ข้อดีการวางแผนการเรียน เตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ
1671 views | 26/04/2023
Copy link to clipboard
pan peechaya
Content Creator

          ก้าวสู่ ม.ปลาย เป็นอีกขั้นที่สำคัญมาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ต้องเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัยอย่างจริงจัง ควรวางแผนการเตรียมตัวให้พร้อมไว้ตั้งแต่เนิ่น ๆ ยิ่งเร็วยิ่งดี สำหรับ ม.ปลาย ตอนนี้ ไม่ว่าจะอยู่ชั้น ม. 4, ม. 5 หรือ ม. 6 เตรียมตัวตอนนี้ก็ยังไม่สาย มาดูกันว่า ทำไมต้องวางแผนการเรียน การเข้ามหาวิทยาลัยตั้งแต่วันนี้ และวางแผนอย่างไรบ้าง




ข้อดีการวางแผนการเรียน เตรียมตัวให้พร้อมอยู่เสมอ


1. มีเวลาเตรียมความพร้อมในการเรียน

2. ได้รู้เนื้อหาที่ต้องเรียนล่วงหน้าว่าต้องเจอกับอะไรบ้าง

3. จัดสรรเวลาได้เป็นระบบระเบียบ ไม่ยุ่งเหยิง

4. รู้ว่าสิ่งไหนควรทำสิ่งไหนควรวางมือ เพื่อเตรียมตัวสำหรับการเรียน และการสอบเข้ามหาวิทยาลัย

5. มีเป้าหมายที่ชัดเจน รู้ว่าตัวเองต้องการอะไรแล้วต้องทำสิ่งใดต่อไป

6. โอกาสสอบติดเข้าสาขา-คณะ-มหาวิทยาลัยที่ต้องการมีมากขึ้น

7. สามารถแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา เพราะมีการวางแผนที่ดีไว้แล้ว

8. มีวินัยในตัวเอง เช่น วินัยในการอ่านหนังสือ ทำเกรด ทำการบ้าน เป็นต้น


วางแผนการเตรียมตัวเข้ามหาวิทยาลัย


เกรดเทอมที่ผ่านมาดีหรือยัง ตั้งเป้าเกรดเฉลี่ยที่อยากได้

          “เกรด” เป็นส่วนสำคัญในการยื่นสมัครเรียนต่อมหาวิทยาลัย ซึ่งก็เป็นส่วนหนึ่งที่แสดงถึงความรู้ความเข้าใจและความเอาใจใส่ของน้อง ๆ ดังนั้นก็ต้องถามตัวเองว่าเทอมที่ผ่านมาเกรดดีหรือยัง ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่ ควรฟิตเพิ่มแค่ไหนเพื่อทำเกรดให้ดีขึ้นและได้ตามเกณฑ์ของคณะหรือมหาวิทยาลัยที่ต้องการยื่นสมัครเรียนต่อ 

          ถ้าน้อง ๆ คนไหนรู้แล้วว่าเกรดยังไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ก็ให้วางแผนการเรียนการสอบและขยันให้มากขึ้น เกรดไม่ถึงอาจโดนตัดสิทธิ์ ไปง่าย ๆ เชียวล่ะ แม้ 0.1 ก็เถอะ ส่วนน้อง ๆ คนไหนที่รู้ว่าเกรดน่าจะไม่มีปัญหาก็อย่าชะล่าใจนะครับ เพราะคนเก่งมีเยอะแยะ ถ้าเราประมาท ขี้เกียจ ปล่อยปละละเลย ปล่อยเนื้อปล่อยตัวตามอำเภอใจในช่วงสำคัญแบบนี้อาจพลาดโดยไม่รู้ตัวนะ


คณะเป้าหมายต้องชัดเจน !

