของ สถานที่ เพื่อที่เราจะไม่ต้องกล่าวคำนามนั้นซ้ำอีก เช่น 


บุรุษสรรพนาม เป็นสรรพนามใช้แทนผู้พูด ผู้ฟัง และผู้ที่กล่าวถึง เช่น

  • บุรุษที่ 1 (ผู้พูด,ผู้เขียน) ได้แก่ ดิฉัน ผม ฉัน ข้าพเจ้า กระผม อาตมา เรา
  • บุรุษที่ 1 (ผู้ฟัง,ผู้อ่าน) ได้แก่ เธอ แก ท่าน คุณ พระคุณเจ้า 
  • บุรุษที่ 3 (ผู้ที่เรากล่าวถึง) ได้แก่ เขา พวกเขา มัน ท่าน


  ตัวอย่างประโยค

  • สมศักดิ์ไม่มาโรงเรียน เขาไม่สบาย (เขา เป็นคำสรรพนามบุรุษที่ 3 แทนสมศักดิ์)
  • คุณพ่อคุณแม่ทำงานหนักเพื่อฉัน ฉันสงสารท่านมาก (ฉัน เป็นสรรพนามบุรูษที่ 1แทนตัวผู้พูด ท่าน เป็นสรรพนามบุรุษที่ 3 แทนคุณพ่อคุณแม่ซึ่งถูกกล่าวถึง)


ประพันธสรรพนาม เป็นสรรพนามที่ทำหน้าที่แทนนามข้างหน้า และใช้เชื่อมประโยค ได้แก่คำว่า ผู้ ที่ ซึ่ง อัน เช่น  

  • ผู้หญิงที่นั่งอยู่ในรถ เป็นแม่ฉันเอง  
  • เพื่อนของฉันซึ่งคบกันมานานเราโกรธกันแล้ว  


วิภาคสรรพนาม  คือ สรรพนามบอกความชี้ซ้ำ ที่ใช้แยกออกเป็นส่วน ๆ ได้แก่ บ้าง ต่าง กัน เช่น

  • นักเรียนบ้างก็เรียนบ้างก็เล่น  
  • ลูก ๆ ต่าง ก็แยกย้ายกันไปมีครอบครัวหมดแล้ว 


นิยมสรรพนาม (นิ-ยะ-มะ-สับ-พะ-นาม) เป็นคำสรรพนามที่ใช้เพื่อชี้เฉพาะเจาะจง ได้แก่ คำว่า นี่ นั่น โน่น นี้ นั้น โน้น เช่น 

  • บ้านหลังนั้นเป็นบ้านของฉันเอง 
  • กระเป๋าใบนี้ของผม 
  • คนโน้นเป็นใคร  


อนิยมสรรพนาม(อะ-นิ-ยะ-มะ-สับ-พะ-นาม)เป็นสรรพนามใช้แทนนามที่ไม่ชี้เฉพาะ ได้แก่ ใคร อะไร ที่ไหน ผู้ใด ใคร ๆ อะไร ๆ ไหน ๆ ใด ๆ เช่น  

  • ใครก็ได้ปิดประตูให้หน่อย 
  • อะไร ๆ ก็ไม่ดีสักอย่าง  
  • ใด ๆในโลกล้วนอนิจจัง 
  • ที่ไหนก็ได้สำหรับฉัน 


ปฤจฉาสรรพนาม เป็นสรรพนามใช้ถาม เช่น ใคร อะไร ผู้ใด ไหน เช่น

  • ใครมาหาฉันเมื่อเช้า 
  • อะไรอยู่ใต้โต๊ะ 
  • ไหนบ้านของเธอ


3.คำกริยา คือ คำที่ทำหน้าที่แสดงกิริยาอาการหรือการกระทำ แบ่งออกได้ ๕ ชนิด คือ


อกรรมกริยา คือ คำกริยาที่ไม่ต้องมีกรรมมารับก็ได้ความสมบูรณ์ เข้าใจได้ เช่น

  • เขายืนอยู่ 
  • น้องนอน
  • เธอร้องไห้


สกรรมกริยา คือ คำกริยาที่ต้องมีกรรมมารับ เพราะคำกริยานี้ไม่มีความสมบูรณ์ในตัวเอง เช่น

