ที่มาสุภาษิตสำนวนไทยและคำพังเพย
26818 views | 30/12/2021
Copy link to clipboard
Arrietty .
Content Creator

การใช้ภาษาของคนเรานั้นนอกจากจะมีการใช้คำที่สื่อความหมายตรงตัวแล้ว ยังมีสิ่งที่น่าสนใจอย่างมากนั่นก็คือการใช้ “สำนวน” ถ้อยคำที่สื่อความหมาย อธิบายเหตุการณ์หรือสาระสำคัญได้ด้วยประโยคสั้น ๆ สำนวน หมายถึง คำ หรือ กลุ่มคำที่มีความหมายไม่ตรงตัว แต่จะมีความหมายเชิงอุปมาหรือมีความหมายอื่นแฝงอยู่ ส่วนใหญ่เป็นคำพูดที่สืบต่อกันมา และเป็นที่เข้าใจกันของคนในสังคม คำหรือกลุ่มคำบางคำในภาษาไทยอาจนำมาใช้ได้ทั้งความหมายโดยตรงและความหมายเชิงสำนวน เช่น


  เก้าอี้

  • เก้าอี้ ความหมายโดยตรง คือ อุปกรณ์สำหรับนั่ง
  • เก้าอี้ สํานวนไทย ความหมาย แฝงหมายถึง ตำแหน่ง เช่น “เจ้านายเราถูกเลื่อยขาเก้าอี้เรียบร้อยแล้ว” หมายถึง ถูกแย่งหรือถูกปลดให้ออกจากตำแหน่ง 

  ก้มหัว

  • ก้มหัว ความหมายโดยตรง คือ ก้มศีรษะ หรือโน้มศีรษะให้ต่ำลงเพื่อแสดงความเคารพ หรือเพื่อลอดให้พ้นสิ่งกีดขวาง
  • ก้มหัว สํานวนไทย ความหมาย แฝงหรือความหมายเชิง สำนวน หมายถึง ยอมอ่อนน้อม ส่วนใหญ่ใช้ในเชิงปฏิเสธ เช่น “อย่าหวังว่าฉันจะก้มหัวให้ใคร”



   สำนวน ยังหมายถึงถ้อยคำหรือกลุ่มคำที่กะทัดรัด คมคายกินใจ มีทั้งคำเก่าแก่ดั้งเดิมที่สะท้อนวิถีชีวิตยุคก่อน เช่น ฝนตกไม่ทั่วฟ้า น้ำซึมบ่อทราย กระต่ายตื่นตูม ดีดลูกคิดรางแก้ว ฆ้องปากแตก กระดี่ได้น้ำ หรือคำเกิดใหม่ตามยุคสมัย เช่น ใจบาง ยืนหนึ่ง แกง ฟาด ปั๊วะ ปัง ฟาดแข้ง ลูกหนัง ฯลฯ


นอกจากนี้ สำนวนไทย ยังหมายความรวมถึงสุภาษิตและคำพังเพยด้วย


สุภาษิต หมายถึง ถ้อยคำหรือคำพูดที่กล่าวเปรียบเปรยในเชิงสั่งสอน แนะนำ บอกกล่าว หรือห้ามปราม มักเป็นคำพูดหรือคำกล่าวที่สืบต่อกันมาตั้งแต่โบราณ ข้อสังเกตของคำสุภาษิต ก็คือจะมีคำที่แสดงว่าเป็นการ บอก แนะนำ สั่งสอนหรือห้ามปราม เช่น มีคำว่า ให้ หรือ อย่า อยู่ในข้อความด้วย เช่น


รักวัวให้ผูกรักลูกให้ตี, รักยาวให้บั่นรักสั้นให้ต่อ ,น้ำเชี่ยวอย่าขวางเรือ, คบคนให้ดูหน้าซื้อผ้าให้ดูเนื้อ,นอนสูงให้นอนคว่ำ นอนต่ำให้นอนหงาย,ความในอย่านำออก ความนอกอย่านำเข้า, อย่าใฝ่สูงให้เกินศักดิ์ หรือเป็นเชิงการบอกกล่าวทั่วไป เช่น ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง, รู้ไว้ใช่ว่าใส่บ่าแบกหาม ปลูกเรือนตามใจผู้อยู่ ผูกอู่ตามใจผู้นอน, พูดไปสองไพเบี้ย นิ่งเสียตำลึงทอง, สิบปากว่า ไม่เท่าตาเห็น, พูดดีเป็นศรีแก่ตัว พูดชั่วอัปราชัย, น้ำขุ่นไว้ใน น้ำใสไว้นอก ฯลฯ


คำพังเพย คือ คำพูดหรือถ้อยคำที่กล่าวขึ้นมาลอย ๆ เป็นการเปรียบเทียบหรืออุปมาอุปไมยเฉย ๆ ไม่ได้บอกว่าดีหรือไม่ดี ควรทำหรือไม่ควรทำ มักเป็นคำพูดหรือคำกล่าวที่สืบต่อกันมานานเช่นเดียวกับสุภาษิต ตัวอย่างเช่น