          สิ่งที่ละเลยไม่ได้อย่างหนึ่งในเวลาสำคัญแบบนี้ก็คือ “คณะอยากเข้า” ซึ่งแต่ละคนต้องมีเป้าหมายชัดเจนว่าจะไปทางไหน สาขาอะไร จะได้เตรียมตัวอ่านหนังสือ สมัครสอบ และมุ่งมั่นในทางนั้นกันตั้งแต่เนิ่น ๆ จะได้ไม่พลาดคณะที่ใช่ แต่ถ้าน้อง ๆ คนไหนไม่มีเป้าหมายชัดเจนพี่คิดว่าคงยุ่งยากลำบากแน่ ๆ เพราะไม่รู้ว่าต้องทำอะไร เดินต่อไปทางไหน ควรให้ความสำคัญกับเรื่องไหนพิเศษ ช่วงเวลานี้ เป็นโอกาสดีที่น้อง ๆ จะได้ถามตัวเองและเลือกคณะที่อยากเรียนต่อให้ชัดเจนกันไปเลย ส่วนน้อง ๆ คนไหนมีคณะเป้าหมายชัดเจนแล้วก็เตรียมพร้อมสิ่งอื่น ๆ ต่อไปได้เลย


ค่ายค้นหาตัวเอง

          เป็นกิจกรรมหนึ่งที่ทำให้น้อง ๆ ได้รู้ตัวเองมากขึ้นว่าคณะที่เลือกสาขาที่หมายตาไว้ จริง ๆ แล้วใช่สำหรับตัวเองหรือเปล่า ถ้าคนไหนใช่ก็ดีเลยที่จะได้รู้และสัมผัสบรรยากาศการเรียน สังคม ความคิด ทัศนคติ รวมถึงสิ่งแวดล้อมรอบตัวของที่ที่จะเรียนก่อนใคร ส่วนคนที่พบคำตอบว่า “ไม่ใช่” ก็จะได้กลับมาถามใจตัวเองและหาคำตอบให้เจอว่าจริง ๆ แล้วเราชอบอะไรกันแน่ เห็นไหมล่ะว่าการเข้าค่ายมีอะไรแฝงไว้เยอะแยะเลยล่ะ น้อง ๆ คนไหนอยากเข้าค่ายก็หาข้อมูลกันได้เลย ช่วงมีนาคม เมษายน ค่ายของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เปิดรับสมัครเยอะมาก ขอบอก !!


เตรียมรวบรวมผลงานทำ Portfolio

          Portfolio หรือแฟ้มสะสมผลงาน เป็นสิ่งสำคัญ ใช้ยื่น TCAS รอบที่ 1 และประกอบการพิจารณาในการสัมภาษณ์รอบอื่น ๆ ด้วย ซึ่งกรรมการสอบสัมภาษณ์ก็จะดูว่าน้อง ๆ มีคุณสมบัติครบถ้วนหรือเปล่า ทั้งความรู้และความสามารถพิเศษด้านต่าง ๆ อยากให้น้อง ๆ เตรียมรวบรวมผลงานทำ Portfolio ให้พร้อมไว้เลย จะได้มีเวลาจัดเรียงเอกสารให้เป็นระบบ ดูดี มัดใจกรรมการแบบไม่ต้องกังวล ไม่ว่าประวัติส่วนตัว ใบแสดงผลการเรียน เกียรติบัตร ภาพถ่ายกิจกรรม หนังสือทางราชการ ฯลฯ และในช่วงปิดเทอมมีกิจกรรมมากมายที่เปิดให้น้อง ๆ ได้เข้าไปหาประสบการณ์ ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นเรานำมาใส่ใน Portfolio ได้


แบ่งเวลา เรียน กิจกรรม

          เชื่อว่าน้อง ๆ หลายคนที่เป็นเด็กกิจกรรม ทำกิจกรรมกันมาเยอะแยะเลยทีเดียว เรียกได้ว่างานราษฎร์งานหลวงมีที่ไหนไม่เคยขาด ไม่เคยปฏิเสธ หากเราขึ้น ม. 6 แล้วอยากให้น้อง ๆ วางมือจากกิจกรรมไปเตรียมตัวสอบดีกว่า คายตะขาบให้น้อง ๆ ม. 4 ม. 5 เค้าไปทำกิจกรรมเถอะ ถ้าเรามัวทำกิจกรรมอย่างที่แล้วมาคงไม่ดีแน่ ๆ โดยเฉพาะเรื่องเวลาซึ่งดูแล้วว่ายุ่งเหยิงไม่เป็นระบบแน่ ๆ ไหนจะทำกิจกรรมหามรุ่งหามค่ำ ไหนต้องอ่านหนังสือ-ทำการบ้านให้ทันเวลาอีก เปอร์เซ็นต์ที่ปัญหาจะตามมาก็มากเลยล่ะ เอาเป็นว่าน้อง ๆ ต้องคิดให้ได้ว่าอะไรสำคัญกับอนาคตเรากว่ากัน พี่เชื่อว่าคำตอบนั้นน้อง ๆ คงรู้กันดีอยู่แล้ว