  • ฉันกินข้าว(ข้าวเป็นกรรมที่มารับกริยา “กิน”)
  • เขาเห็นคนร้าย     (คนร้ายเป็นกรรมที่มารับกริยา”เห็น”)


วิกตรรถกริยา หรือคำกริยาเติมเต็ม คือ คำกริยาที่ไม่มีความหมายในตัวเอง ใช้ตามลำพังแล้วไม่ได้ความ ต้องมีคำอื่นมาประกอบจึงจะได้ความ เช่น คือ คล้าย เป็น เหมือน เท่า 

  • ฉันเป็นนักเรียน
  • คนนั้นคือครูของฉันเอง
  • เธอหน้าตาคล้ายญาญ่ามาก


กริยานุเคราะห์ หรือกริยาช่วย คือ คำกริยาที่ทำหน้าที่ช่วยคำกริยาสำคัญในประโยค ให้มีความหมายชัดเจนขึ้น ได้แก่คำว่า จง กำลัง จะ ย่อม คง ยัง ถูก นะ เถอะ เทอญ ฯลฯ เช่น 

  • นายดำจะไปทำงาน
  • เขาถูกตี
  • คนดีย่อมได้รับคำสรรเสริญ
  • ไปกันเถอะ


กริยาสภาวมาลา คือ คำกริยาที่ทำหน้าที่คล้ายคำนาม จะเป็นประธาน กรรม หรือบทขยายของประโยคก็ได้ เช่น 

  • นอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดี (นอนหลับ เป็นคำกริยาที่เป็นประธานของประโยค) 
  • เขาเลี้ยงนกสำหรับดูเล่น (ดูเล่น เป็นคำกริยาที่เป็นส่วนขยายของประโยค) 
  • เล่นกีฬาเป็นกิจกรรมยามว่างของฉัน (เล่นกีฬา เป็นคำกริยาที่เป็นประธานของประโยค)



4.คำวิเศษณ์ คือ คำที่ทำหน้าที่ขยายคำนาม  คำสรรพนาม  คำกริยา หรือคำวิเศษณ์เอง เพื่อให้ได้ใจความสมบูรณ์ขึ้น  คำวิเศษณ์มักจะอยู่หลังคำที่นำมาขยาย เช่น

  • ดอกกุหลาบมีกลิ่นหอม
  • ปากกาสีแดงตกอยู่บนพื้น
  • บ้านเขาอยู่ไกลมาก

 

5.คำบุพบท   คือ คำที่ทำหน้าที่แสดงความสัมพันธ์ระหว่างคำ ข้อความหรือประโยค เพื่อให้ความต่อเนื่องกันและช่วยให้ข้อความนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น ชนิดของคำบุพบทแบ่งได้เป็น ๔ ชนิด คือ              

  

  • บุพบทบอกสถานที่  เช่น ใน นอก ใกล้ ไกล บน ล่าง เหนือ ใต้ เช่น เขากินข้าวนอกบ้าน 
  •  บุพบทบอกความเป็นเจ้าของ เช่น ของ แห่ง กระเป๋าแฮนด์เมดของเธอสวยมาก
  •  บุพบทบอกความเกี่ยวข้อง เช่น กับ แก่ แด่ ต่อ เฉพาะ สำหรับ โดย ตาม เพื่อ เช่นของขวัญนี้เพื่อเธอ
  •  บุพบทบอกเวลา เช่น ตั้งแต่ แต่ เมื่อ จนระทั่ง เช่น เขามาแต่เช้า พ่อตื่นตั้งแต่ไก่โห่



6.คำสันธาน เป็นคำที่ทำหน้าที่เชื่อมประโยค หรือข้อความกับข้อความในประโยคความรวม เพื่อทำให้ประโยคมีใจความต่างกัน เช่น คล้อยตาม ขัดแย้ง ให้เลือก หรือเป็นเหตุเป็นผลกัน เช่น คำว่า และ แล้ว จึง แต่ หรือ เพราะ เหตุเพราะ ดังนั้น  เช่น  