  

ขี่ช้างจับตั๊กแตน ใช้พูดเปรียบเปรยกับผู้ที่ลงทุนมากแต่ได้ผลตอบแทนน้อย

สีซอให้ควายฟัง ใช้พูดเปรียบเปรยกับการแนะนำหรือสั่งสอนคนปัญญาทึบ มักไม่มีประโยชน์หรือเสียเวลาเปล่า

ดินพอกหางหมู ใช้พูดกับคนที่ทิ้งงานไว้จนคั่งค้างพอกพูนขึ้นทุกที เช่น “การบ้านไม่ทำ ทิ้งไว้เป็นดินพอกหางหมู”



ลักษณะการใช้ภาษาของสุภาษิต คำพังเพย มักมีลักษณะเป็นโวหารและมีลักษณะต่าง ๆ คือ

  • เสียงสัมผัสคล้องจองกัน เช่น น้ำท่วมทุ่ง ผักบุ้งโหรงเหรง, ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง, ดูช้างให้ดูหาง ดูนางให้ดูแม่, ช้า ๆ ได้พร้าเล่มงาม, ความวัวไม่ทันหาย ความควายเข้ามาแทรก, ซื่อกินไม่หมด คดกินไม่นาน, สี่เท้ายังรู้พลาด นักปราชญ์ยังรู้พลั้ง, รำไม่ดี โทษปี่โทษกลอง
  • มีลักษณะเป็นกลุ่มคำ เช่น ฝนตกขี้หมูไหล, กินบนเรือนขี้รดบนหลังคา, ปิดทองหลังพระ
  • การซ้ำคำ เช่น ไก่เห็นตีนงู งูเห็นนมไก่, เห็นช้างขี้ ขี้ตามช้าง


ที่มาของ สำนวนไทย 

คนไทยเป็นชนชาติที่ช่างสังเกต เห็นได้จากการคิดคำสำนวนที่มีที่มาจากการสังเกตสิ่งต่าง ๆ เช่น ธรรมชาติของสัตว์ ของสภาพลมฟ้าอากาศ หรือนำเอาพฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวันของคน วัฒนธรรมทางสังคม ศาสนา ความเชื่อ ศิลปะ ภาษา วรรณคดี ตำนาน นิทาน ประวัติศาสตร์ โดยนำสิ่งที่สังเกตเห็นหรือปรากฏการณ์ต่าง ๆ เหล่านี้มากล่าวเป็นทำนองให้ข้อคิด คติเตือนใจหรือเพื่อกล่าวเปรียบเปรยลอย ๆ เช่น 


  - น้ำซึมบ่อทราย มาจากธรรมชาติของน้ำที่ค่อย ๆ ซึมออกมาจากบ่อทราย ใช้พูดกับการหาเงินหรือหารายได้ที่ได้เรื่อย ๆ ถึงแม้จะได้ไม่มาก แต่ก็ได้อยู่เป็นประจำ ไม่ขาดระยะ เปรียบได้ดังน้ำที่ไหลซึมออกมาจากบ่อทราย ตัวอย่างเช่น ไบรท์ทำขนมไทยวางขายหน้าบ้าน ทำให้มีรายได้อยู่เรื่อย ๆ ไม่เคยขาด เหมือนน้ำซึมบ่อทราย เป็นต้น



  - ไก่โห่ ไก่เป็นสัตว์ตื่นเช้า ตื่นขึ้นมาพร้อมเสียงขันเอ้กอีเอ้เอ้ก ผู้ที่ตื่นตั้งแต่เช้ามืด หรือผู้ที่มาก่อนเวลานัดจึงมักถูกเปรียบเทียบว่ามาตั้งแต่ไก่โห่


  - ปลาหมอตายเพราะปาก เป็น สำนวน หมายถึง คนที่พูดพล่อย ไม่ระวังปาก จนเผลอพูดสิ่งที่ไม่เหมาะสมออกมาจนได้รับอันตราย หรือ คนที่พูดจาไม่ระวังจนนำอันตรายหรือความลำบากมาสู่ตนเอง มีที่มาจากปลาหมอที่ต้องขึ้นมาหายใจที่ผิวน้ำ ทำให้ตัวเองได้รับอันตรายหรือถูกจับได้ เช่น “วินคุยโวว่าเพิ่งไปกดเงินหลายหมื่นบาทที่ลูกส่งมาให้จากต่างประเทศ ตกเย็นขณะกลับบ้านมีโจรสวมไอ้โม่งดักจี้เงินกลางทางขัดขืนถูกทำร้ายบาดเจ็บสาหัส เฮ้อ ปลาหมอตายเพราะปากแท้ ๆ ” 

 

  - เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน คำว่า “เบี้ย” หมายถึงหอยกาบเดี่ยวชนิดหนึ่ง สมัยก่อนใช้เปลือกหอยเบี้ยเป็นเงินตราแลกเปลี่ยน เบี้ยในสมัยต้นรัตนโกสินทร์ มีอัตรา 100 เบี้ย เป็น 1 อัฐ เบี้ยมีราคาต่ำ คล้าย ๆ เหรียญสลึงในปัจจุบัน ดังนั้น เมื่อตกอยู่ตามใต้ถุนร้านหรือแผงลอยก็ไม่มีใครสนใจเก็บ ซึ่งหากใครเก็บ แม้เบี้ยจะมีค่าไม่มากแต่หากเก็บไว้เยอะ ๆ ก็มีค่าที่สูงได้ “เก็บเบี้ยใต้ถุนร้าน” จึงเป็นคำที่ใช้เปรียบเปรยการเก็บหอมรอมริบว่า เริ่มจากเงินจำนวนน้อย ๆ ก่อน แล้วจะค่อย ๆ เพิ่มพูนไปทีละน้อยจนมีจำนวนมากขึ้นนั่นเอง


  - ฝนตกไม่ทั่วฟ้า หมายถึง การให้หรือแจกจ่ายสิ่งของที่มีผู้นำมาให้ แต่ได้รับกันไม่ทั่วถึงทุกคน ที่มาของสำนวนนี้ มาจากฝนที่ตกลงมาเฉพาะบางพื้นที่ ตัวอย่างการใช้ เช่น ครูนำของที่ทางจังหวัดบริจาคมาแจกให้นักเรียน แต่เนื่องจากจำนวนนักเรียนมีมาก ทำให้ได้รับของไม่ทั่วถึงกัน ผู้ปกครองบางคนถึงกับโวยวายว่าฝนตกไม่ทั่วฟ้า



  - ขนทรายเข้าวัด ในอดีตคนกับวัดใกล้ชิดกันมาก ชาวบ้านกับวัดพึ่งพาอาศัยกันเป็นเรื่องปกติ เช่น เวลาวัดมีการก่อสร้างโบสถ์ วิหาร พระก็จะขอแรงชาวบ้านที่ยังหนุ่มและสาวช่วยกันขนทรายมากองไว้ในวัดโดยเฉพาะช่วงเทศกาลสงกรานต์ เนื่องจากเป็นวันที่ชาวบ้านว่างจากการงาน และเป็นหน้าแล้งน้ำในแม่น้ำลำคลองตื้นเขินสามารถนำทรายขึ้นฝั่งได้ง่าย ประเพณีขนทรายเข้าวัดบางท้องถิ่นก็สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน สำนวน ขนทรายเข้าวัด จึงหมายถึง การทำประโยชน์ให้กับส่วนรวมนั่นเอง


  - ชักแม่น้ำทั้งห้า มีความหมายสื่อถึงการพูดที่พยายามยกเหตุผลต่าง ๆ มาหว่านล้อมให้ผู้ฟังเชื่อหรือคล้อยตาม มีที่มาจากวรรณคดีมหาเวสสันดรชาดก ตอนที่ชูชกกล่าวชมพระเวสสันดรว่ามีใจกว้างดั่งแม่น้ำสายใหญ่ทั้งห้าสาย


จะเห็นได้ว่าสำนวนต่าง ๆ ล้วนมีที่มาจากหลายแหล่งทั้งจาก ธรรมชาติ พฤติกรรมการดำเนินชีวิตประจำวัน วัฒนธรรมทางสังคม ศาสนา ความเชื่อ ศิลปะ ภาษา วรรณคดี ตำนาน นิทาน ประวัติศาสตร์ ดังที่กล่าวแล้ว แต่ยังมีสำนวนอีกจำนวนหนึ่งที่แปลความหมายมาจากสำนวนต่างประเทศ เช่น


  - แกะดำ Black sheep หมายถึง ไม่เข้าพวก ทำอะไรแปลกไม่เหมือนคนอื่น 

  - จุดยืน Standpoint หมายถึง ทรรศนะ ความคิดเห็น หรือสิ่งที่ตนเองยึดถือ ยึดมั่น

  - เส้นตาย Deadline หมายถึง หมดเวลา หรือวันเวลาที่กำหนดไว้สุดท้าย



การเรียนรู้เรื่องสุภาษิต คำพังเพย และสำนวนต่าง ๆ มีประโยชน์ให้เราสามารถนำไปใช้พูด เขียนหรือสื่อสารได้ถูกต้องตรงตามสถานการณ์ นอกจากนั้นยังเป็นการสืบทอดวัฒนธรรมการใช้ภาษาของชาติเอาไว้มิให้สูญหาย ดังนั้น เรามาเรียนรู้และฝึกฝนการใช้ สำนวนไทย ให้ถูกต้องกันเถอะ


ที่มาข้อมูล

  • https://www.trueplookpanya.com/learning/detail/1245