คอร์สเรียนปิดเทอม เก็บเนื้อหา ม. 4 – ม. 6

          ช่วงปิดเทอม หากใครอยากลงคอร์สเรียนพิเศษ ให้เน้นเก็บเนื้อหา ม. 4 – ม. 6 และวิชาที่จะต้องใช้สอบ อย่างเช่น คณิต วิทย์ เพราะเป็นเนื้อหาที่ค่อนข้างยาก หรือใครไม่ได้ลงเรียนพิเศษก็ควรอ่านหนังสือเก็บเนื้อหาล่วงหน้าให้หมด ให้พร้อมก่อนใครเลย จะได้รู้ว่าต้องเรียนต้องเจอเนื้อหาอะไรบ้าง ยาก-ง่ายแค่ไหน เรื่องไหนต้องเตรียมเป็นพิเศษ ถ้าหากเก็บเนื้อหาให้หมดตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็ดีเลยล่ะ พอเปิดเทอมเราจะได้เรียนรู้ได้เร็วกว่าคนอื่น และจะได้เอาเวลาหลังจากนั้นไปติวสอบ เอาเป็นว่าเตรียมตัวเองให้พร้อมตลอดเวลาเพื่อจะได้ลุยกันแบบเต็มร้อยกันไปเลย


ศึกษาระบบ TCAS

          เชื่อว่าหลายคนยังไม่เข้าใจ การรับในระบบ TCAS มีกี่รอบ อะไรบ้าง รีบศึกษาไว้เลย จะได้ไม่พลาด

- รอบที่ 1 Portfolio เป็นการรับที่ใช้แฟ้มสะสมผลงานในการยื่น ไม่มีการสอบ สมัครผ่านมหาวิทยาลัย

- รอบที่ 2 โควตาแบบมีสอบ อาจจะมีการใช้คะแนนบ้าง ข้อสอบกลาง TGAT, TPAT, A-LEVEL หรือมหาวิทยาลัยเปิดสอบเอง สมัครผ่านมหาวิทยาลัย

- รอบที่ 3 Admission คะแนนที่ใช้ในรอบนี้คือ TGAT, TPAT, A-LEVEL สมัครผ่านระบบกลางของ ทปอ. My TCAS

- รอบที่ 4 เก็บตกรอบสุดท้าย หากมีที่นั่งเหลือว่างอยู่ แต่ละสถาบันจะเปิดสมัครเอง 


ตั้งเป้าคะแนน

          เช็คสถิติคะแนน คณะที่อยากเข้า มาตั้งเป็นมาตรฐานให้ตัวเองไว้ จะได้รู้ว่าเราต้องทำคะแนนสอบแต่วิชาเท่าไหร่ ถึงมีโอกาสได้เข้าเรียนคณะที่ใฝ่ฝัน ในมหาวิทยาลัยที่ต้องการ


เตรียมค่าใช้จ่าย

          ถ้าจะพูดว่า “การศึกษาคือการลงทุน” ก็คงไม่ผิด นอกจากความรู้แล้ว เรื่องเงิน ๆ ทอง ๆ ก็ต้องเตรียมให้พร้อมไว้เลย เพราะน้อง ๆ ต้องใช้จ่ายค่าสอบวิชาต่าง ๆ ค่าสมัคร TCAS รอบต่าง ๆ อาจจะรวมถึงค่าเดินทาง ค่าที่พัก ซึ่งดู ๆ แล้วเยอะแยะเลยล่ะ ถ้าเตรียมไว้ไม่ดี ไม่พร้อม ปัญหาก็ตามมาให้ปวดหัวเข้าอีก ต้องเริ่มเก็บออม ใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น ไม่ฟุ่มเฟือย จะได้มีเงินเหลือเก็บและเอาไปใช้จ่ายค่าสมัครสอบและที่เกี่ยวข้อง ไม่ต้องขอจากที่บ้านเยอะเกินไป