  • ทั้งพ่อและแม่ของผมมีอาชีพรับราชการ  
  • พอทำการบ้านเสร็จฉันก็นอน ผมต้องการพูดกับเขา
  • แต่เขาไม่ยอมพูดกับผม  
  • กว่าเราจะไปถึงเพื่อน ๆ ก็กลับกันหมดแล้ว


7.คำอุทาน เป็นคำที่ผู้พูดเปล่งออกมาเพื่อแสดงอารมณ์ต่าง ๆ เช่น ตกใจ ดีใจ เสียใจ ประหลาดใจ

โดยจะมีเครื่องหมายอัศเจรีย์(!)ตามหลัง เช่น อุ๊ย!มานานแล้วหรือคะ โอ๊ย!โดนอะไรตำเท้า ว้าย! ผีหลอก


คำอุทาน แบ่งออกเป็น ๒ ชนิด คือ

  • คำอุทานแสดงอารมณ์ต่าง ๆเช่น อุ๊ย! ว้าย! โอ๊ย! อ้าว! เอ๊ะ! ฯลฯ
  • คำอุทานเสริมบท เช่น ทำไมปล่อยให้ผมเผ้ารุงรัง ดูซิ หัวหูดูไม่ได้เลย ไม่กินไม่แกนมันแล้ว


ทราบชนิดของคำกันแล้ว คราวนี้เราจะมาดูหน้าที่ของคำในภาษาไทย กันค่ะ


เมื่อพูดถึงคำว่า หน้าที่ของคำ ให้น้อง ๆ นึกถึง 3 คำนี้ไว้นะคะ คือ ประธาน กริยา กรรม ค่ะ

  ประธาน ก็คือ ผู้กระทำ

  กริยา ก็คือ กิริยาอาการที่แสดงออกไป

  กรรม ก็คือ ผู้ที่ถูกกระทำ


โดยปกติแล้ว คำใดก็ตาม หากมันวางอยู่คำเดียวโดดเดี่ยว ไม่ได้ถูกแวดล้อมด้วยคำอื่น ๆ เราก็ไม่สามารถบอกได้ว่าคำนั้นทำหน้าที่อะไรในประโยค จนกว่ามันจะถูกนำมาเรียงเป็นประโยคที่สมบูรณ์ถึงจะรู้ว่าคำ ๆนั้นทำหน้าที่อะไร ดูตัวอย่างในประโยคต่อไปนี้ค่ะ


ด.ญ.ส้มโอชอบเล่นเกม

     ด.ญ.ส้มโอ เป็นคำนาม วางอยู่หน้าประโยค เป็นผู้ถูกกระทำ คำว่า ด.ญ.ส้มโอ จึงทำหน้าที่เป็น ประธานในประโยค

     ชอบเล่น เป็นคำกริยา วางอยู่หลังประธาน เป็นกิริยาอาการหรือสิ่งที่แสดงออกไป คำว่า 

     ชอบเล่น จึงทำหน้าที่เป็นกริยาในประโยค

     เกม เป็นคำนาม วางอยู่หลังคำกริยา เป็นสิ่งที่ถูกกระทำ คำว่าเกม จึงทำหน้าที่เป็นกรรมในประโยค


ตำรวจจับผู้ร้ายได้

   ตำรวจ เป็นคำนาม วางอยู่หน้าประโยค เป็นผู้กระทำ คำว่า ตำรวจ จึงทำหน้าที่เป็น ประธานในประโยค

   จับ เป็นคำกริยา วางอยู่หลังประธาน เป็นกิริยาอาการหรือสิ่งที่แสดงออกไป คำว่า จับ จึงทำหน้าที่เป็นกริยาในประโยค 

   ผู้ร้าย เป็นคำนาม วางอยู่หลังกริยา เป็นสิ่งที่ถูกกระทำ คำว่าผู้ร้าย จึงทำหน้าที่เป็นกรรมในประโยค

   ได้ เป็นคำวิเศษณ์ วางอยู่ท้ายประโยค เป็นคำที่ช่วยขยายกริยา คือ จับ คำว่า ได้ จึงทำหน้าที่เป็นคำขายกริยา (จับได้) 


สมศรีเป็นแม่ค้าส้มตำ  

    สมศรี เป็นคำนาม วางอยู่หน้าประโยค เป็นผู้กระทำ คำว่า สมศรี จึงทำหน้าที่เป็น ประธานในประโยค

    เป็น เป็นวิกตรรถกริยา หรือคำกริยาเติมเต็ม วางอยู่หลังประธาน เป็นกริยาที่ต้องมีส่วนเติมเต็มมารับ เป็น จึงทำหน้าที่เป็นกริยาที่มีส่วนเติมเต็ม

    แม่ค้า เป็นคำนาม วางอยู่หลังกริยา เป็นสิ่งที่ถูกกระทำ คำว่า แม่ค้า จึงทำหน้าที่เป็นกรรม

    ส้มตำ เป็นคำนาม วางอยู่หลังกรรม คำว่า แม่ค้า จึงทำหน้าที่ขยายกรรมในประโยค(แม่ค้าส้มตำ)


กระเป๋าเงินของฉันวางอยู่บนโต๊ะ

  กระเป๋าเงิน เป็นคำนาม ทำหน้าที่เป็น ประธาน

    ของ เป็นคำบุพบททำหน้าที่เป็น คำเชื่อม บอกความเป็นเจ้าของ

    ฉัน เป็นคำสรรพนามทำหน้าที่เป็น ส่วนขยายประธาน (กระเป๋าของฉัน)

    วางอยู่ เป็นคำกริยา ทำหน้าที่เป็นกริยา

    บน เป็นคำบุพบท ทำหน้าที่เป็นคำเชื่อมบอกสถานที่ (บนโต๊ะ)

    โต๊ะ เป็นคำนาม วางอยู่หลังคำบุพบท คำว่า โต๊ะ จึงทำหน้าที่ขยายกริยา (วางอยู่บนโต๊ะ)


ทั้งพ่อและแม่ของผมมีอาชีพรับราชการ  

    พ่อ แม่ เป็นคำนาม ทำหน้าที่ ประธาน

    ทั้ง...และ เป็นคำสันธาน ทำหน้าที่เชื่อมประโยคในประโยคความรวม

    ของ คำบุพบท ทำหน้าที่เชื่อมคำบอกความเป็นเจ้าของ (ของผม)

    ผม เป็นคำสรรพนาม ทำหน้าที่ขยายประธาน (พ่อแม่ของผม)

    มี เป็นคำกริยาทำหน้าที่เป็นกริยา

    อาชีพ เป็นคำนาม ทำหน้าที่เป็นกรรม

    รับราชการ เป็นคำนาม ทำหน้าที่ขยายกรรม (อาชีพรับราชการ)



เป็นไงบ้างคะน้อง ๆ พอจะเข้าใจชนิดและหน้าที่ของคำในภาษาไทยขึ้นมาบ้างไหม ก่อนลาจากกันวันนี้ พี่ขอบอกว่า การเรียนรู้และเข้าใจเรื่องชนิดและ หน้าที่ของคำในภาษาไทย จะช่วยให้น้อง ๆสามารถนำคำไปใช้ได้อย่างถูกต้องทั้งการพูดและการเขียน ซึ่งตรงนี้นอกจากจะช่วยให้น้อง ๆสามารถสื่อสารได้ตรงตามความต้องการแล้ว การใช้คำได้ถูกต้อง ยังเป็นหน้าที่ที่สำคัญของคนไทยทุกคน เพราะนี่คือการรักษาวัฒนธรรมด้านการใช้ภาษาไทยของเราให้คงอยู่ต่อไปก่อนที่ภาษาของเราจะต้องสูญพันธุ์ไปเหมือนกับอีกหลาย ๆภาษาในโลกใบนี้ค่ะ

ที่มาข้อมูล

  • https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/34280
  • https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/31456